ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เปิดตัวสัญลักษณ์โภชนาการ "ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)" หวังให้ผู้บริโภครับรู้และรู้จักสัญลักษณ์โภชนาการบนฉลากอาหารอย่างแพร่หลาย เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจเลือกซื้อเพื่อส่งเสริมภาวะโภชนาการให้ประชาชนชาวไทยมีสุขภาพดี ห่างไกลจากโรค NCDs ภาคอุตสาหกรรมให้ความร่วมมือในการปรับสูตรอาหาร ลดน้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ล่าสุด เผยโฉมผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรอง 57 ผลิตภัณฑ์จาก 14 บริษัทและจะขยายให้ครอบคลุมทุกกลุ่มอาหารในอนาคต

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2559 นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.โชคชัย เมธีไตรรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมเป็นประธานแถลงข่าวในการเปิดตัวสัญลักษณ์โภชนาการต้านโรค NCDs

นพ.วิศิษฎ์ กล่าวว่า ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีภาระโรคที่เกิดจากกลุ่มโรค NCDs มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าวิตก จากรายงานภาวะโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทย พ.ศ. 2552 พบว่า กลุ่มโรค NCDs เป็นสาเหตุการเสียชีวิตถึง 314,340 ราย หรือร้อยละ 73 ของการเสียชีวิตของประชากรไทยทั้งหมด

ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านอาหารและโภชนาการสู่คุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาร่วมกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นฝ่ายเลขานุการ ดำเนินโครงการสัญลักษณ์โภชนาการ "ทางเลือกสุขภาพ"

ซึ่งสัญลักษณ์ดังกล่าวแสดงถึงผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาแล้วว่ามีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และเกลือ (โซเดียม) ที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้มีการนำร่องใช้กับผลิตภัณฑ์อาหาร 3 กลุ่ม ได้แก่ อาหารมื้อหลัก เครื่องดื่ม และเครื่องปรุงรส โดยตัวอย่างหลักเกณฑ์การพิจารณาของกลุ่มเครื่องปรุงรส เช่น น้ำปลา จะต้องมีโซเดียมน้อยกว่าหรือเท่ากับ 6,000 มิลลิกรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ซอสปรุงรส ซีอิ๊ว จะต้องมีโซเดียมน้อยกว่าหรือเท่ากับ 5,000 มิลลิกรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เป็นต้น

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่า หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศฯ (ฉบับที่ 373) พ.ศ. 2559  เรื่อง การแสดงสัญลักษณ์โภชนาการบนฉลากอาหาร เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ข้อมูลโภชนาการในรูปแบบสัญลักษณ์โภชนาการ (Healthier Choice) ต่อผู้บริโภคในการเลือกซื้ออาหาร โดยตั้งแต่เดือนมกราคม – สิงหาคม 2559 มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองสัญลักษณ์โภชนาการ จากมูลนิธิส่งเสริมโภชนาการ สถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล เรียบร้อยแล้ว จำนวน 2 กลุ่มอาหาร 57 ผลิตภัณฑ์ จาก 14 บริษัท ได้แก่ กลุ่มเครื่องดื่ม 55 ผลิตภัณฑ์ และกลุ่มเครื่องปรุงรส 2 ผลิตภัณฑ์

ในงานแถลงข่าววันนี้ จะมีการมอบประกาศนียบัตรให้กับบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 21 บริษัท และมีผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับการรับรองสัญลักษณ์โภชนาการจากบริษัทต่างๆ มาจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค มุ่งหวังเพื่อสร้างการรับรู้สัญลักษณ์โภชนาการ "ทางเลือกสุขภาพ" ให้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง และสร้างความมีส่วนร่วมของภาคอุตสาหกรรมในการปรับสูตรอาหาร

นพ.โชคชัย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนทางวิชาการ เพื่อให้สัญลักษณ์โภชนาการเป็นเครื่องมือในการสื่อสารข้อมูลโภชนาการที่ลดความซับซ้อนลงให้กับผู้บริโภค เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้ผู้บริโภคปรับพฤติกรรมการบริโภคให้เหมาะสมมากขึ้น ช่วยให้สามารถตัดสินใจเลือกซื้อได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งเป็นการลดปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไตวายเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด ฯลฯ ที่สำคัญจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประเทศในการรักษาพยาบาลโรคดังกล่าวในระยะยาวด้วย

นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า อย.และมูลนิธิส่งเสริมโภชนาการ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาประกาศหลักเกณฑ์การใช้สัญลักษณ์โภชนาการกับกลุ่มอาหารประเภทอื่นๆ เช่น กลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป (บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป) กลุ่มผลิตภัณฑ์นม (น้ำนมสด น้ำนม นมผง นมปรุงแต่ง ผลิตภัณฑ์ของนม นมเปรี้ยว (ชนิดกึ่งแข็งกึ่งเหลว และชนิดพร้อมดื่ม) และกลุ่มเครื่องดื่มที่ขยายขอบข่าย (เครื่องดื่มช็อกโกแลต โกโก้ และมอลต์สกัด ชาปรุงสำเร็จ และกาแฟปรุงสำเร็จ) เพื่อขยายขอบข่ายกลุ่มอาหารในวงกว้างต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้สมัครขอใช้สัญลักษณ์โภชนาการ สามารถส่งใบสมัครขอรับการรับรองได้ที่มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการฯ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยดาวน์โหลดใบสมัคร และศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ http://healthierlogo.com หรือwww.ทางเลือกสุขภาพ.com สำหรับผู้ที่สมัครก่อนวันที่ 30 ธันวาคม 2559 จะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมในการสมัคร