ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.พบคนกรุงเทพฯใช้สิทธิบัตรทองน้อย เหตุเบื่อภาพความแออัด รพ.รัฐ เร่งแก้ปัญหาดึงคลินิกเอกชนเข้าร่วม เปิดบริการหลังเลิกงานเอาใจสไตล์คนกรุง ด้าน กทม.ขยายคลินิกโรคคนเมืองเพิ่ม

นสพ.มติชน : นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี ประธานกลุ่มภารกิจยุทธศาสตร์และการประเมินผล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีการเข้าถึงบริการของผู้มีสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่าจากการสำรวจที่ผ่านมาพบว่า กทม.มีประชากรที่ใช้สิทธิบัตรทองอยู่ 4 ล้านคน แต่กลับพบการเข้าถึงบริการน้อยมาก เมื่อเทียบกับการเข้าถึงบริการในระดับประเทศ ซึ่ง อยู่ที่ 3.1-3.2 ครั้งต่อคนต่อปี แต่ประชากรใน กทม.เข้าถึงบริการอยู่ที่ 1.6 ครั้งต่อคน ต่อปีเท่านั้น โดยสาเหตุอาจมาจากการไม่รู้สิทธิของตนเอง รวมทั้งความไม่สะดวกในการไปใช้บริการ เกิดจากประชาชนติดภาพความแออัดในโรงพยาบาลของรัฐหลายๆ แห่ง ประกอบกับการเดินทางใน กทม.ที่มีการจราจรติดขัด และในเขตเมืองยังมีทางเลือกมากกว่า เช่น การซื้อยาจากร้านขายยา คลินิกเอกชนใกล้บ้าน รวมทั้งไม่มั่นใจในบริการ การแก้ปัญหาจำเป็นต้องมีการเพิ่มหน่วยบริการเพิ่มขึ้น

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษก สปสช. กล่าวว่า สำหรับการเพิ่มหน่วยบริการให้ผู้ป่วยบัตรทองนั้น จะอาศัยความร่วมมือกับคลินิกภาคเอกชน ซึ่งจะดึงคลินิกที่ให้บริการสิทธิผู้ป่วยประกันสังคมอยู่แล้วให้มาช่วยบริการผู้ป่วยบัตรทองด้วย โดยจะกำหนดอัตราการจ่ายเงินที่จูงใจ รวมทั้งการเปิดบริการของคลินิกจะต้องเข้ากับการดำเนินชีวิตของคนกรุงเทพฯ คือ บริการช่วงเย็นหรือหลังเลิกงาน เบื้องต้น สปสช.เขต 13 พื้นที่ กทม. กำลังหารือว่าจะดำเนินการอย่างไร นอกจากนี้จะสื่อสารให้ความรู้กับประชาชนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการบริการมากขึ้นด้วย

ด้านนางวันทนีย์ วัฒนะ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ปัจจุบัน กทม.มีศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง กระจายในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชน อาทิ การคัดกรองโรคเบื้องต้น งานทันตกรรม ให้คำปรึกษาการวางแผนครอบครัว การดูแลสุขภาพจิต เป็นต้น ซึ่งในแต่ละปีมีประชาชนเข้ารับบริการประมาณ 1.5 ล้านคน แต่ในบางเขตยังไม่มีศูนย์บริการสาธารณสุข ดังนั้น จึงต้องมีการขยายเพิ่มเติม ซึ่งล่าสุดสำนัก อนามัย กทม.ได้พัฒนาศูนย์บริการสาธารณสุขในการดูแลประชาชน โดยจัดให้มีคลินิกการดูแลและรักษาโรคคนเมือง โดยเฉพาะโรคอ้วน โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษา ซึ่งจะเป็นทางเลือกให้กับประชาชนมากขึ้น สามารถเข้ามารับบริการได้ทั้งประชาชนที่มีทะเบียนบ้านในพื้นที่และไม่มีคือ ทั้งผู้มีสิทธิในระบบบัตรทอง และกรณีผู้ที่ไม่มีสิทธิ แต่หากไม่สามารถจ่ายได้ ก็ไม่เรียกเก็บ

ที่มา : นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 8 ก.ย. 2558 (กรอบบ่าย)