ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงพยาบาลป่าตอง จ.ภูเก็ต เป็นโรงพยาบาลภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้มีการผลักดันในสมัย นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ออกนอกระบบเช่นเดียวกับโรงพยาบาลบ้านแพ้ว แต่หลังใช้เวลากว่า 10 เดือน เร่งรัดดำเนินการ นอกจากจะไม่สามารถทำให้เป็นโรงพยาบาลออกนอกระบบแห่งที่ 2 ของประเทศแล้ว แต่ยังกลับสร้างแรงกดดันจนทำให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลป่าตองขณะนั้นต้องลาออกในที่สุด

นพ.ทวีศักดิ์ เนตรวงศ์

นพ.ทวีศักดิ์ เนตรวงศ์ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลป่าตอง ผู้ดำเนินการเพื่อให้โรงพยาบาลออกนอกระบบขณะนั้น เล่าที่มาที่ไปของการเริ่มต้นผลักดันว่า แนวคิดนี้เกิดจากสถานการณ์ปัญหาภาระงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลของประเทศที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและจะมีแนวโน้มว่าจะปัญหาในอนาคต ทางฝ่ายนโยบาย โดย นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ จึงได้หาแนวทางเพื่อทำให้โรงพยาบาลรัฐ โดยเฉพาะโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่มีอยู่จำนวนมาก สามารถดำเนินงานต่อไปและต้องควบคู่การพัฒนาคุณภาพบริการที่ดีขึ้น ซึ่งมีการนำเสนอแนวทางการปฏิรูประบบหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการออกนอกระบบโดยเป็น “โรงพยาบาลองค์การมหาชน” และการดำเนินการให้เป็น “หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ (Service Delivery Unit : SDU) ที่ยังไม่มีโรงพยาบาลใดทำสำเร็จ โดยในท้ายที่สุดจึงสรุปกันที่รูปแบบโรงพยาบาลองค์การมหาชน เนื่องจากมีโรงพยาบาลบ้านแพ้วเป็นต้นแบบและทำสำเร็จมาแล้ว

หลังจากนั้น นพ.มงคล จึงได้ผลักดันเรื่องนี้เข้าเป็นนโยบายกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยได้มีการเชิญผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกระดับในสังกัด ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน กว่า 70 แห่งมาเข้าร่วมประชุม และรับแนวนโยบายไปเพื่อดูว่า มีโรงพยาบาลใดที่มีความพร้อมและสามารถดำเนินการออกนอนระบบได้หรือไม่ ซึ่งผู้บริหารโรงพยาบาลแต่ละแห่งต้องกลับไปพูดคุยกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดถึงทิศทางนี้ และในส่วนของโรงพยาบาลป่าตองก็ได้ดำเนินการเช่นกัน

“เรื่องนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโรงพยาบาลหากทำสำเร็จ แต่แน่นอนย่อมส่งผลกระทบผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกับกลุ่มเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่เป็นข้าราชการที่กังวลต่อผลกระทบความมั่นคงในวิชาชีพที่ต้องทำความเข้าใจ”

นพ.ทวีศักดิ์ กล่าวและว่า แต่ขณะเดียวกันทราบภายหลังว่า ในส่วนของผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเองยังมีความขัดแย้งต่อนโยบายนี้ โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้นไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูประบบ จึงได้ส่งสัญญาณไปยังพื้นที่ ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งถอนตัวจนเหลือเพียง 7 แห่งเท่านั้น ซึ่งต่อมาได้มีการขับเคลื่อนไปอีกระยะหนึ่ง ปรากฎว่าทุกโรงพยาบาลต่างถอนตัวเหลือเพียงโรงพยาบาลป่าตองที่ยังเดินหน้า โดย รมว.สาธารณสุข ได้มอบให้ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้ร เป็นผู้ดูแลโครงการ โดยมีการประสานให้โรงพยาบาลบ้านแพ้วเป็นพี้เลี้ยงเพื่อให้คำแนะนำ 

นพ.ทวีศักดิ์ กล่าวว่า ต่อจากนั้นเพื่อให้โรงพยาบาลป่าตองเป็นโรงพยาบาลนอกระบบจึงได้มีการเดินหน้าต่อเนื่อง ไม่ว่าจะกำหนดแผนการปฏิรูป การรับคำแนะนำและการดูงานที่โรงพยาบาลบ้านแพ้ว และที่สำคัญคือการทำความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล โดยในส่วนของเจ้าหน้าที่ซึ่งยังไม่บรรจุเป็นข้าราชการความเสี่ยงแทบไม่มีเลย มีแต่ประโยชน์ที่จะได้รับ โดยเฉพาะในแง่ขวัญกำลังใจที่เพิ่มขึ้น แต่กลุ่มเป็นข้าราชการ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่มานาน มีบทบาท และตำแหน่งรับผิดชอบสูงจะกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงมาก ทำให้ขั้นตอนนี้ต้องใช้เวลานานพอควร โดยในโรงพยาบาลจะมีลงคะแนนโหวตความเห็นในทุกเดือนควบคู่กับการให้ข้อมูลและทำความเข้าใจ ซึ่งหลังสุดเสียงโหวตเพื่อสนับสนุนให้โรงพยาบาลออกนอกระบบอยู่ที่ร้อยละ 85 จึงได้เดินหน้าต่อ และได้ “ร่างพระราชกฤษฎีกาโรงพยาบาลป่าตอง” ขึ้น โดยศึกษาจากโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ซึ่งทุกอย่างเรียบร้อยโดยใช้เวลาเพียง 10 เดือนเท่านั้น

ในขั้นตอนนำเสนอ “ร่างพระราชกฤษฎีกาโรงพยาบาลป่าตอง” ต่อกระทรวงสาธารณสุขเพื่อเดินหน้าต่อนั้น นพ.ทวีศักดิ์ กล่าวว่า จากปัญหาที่ผู้บริหารสูงสุดที่มีความเห็นขัดแย้งในเรื่องนี้ โดยเฉพาะในช่วงปลายรัฐบาลสมัย พล.อ.สุรยุทธ์ ทำให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้นมีอำนาจต่อรองสูงขึ้นและบ่ายเบี่ยงไม่ลงนามเพื่อส่งเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่งผลให้เรื่องนี้ล่าช้า จนในท้ายที่สุดทางรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขจึงต้องเป็นผู้ลงนามแทน ทำให้สามารถนำเรื่องเตรียมเสนอเข้า ครม.พิจารณาได้

“เรื่องนี้ต้องบอกว่าการออกนอกระบบของโรงพยาบาลป่าตองตกม้าตายในที่สุด เพราะทราบว่า นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้นไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ จึงไม่นำเรื่องเข้าสู่ ครม.เพื่อพิจารณา แม้ว่าทาง นพ.มงคล จะพยายามพูดคุยทำความเข้าใจแล้ว แต่ก็ยังคงยืนยันคัดค้าน ทำให้หมดวาระรัฐบาลในที่สุด และเรื่องนี้จึงตกไป นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย” อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลป่าตอง กล่าว และว่า ทั้งนี้แม้ว่าหลังการเลือกตั้งและมีการตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว แต่เรื่องนี้ก็ไม่มีใครหยิบยกขึ้นมา จนกระทั่งสมัยรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีการบรรจุเรื่องการผลักดันโรงพยาบาลออกนอกระบบเป็นนโยบายอีกครั้ง แต่ก็มีเพียงแค่นโยบายสนับสนุนเท่านั้น ไม่มีการผลักดันการดำเนินการต่อ เรื่องนี้จึงยังไม่ประสบผลสำเร็จ และปัจจุบันโรงพยาบาลป่าตองก็ยังไม่สามารถเป็นโรงพยาบาลองค์การมหาชนได้

หากพูดถึงโรงพยาบาลออกนอกระบบ นพ.ทวีศักดิ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลป่าตองเป็นโรงพยาบาลที่สมควรออกนอกระบบมากที่สุด เพราะเป็นโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองพิเศษ มีนักท่องเที่ยวและประชากรแฝงในพื้นที่จำนวนมาก ทำให้มีคนไข้เข้ารับบริการ 24 ชั่วโมง แต่ด้วยการเป็นโรงพยาบาลรัฐภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ทำให้ถูกจำกัดเป็นโรงพยาบาลขนาด 60 เตียง จำกัดทั้งงบประมาณ แพทย์ พยาบาล และบุคลากร แถมมีประชากรตามทะเบียนราษฎร์ไม่มาก สวนทางกับจำนวนผู้เข้ารับบริการ ทำให้งบจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงควรได้รับการปฏิรูป นอกจากพึ่งพาตนเอง เพิ่มศักยภาพการบริการ และคงเป็นโรงพยาบาลของรัฐแล้ว ยังถือเป็นหน้าตาของประเทศเพราะมีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงบอกได้ว่าโรงพยาบาลป่าตองเป็นโรงพยาบาลประเทศไทยแห่งแรกๆ ที่ควรออกนอกระบบ

“หากโรงพยาบาลป่าตองได้ออกนอกระบบเป็นโรงพยาบาลองค์การมหาชนเหมือนกับโรงพยาบาลบ้านแพ้ว จะสามารถเพิ่มการบริการและขยายศักยภาพการบริหารจัดการได้ ซึ่งประโยชน์ก็จะตกอยู่กับประชาชน เพราะขนาดโรงพยาบาลบ้านแพ้วตั้งอยู่อำเภอไม่ใหญ่มาก จากเดิมเป็นโรงพยาบาล 30 เตียง แต่วันนี้ขยายเป็น 300 เตียงแล้ว และยังมีการขยายสาขาบริการออกไปยังพื้นที่ต่างๆ และที่สำคัญไม่เป็นภาระงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขเลย” อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลป่าตอง กล่าวและว่า วันนี้หากฝ่ายนโยบายต้องการสานต่อก็สามารถทำได้เลยและทำได้ง่ายมาก เพราะทุกอย่างเราได้วางระบบไว้แล้ว และเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างยิ่ง รวมถึงในส่วนโรงพยาบาลแห่งอื่นๆ แต่คนส่วนใหญ่ไม่สนใจทั้งที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ ไม่ใช่แค่กระทรวงสาธารณสุข แต่การจะให้โรงพยาบาลออกนอกระบบทั้งหมดจะต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป จะทำแบบพลิกผ่ามือคงไม่ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับศักยภาพพื้นที่และผู้บริหารโรงพยาบาล

นพ.ทวีศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า บทเรียนที่ได้รับจากการทำเรื่องนี้ ซึ่งอยากสะท้อนไปยังผู้มีอำนาจเชิงนโยบายว่าควรมีความจริงใจในการผลักดันเต็มที่ แต่ที่ผ่านมาการดำเนินกลับปล่อยให้ข้าราชการระดับผู้อำนวยการโรงพยาบาลผลักดันคนเดียว และเมื่อไม่สำเร็จปัญหาก็ตกกับพื้นที่และผู้ที่ผลักดันจนเกิดผลกระทบแทรกซ้อนมากมายและต้องลาออกในที่สุด