ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่ "สังคมสูงวัย" เร็วขึ้น เป็นคำพูดที่ได้ยินดังขึ้นมาเรื่อยๆ และจำเป็นต้องมีระบบ "การออม" ที่ยั่งยืนและชัดเจนเพื่อรองรับการดูแลคนวัยเกิน 60 ปีในอนาคต

ตามรายงานภาวะสังคมไตรมาส 2/58 จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่า สัดส่วนผู้สูงวัยต่อจำนวนประชากรทั้งประเทศของไทยในอีก 25 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2583) น่าจะอยู่ที่ 32% เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่มีสัดส่วนที่ 15% และ ปี 2547 อยู่ที่ 7% สะท้อนถึงการขยายตัวที่รวดเร็ว และเป็นภาระทางการคลังในการดูแล เพราะคนกลุ่มนี้จะขาดความมั่นคงด้านรายได้ เนื่องจากเงินออมไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในวัยหลังเกษียณ

ขณะที่แหล่งรายได้จากบุตรหลานก็มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน เพราะอัตราการเกิดและวัยแรงงานได้เริ่มหดตัว

"สมโพชน์ เกียรติไกรวัล" รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารช่องทางการขาย และประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์องค์กร บริษัท โตเกียวมารีน ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เล่าว่า สังคมไทยพูดกันมาหลายปีเรื่องสังคมผู้สูงอายุ แต่ก็พูดกันลอยๆ ไม่ได้ทำอะไรจริงจัง ต่างจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทแม่ (บริษัท โตเกียวมารีน โฮลดิ้งส์) ที่มีระบบและโครงสร้างที่ก้าวหน้ารองรับสังคมผู้สูงอายุ

"ที่ญี่ปุ่นมีทั้งเงินประกันสังคม เงินบำนาญแห่งชาติ เงินสะสมระยะยาว เงินประกันสุขภาพ และระบบประกันสำหรับดูแลระยะยาวหลังวัย 60 ปี (long term care insurance) ที่เป็นประกันภาคบังคับ คนญี่ปุ่นจะมีเงินอย่างน้อยเดือนละ 100,000 เยน (ราว 3 หมื่นบาท) ใช้ในวัยเกษียณ"

ทั้งนี้สาเหตุที่คนญี่ปุ่นให้ความสนใจชีวิตหลังเกษียณมากขึ้น เป็นเพราะปัจจุบันคนญี่ปุ่นมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มเป็น 90 ปี จึงส่งผลให้การทำ "ประกันชีวิต" ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อทิ้งทรัพย์สินให้ลูกหลานนั้น ไม่เป็นที่พูดถึงมากนัก แต่คนญี่ปุ่นกลับกำลังมองหาประกันแบบอื่นๆ ที่ทำให้สามารถใช้ชีวิตยืนยาวที่ยังเหลืออยู่นั้นมีความมั่นคงเพียงพอที่จะสามารถอยู่ต่อไปได้ และเข้าถึงระบบรักษาพยาบาลได้มากขึ้น

สำหรับประเทศไทยคาดว่าภายในเวลาไม่เกิน 5-10 ปีที่จะเป็นเช่นเดียวกับสังคมญี่ปุ่น ดังนั้นโตเกียวมารีน ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จึงเน้นนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันบำนาญ โดยที่ผ่านมาเน้นกลุ่มผู้มีกำลังซื้อ เช่น แพทย์ จนทำให้ปัจจุบันยอดเบี้ย 40% ในเบี้ยรับรวม และกว่า 60% ของบริษัทมาจากลูกค้ากลุ่มนี้ 

โดยข้อมูลล่าสุดใน เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามียอดเบี้ยรับรวมเติบโต 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และช่วงที่เหลือของปีก็น่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากฐานลูกค้าหลักคือกลุ่มผู้มีรายได้สูงนั้น ยังไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจมากนัก และน่าจะทำให้ทั้งปีมีเบี้ยรับรวมตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ราว 4,459 ล้านบาทได้

อย่างไรก็ตาม บริษัทพร้อมรุกทำตลาดกับกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงการซื้อประกันบำนาญ

"แบบประกันบำนาญที่เราทำ บริษัทประกันทั่วไปไม่ชอบทำ เพราะถ้าทำต้องวางเงินสำรองเยอะ แต่เรากลับเห็นว่าควรทำเพราะเรามองเห็นถึงปัญหาในอนาคต ซึ่งเมื่อปีที่แล้วบริษัทแม่ได้เพิ่มทุนให้กว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อทำโปรดักต์นี้"

ที่มา : http://www.prachachat.net