ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จับแล้วหมอเถื่อน แอบอ้างเป็นหมอ ชื่อ “หมอหนุ่ม อนุวัฒน์ ทับคง” ที่ จ.ชลบุรี หลังพบสั่งจ่ายยาแคปซูลแผนโบราณให้ผู้ป่วยชาวต่างชาติหลายราย รวมทั้งสาวชาวฮ่องกง จนทำให้เกิดแขนขาชา ตรวจพบสารหนูและปรอทเกินมาตรฐาน ทำให้ผู้ป่วยได้รับอันตราย แจ้งโทษคดีอาญาสูงสุดทั้งจำและปรับ

 

นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการ อาหารและยา, นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกับ ตำรวจ บก.ปคบ.กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า จากกรณีพบหญิงสาวชาวฮ่องกง มีอาการป่วยแขนขาชา หลังจากกินยาแคปซูลสมุนไพรเพื่อรักษาอาการผื่นผิวหนังอักเสบที่ซื้อมาจากประเทศไทย แพทย์ตรวจพบปริมาณสารหนูในปัสสาวะสูงกว่ามาตรฐาน นั้น

นพ.บุญชัย กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รู้สึกห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง และไม่อยากเห็นผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติตกเป็นเหยื่อผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย สอดคล้องกับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในการคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงมิให้กระทบกับภาพลักษณ์และการท่องเที่ยวของประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข จึงสั่งการให้ อย. ร่วมกับ ตำรวจ บก.ปคบ., กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ชลบุรี สืบสวนแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ยาแคปซูลที่มีปัญหาและสถานที่ที่ผู้ป่วยไปรักษา จนพบว่ามีผู้แอบอ้างเป็นหมอสั่งจ่ายยาสมุนไพรให้ผู้ป่วย อยู่ที่จังหวัดชลบุรี  

ดังนั้น เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2558 เจ้าหน้าที่ อย., ตำรวจ บก.ปคบ., กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ลงพื้นที่ไปยังสถานที่เป้าหมายโดยนำหมายค้นเข้าตรวจสอบ บ้านเลขที่ 16 ม.6 ต.วัดหลวง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ผลการตรวจพบสถานที่ดังกล่าว เปิดเป็นร้านขายยาแผนโบราณ แต่มีการรับรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคผิวหนัง โดยเฉพาะโรคสะเก็ดเงิน หรือ เรื้อนกวาง มีการโฆษณารักษาโรค สะเก็ดเงินด้วยยาสมุนไพร โดยใช้ชื่อว่า หมอหนุ่ม อนุวัฒน์ ทับคง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้านจังหวัด ชลบุรี

ขณะตรวจ พบนายอนุวัฒน์ ทับคง กำลังรักษาผู้ป่วยและพบคนงานกำลังนำผงสมุนไพรสี น้ำตาลมีชื่อระบุว่า สะเก็ดเงินบรรจุใส่ปลอกแคปซูล ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า สถานที่ดังกล่าวไม่มีใบอนุญาตสถานพยาบาลและใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย อีกทั้งไม่มีใบอนุญาตผลิตยาแต่อย่างใด โดยผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึดครั้งนี้ อาทิ - ยาหม่อง บุญบาล์ม - ขี้ผึ้งรักษาโรคสะเก็ดเงิน - กระปุกยารักษาคนไข้ชนิดผง - ยาเม็ดบดอัดทำเอง - สมุนไพรฝุ่นหอมปราบเกลื้อน - น้ำมันไพร - ยาเม็ดแคปซูล นอกจากนี้ ยังพบกระปุกยารอการบรรจุ

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ยึดของกลางและส่งตรวจวิเคราะห์ที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมมูลค่าของกลางกว่า 2 แสนบาท ในเบื้องต้นได้แจ้งข้อหา ดังนี้ 1.ผลิตยาแผนโบราณโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 5,000 บาท 2.ผลิตและขายยาโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3.ประกอบกิจการและดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 4.ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นพ.บุญชัย กล่าวต่อว่า ขอเตือนประชาชน อย่าได้หลงเชื่อโฆษณาขายยาแผนโบราณที่อวดสรรพคุณรักษาสารพัดโรค และขายผ่านทางเว็บไซต์ต่างๆ เพราะอาจได้รับยาที่มีส่วนผสมของสารอันตราย กรณีที่ตรวจพบสารหนูในยาแผนโบราณที่จับได้นี้ จะทำให้เกิดอันตราย มีผลข้างเคียงสูง หากรับประทานในขนาดที่สูงมากอาจมีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต อาการที่พบ เช่น อาการไข้ เบื่ออาหาร ตับโต หัวใจเต้น ผิดปกติ และหากได้รับสารหนูบ่อยๆ จะเกิดการสะสม และอาจทำให้เป็นมะเร็งได้ในระยะยาว ส่วนปรอทที่ผสมในยาแผนโบราณ อาจจะทำให้เป็นพิษ โดยมีอาการปากเปื่อย เหงือกอักเสบ ฟันหลุด น้ำลายไหลมากผิดปกติ และ ไตวาย เป็นต้น ที่สำคัญไม่ควรไปรับการรักษากับสถานที่ซึ่งไม่ใช่สถานพยาบาล และผู้รักษาไม่ได้จบแพทย์ โดยตรงเด็ดขาด

ดังนั้น ควรเลือกซื้อยาจากร้านขายยาที่มีใบอนุญาตถูกต้อง หรือร้านยาคุณภาพ และควรตรวจสอบฉลากยาโดยฉลากต้องระบุชื่อยา เลขทะเบียนตำรับยา เช่น ทะเบียนยาเลขที่ G 888/50 ปริมาณของยาที่บรรจุ เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิต ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตยา เป็นต้น

ทั้งนี้ หากพบแหล่งขายยาใดคาดว่าจะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย พบยาต้องสงสัยและไม่ปลอดภัยในการใช้ หรือพบเห็นเว็บไซต์ที่ มีการโฆษณารักษาและขายยาที่ผิดกฎหมาย ขอให้ร้องเรียนแจ้งมายัง สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Oryor Smart Application หรือ สายด่วน สบส. โทร.02 1937999 หรือ สายด่วน ปคบ.1135 หรือแจ้งไปยังสำนักงาน สาธารณสุขจังหวัดนั้นๆ ที่พบการกระทำผิดดังกล่าว เพื่อ อย.จะได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ติดตามตรวจสอบจับกุมและลงโทษสถานหนักแก่ผู้กระทำผิดต่อไป