ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หนุน สปสช.เป็นเจ้าภาพตั้งศูนย์กลางดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจกรณีซับซ้อน หลังพบยังมีปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยจาก รพ.สธ.มารักษาที่ ร.ร.แพทย์ เหตุมีผู้ป่วยบางรายต้องรอคิวนาน ยกตัวอย่าง รพ.จุฬาฯ จากเคยผ่าเดือนละ 20 ราย ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 10 ราย ขณะที่แต่ละปีมีผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด 5,000 รายทั่วประเทศ ครึ่งหนึ่งต้องได้รับการผ่าตัด และประมาณ 1,000 ราย เป็นกรณีซับซ้อนต้องผ่าตัดอย่างรวดเร็ว แนะ สปสช.แยกกลุ่มผู้ป่วยเด็กโรคหัวใจพิการเป็นกลุ่มใหม่เพื่อเบิก DRG พร้อมควบคุมคุณภาพ หากมีอัตราเสียชีวิตสูงเกิน ต้องพิจารณาไม่ให้รับผู้ป่วย และสมาคมโรคหัวใจต้องปรับปรุงให้ รพ.นั้นมีคุณภาพจนมั่นใจก่อนจึงจะได้ผ่าตัดอีกครั้ง 

ศ.นพ.วิชัย เบญจชลมาศ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเข้าถึงการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยโรคหัวใจโดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยเด็กที่มีความพิการมาแต่กำเนิดที่มีความซับซ้อนของโรค ที่ต้องรักษาหลากหลายวิธีการนั้น นอกจากจะมีปัญหาความขาดแคลนศัลยแพทย์โรคหัวใจที่จะผ่าตัดให้กับผู้ป่วย ยังมีปัญหาเรื่องการส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เข้ามารับการผ่าตัดในโรงเรียนแพทย์ ทำให้จำนวนผู้ป่วยเด็กแรกเกิดที่เป็นโรคหัวใจชนิดซับซ้อน ที่ส่งต่อมารับการผ่าตัดรักษาที่ รพ.จุฬาลงกรณ์จากเดิมเดือนละประมาณ 20 ราย เหลือไม่ถึง 10 รายต่อเดือน

ศ.นพ.วิชัย กล่าวว่า อีกปัญหาหนึ่งที่พบคือ การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตามระบบการวินิจฉัยกลุ่มโรคร่วม (DRGs) ซึ่งหากเป็นกรณีที่การผ่าตัดมีความซับซ้อน จะต้องแยกการเบิกจ่ายเป็นหลายรายการ บางรายการไม่มีอยู่ในดีอาร์จี ทำให้โรงพยาบาลเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลจาก สปสช.ได้ไม่ครบถ้วน เสี่ยงต่อการขาดทุน ซึ่งหากจะแก้ไขปัญหานี้นั้น สปสช.จะต้องทบทวนอัตราการจ่ายค่ารักษาใหม่ ด้วยการแยกกลุ่มผู้ป่วยเด็กโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดออกมาเป็นกลุ่มใหม่ เพราะหากผ่าตัดแล้วได้รับค่าผ่าตัดน้อยกว่าที่ให้บริการไปจะไม่จูงใจให้โรงพยาบาลผ่าตัดเพื่อรักษา

“หน้าที่ของ สปสช. จะต้องควบคุมคุณภาพการผ่าตัด ด้วยการกำหนดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยเด็กหลังผ่าตัดโรคหัวใจ หากโรงพยาบาลใดผู้ป่วยมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงเกินกว่าอัตราที่ยอมรับได้ ก็พิจารณาไม่ให้รับผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัด และสมาคมโรคหัวใจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องร่วมกันปรับปรุงให้โรงพยาบาลนั้นๆ ให้มีคุณภาพการรักษา จนมั่นใจว่ามีคุณภาพก่อนจะให้ผ่าตัดได้อีกครั้ง”

ศ.นพ.วิชัย กล่าวว่า การผ่าตัดหัวใจในเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี อัตราการรอดชีวิตจะสูงมากกว่าการผ่าตัดในเด็กที่อายุมากกว่านั้น หาก สปสช.ปรับเปลี่ยนอัตราการเบิกจ่ายกรณีการผ่าตัดหัวใจในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีให้มีความเหมาะสมมากขึ้น จะช่วยแก้ปัญหาเด็กได้รับการผ่าตัดล่าช้าได้ นอกจากนี้ต้องปรับระบบการส่งต่อผู้ป่วยโรคหัวใจเด็ก ให้ส่งต่ออย่างมีประสิทธิภาพระหว่างโรงพยาบาลสังกัด สธ.กับโรงเรียนแพทย์ เพราะมีผู้ป่วยบางส่วนต้องใช้เวลารอคิวการผ่าตัดในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขนานมาก

ศ.นพ.วิชัยกล่าวว่า หากเป็นไปได้ สปสช. ควรสนับสนุนให้มีศูนย์กลางในการผ่าตัดโรคหัวใจในกรณีซับซ้อน เพื่อเป็นศูนย์กลางในการส่งต่อและการรักษาผู้ป่วย ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจแต่ไม่ซับซ้อนก็ส่งต่อตามระบบ ทั้งนี้ ในแต่ละปีมีผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ประมาณ 5,000 ราย ทั่วประเทศ ในจำนวนนี้จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดประมาณ 2,500 ราย และในจำนวนนี้มีผู้ป่วยที่เป็นกรณีซับซ้อนประมาณ 1,000 ราย ซึ่งต้องผ่าตัดอย่างรวดเร็ว หากผ่าตัดไม่ทันก็เสี่ยงกับการเสียชีวิต

ศ.นพ.วิชัย กล่าวว่า วิธีการหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหางบประมาณของโรงพยาบาลที่ทำการรักษา คือ ยกเลิกระบบการบริการวงเงินในระดับเขต (Global budget) เนื่องจากมีวงเงินชดเชยการให้บริการของโรงพยาบาลจำกัด หากโรงพยาบาลให้บริการมาก วงเงินที่กันไว้อาจจะไม่เพียงพอ เพราะ สปสช.จะปรับเกลี่ยเงินชดเชยการให้บริการน้อยกว่าที่กำหนดไว้ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ นั่นหมายความว่ายิ่งทำมาก อาจจะยิ่งได้เงินน้อยลง แต่ควรกำหนดเป็นค่ากลางที่หากโรงพยาบาลใดทำมากก็จะได้เงินชดเชยมากตามไปด้วย

“หรือหากจะให้วิธีการจ่ายร่วมแบบการประกันการร่วมจ่าย (Co-Insurance) โดยให้ประชาชนทำประกันสุขภาพกับหน่วยงานอื่น เพื่อเอามาร่วมจ่ายในการรักษาพยาบาลในบางโรคที่จำเป็น ส่วน สปสช.ทำหน้าที่กำหนดค่ากลางในการรักษาพยาบาล แล้วจ่ายตามค่ากลางให้โรงพยาบาล ส่วนค่ารักษาที่เกินจากค่ากลาง ก็ใช้ระบบการประกันการร่วมจ่าย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถไปผ่าตัดหรือรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลใดก็ได้ ที่มีคุณภาพและได้รับการรับรองจาก สปสช. แล้ว โดยไม่ต้องมีระบบการส่งต่อให้ยุ่งยาก โรงพยาบาลใดผ่าตัดได้มากก็ได้รับงบประมาณไปมากตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม การประกันการร่วมจ่ายเป็นเรื่องที่รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องนำไปพิจารณาว่าจะทำอย่างไร” ศ.นพ.วิชัย กล่าว