ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.มติชน : Hitap ประเมินความคุ้มค่าตรวจยีนหลีกเลี่ยงการเกิดผื่นแพ้ยาชนิดรุนแรงในกลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน และ Toxic epidermal necrolysis จากยาคาร์บามาซีปีน ชี้หากป้องกันด้วยการตรวจยีนจะช่วยลดความเสี่ยงและความทุกข์ทรมานกับผู้ป่วยได้ เสนอเพิ่มสิทธิประโยชน์บัตรทอง เบื้องต้นผ่านการพิจารณาของ อนุ กก.สิทธิประโยชน์แล้ว เหลือเสนอต่อ อนุ กก.การเงินการคลัง เพื่อนำเข้าสู่บอร์ด สปสช.ต่อไป ขณะที่ไต้หวันบรรจุอยู่ในชุดสิทธิประโยชนืแล้ว

นสพ.มติชน : เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือไฮแทป (Hitap) และ ภญ.วรัญญา รัตนวิภาพงษ์ นักวิจัยไฮแทป ร่วมแถลงข่าว "โครงการเมธีวิจัยอาวุโส เชื่อมงานวิจัยสู่นโยบาย"

นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์

นพ.ยศ แถลงว่า ได้ประเมินความคุ้มค่าทางการแพทย์ของการให้บริการตรวจยีน HLA-B*1502 (เอชแอลเอ บี 1502) เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผื่นแพ้ยาชนิดรุนแรงในกลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน (StevensJohnson syndrome: SJS) และ Toxic epidermal necrolysis (TEN) จากยาคาร์บามาซีปีน (Carbamazepine) เนื่องจากพบว่ายีน HLA-B*1502 มีโอกาสพบมากในผู้ป่วยโรคลมชักและภาวะปวดปลายประสาท (Neuropathic pain)

"ที่ผ่านมาผู้ป่วยที่มีอาการผื่นแพ้ในกลุ่มนี้ทุกข์ทรมานมาก หากหาทางป้องกันด้วยการตรวจยีนได้ก็จะช่วยได้อีกทางหนึ่ง ทีมวิจัยจึงเสนอสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้เพิ่มเข้าสู่สิทธิประโยชน์ เบื้องต้นคณะอนุกรรมการสิทธิประโยชน์ของคณะกรรมการ สปสช. พิจารณาว่าควรมีการเพิ่มสิทธิดังกล่าว แต่ต้องเฉพาะผู้ป่วย 2 กลุ่มที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัยว่าจำเป็นต้องตรวจ และจะมีการเสนอต่อคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง บอร์ด สปสช.ต่อไป" นพ.ยศกล่าว

ภญ.วรัญญา รัตนวิภาพงษ์

ภญ.วรัญญาแถลงว่า การตรวจยีนกำลังเป็นที่สนใจในวงการสาธารณสุข เพราะสามารถประเมินความเสี่ยงในการเกิดผื่นแพ้ยาของผู้ป่วยแต่ละคนได้ และว่า ยีนดังกล่าวพบมากในคนเอเชีย หากคนที่มียีนชนิดนี้กินยาคาร์บามาซีปีนจะมีโอกาสขึ้นผื่นแพ้มากกว่า 55 เท่า ดังนั้น หากตรวจยีนนี้ได้ก็มีโอกาสลดการเกิดผื่นแพ้ ขณะนี้ในไต้หวันประกาศให้มีการตรวจยีนชนิดนี้ในชุดสิทธิประโยชน์แล้ว

"ที่ผ่านมาสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 9 แห่ง และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง ได้พัฒนาวิธีการตรวจและเปิดให้บริการตรวจทางด้านเภสัชพันธุศาสตร์ รวมทั้งการตรวจคัดกรองยีนดังกล่าว จากการประมาณการมีผู้ป่วยใหม่ที่จะได้รับยาคาร์บามาซีปีน 14,183-55,314 คนต่อปี และในกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็เปิดบริการตรวจดังกล่าวเช่นกัน" ภญ.วรัญญากล่าว

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 14 สิงหาคม 2558