ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมเวทีประชุมทันตแพทย์โลกครั้งแรกในไทย ลงนามความร่วมมือกับเครือข่ายความร่วมมือนานาชาติเพื่อการปราศจากฟันผุในอนาคต พร้อมประกาศเป้าหมาย เด็กที่เกิดตั้งแต่ปี 2569 หรือประมาณ 10 ปีข้างหน้า เมื่อโตขึ้นต้องปราศจากรูฟันผุตลอดช่วงชีวิต

เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2558 ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการประชุมทันตแพทย์โลก (FDI World Dental Congress) ประจำปี 2558 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร ว่า การประชุมทันตแพทย์โลก ประจำปี 2558 จัดขึ้นเป็นปีที่ 103 ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพปีแรก ภายใต้แนวคิด Dentisty in the 21st century หรือ วิทยาการด้านทันตกรรมในศตวรรษที่ 21 เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนแนวคิดและวิทยาการใหม่ๆ จากทันตแพทย์ทั่วโลกกว่า 100 คน รวมทั้งสมาคมทันตแพทย์จากทั่วโลกที่จะประชุมกันเพื่อพัฒนาและผลักดันนโยบายในการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากแก่ประชาชน

ซึ่งกรมอนามัยจะลงนามความร่วมมือกับเครือข่ายความร่วมมือนานาชาติเพื่อการปราศจากฟันผุในอนาคต โดยประกาศเป้าหมายให้เด็กที่เกิดตั้งแต่แต่ปี 2569 เป็นต้นไป ต้องปราศจากฟันผุตลอดช่วงชีวิต โดยประเทศต่างๆ จะร่วมกันรณรงค์ให้ความรู้และทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเรื่องวิทยาการในปัจจุบันที่มั่นใจได้ว่าโรคฟันผุป้องกันได้ หากมีการวินิจฉัยเบื้องต้นที่ละเอียดพอ จะสามารถสะกัดกั้นโรคไม่ให้ลุกลามจนกลายเป็นรูผุได้ เนื่องจากฟันผุเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รอยฟันผุในระยะแรกสามารถกลับคืนสู่ฟันปกติได้หากมีการดูแลแต่เนิ่นๆ เป็นการป้องกันและจัดการฟันผุตามระยะการเกิดรอยโรค ซึ่งที่ผ่านมากรมอนามัยได้มีการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบในจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทยแล้ว เช่น เชียงใหม่ ปทุมธานี เป็นต้น เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมและขยายผลต่อการดำเนินงานต่อไปในอนาคตให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคในประเทศ

ทพ.สุธา กล่าวต่อว่า จากข้อมูลสถานการณ์ปัญหาทันตสุขภาพในประเทศไทย พบว่า ปัจจุบันคนไทยยังมีปัญหาโรคฟันผุและปริทันต์มาก เด็กไทยมีฟันผุร้อยละ 60 ผู้ใหญ่มีประสบการณ์ฟันผุร้อยละ 80 และขณะนี้ประชากรทั่วโลกมีฟันผุ 5.4 พันล้านคน หรือประมาณ ร้อยละ 80

โดยการดำเนินด้านงานทันตสาธารณสุขของประเทศไทยที่ผ่านมามีนโยบายสนับสนุนการเข้าถึงบริการทันตกรรมของประชาชน การทำฟันฟรีในชุดสิทธิประโยชน์ของโปรแกรมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงโครงการฟันเทียมพระราชทาน และโครงการรากฟันเทียมพระราชทาน โครงการรณรงค์ส่งเสริมการดูแลสุขภาพช่องปากเด็กผ่านอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน การบูรณาการในโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ การดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ส่งผลให้ลดโรคฟันผุในเด็กและลดการสูญเสียฟันในผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า โรคในช่องปากเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สำคัญ เช่น มะเร็ง โรคหัวใจหลอดเลือด โรคทางเดินหายใจ และโรคเบาหวาน และผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคในช่องปากเพิ่มขึ้นด้วยโดยเฉพาะโรคปริทันต์ กรมอนามัยจึงประสานกับกรมควบคุมโรคในการบูรณาการงานส่งเสริมสุขภาพช่องปากไปพร้อมกับคลินิกคัดกรองโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ในหน่วยบริการและชุมชน 40 จังหวัดนำร่อง เพื่อให้ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“สำหรับการประชุมทันตแพทย์โลกครั้งนี้ จะมีการนำเสนอความก้าวหน้าในการรักษาทางทันตกรรมรวมถึงการป้องกันโรคในช่องปาก และสนับสนุนให้ทุกประเทศกระตุ้นให้ประชาชนและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกส่วนตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลสุขภาพช่องปาก เพื่อให้มีสุขภาพดีในทุกช่วงวัย ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคในช่องปากคือ การบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม บริโภคน้ำตาลมากและถี่เกินไป การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา และละเลยการทำความสะอาดช่องปาก กรมอนามัยจึงมุ่งส่งเสริมให้คนไทยมีพฤติกรรมที่เหมาะสมด้วยหลัก 3 อ. 2 ส. 1 ฟ. คือ อาหาร อารมณ์ ออกกำลังกาย ไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่ และดูแลทำความสะอาดฟัน เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคในช่องปากรวมถึงโรคไม่ติดต่อเรื้อรังด้วย” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว