ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย เผยคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคเบาหวาน เป็นอันดับ 3 ในผู้หญิง และอันดับ 8 ในผู้ชาย แนะหลัก “งด ลด เพิ่ม เริ่ม” งดน้ำตาล ลดแป้ง เพิ่มกินผักผลไม้ และเริ่มออกกำลังกาย เพื่อป้องกันโรคเบาหวาน  

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า โรคเบาหวานถือเป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับต้นๆ ของโลก องค์การอนามัยโลกและสมพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติจึงได้กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) เพื่อให้องค์กรสาธารณสุขทั่วโลกได้เห็นความสำคัญในการป้องกันและควบคุมโรคเบาหวาน ซึ่งโรคเบาหวานยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ในผู้หญิง และอันดับ 8 ในผู้ชาย โรคเบาหวานยังทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา โรคภาวะแทรกซ้อนที่จอประสาทตา ไต เส้นประสาท หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดส่วนปลายอุดตัน ซึ่งเป็นปัจจัย ส่งเสริมให้เกิดแผลที่เท้าในผู้เป็นเบาหวาน หรือบางรายต้องตัดขา ตาบอด ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ครอบครัว และคนใกล้ชิด รวมทั้งผู้ป่วยและภาครัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก โรคเบาหวานยังมีความสัมพันธ์กับสุขภาพช่องปาก ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีโอกาสสูญเสียฟัน ฟันผุ ติดเชื้อราในช่องปาก เป็นแผลและหายช้ามากกว่าคนปกติ และหากควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี มีโอกาสเกิดโรคปริทันต์และเหงือกอักเสบรุนแรงกว่าหลายเท่า และเสี่ยงต่อการละลายของกระดูกเบ้าฟัน สูญเสียเอ็นยึดปริทันต์อีกด้วย ผู้ป่วยจึงควรดูแลสุขภาพช่องปากตนเองมากเป็นพิเศษ โดยต้องพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันทุกๆ 3 เดือน ขยันแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันทุกมื้อ สังเกตอาการผิดปกติ เช่น เลือดออกง่าย ฟันโยก เสียวฟัน ให้รีบพบทันตแพทย์ทันที

นพ.วชิระ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่จะยังไม่รู้ตัวจนกว่าจะแสดงอาการ เช่น น้ำหนักลด ปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย กินจุบจิบ แผลหายช้า อ่อนเพลีย ชาปลายมือ ปลายเท้า และน้ำตาลในเลือดสูง รวมทั้งผู้ที่อายุเกิน 35 ปี หรือผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคเบาหวานก็มีโอกาสเสี่ยงด้วย ดังนั้น การดูแลสุขภาพตนเองเพื่อป้องกันโรคเบาหวานจึงเป็นสิ่งสำคัญ ด้วยการ “งด ลด เพิ่ม เริ่ม” คือ “งด” งดกินน้ำตาลเกินจำเป็น เลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม ลูกอม ขนมหวาน ต่างๆ “ลด” ลดข้าว แป้ง เปลี่ยนจากข้าวขัดขาวเป็นข้าวกล้องหรือธัญพืชไม่ขัดสี เพื่อให้ร่างกายได้รับใยอาหารอย่างเพียงพอ ช่วยลดการดูดซึมของน้ำตาล และช่วยจับไขมันในอาหาร “เพิ่ม” เพิ่มการกินผัก ผลไม้ โดยกินผักหลากหลายชนิด หลายสีสลับกันทุกวัน เพราะมีใยอาหารสูงช่วยให้อิ่มนาน ชะลอการดูดซึมน้ำตาล และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ แต่ควรระมัดระวังการกินผลไม้รสหวานจัด “เริ่ม” เริ่มต้นออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายเป็นประจำ สัปดาห์ละ 5 ครั้ง ครั้งละ 30 - 45 นาที หรือเพิ่มกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน เช่น เดินมากขึ้น เร็วขึ้น หรือใช้บันไดแทนการขึ้นลิฟต์       

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวต่อว่า การควบคุมอาหารและการออกกำลังกายจะช่วยรักษาระดับน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวานได้โดยเฉพาะอาหารในกลุ่มข้าวแป้ง ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรเลือกกินข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีท โฮลเกรน ธัญพืช แทนข้าวขัดขาว เลือกกินเนื้อปลาเพราะมีไขมันต่ำ หลีกเลี่ยง หนังหมู มันหมู กุนเชียง หมูยอ ไส้กรอก และเลือกใช้น้ำมันจากไขมันไม่อิ่มตัว น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง ในการปรุงอาหารแต่ไม่ควรกินเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน สำหรับผักสามารถกินได้ไม่จำกัดแต่ให้เลี่ยงผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง เช่น ขนุน มะม่วง ลำไย ลองกอง เงาะ ที่สำคัญควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีรสหวานทุกชนิด น้ำอัดลม และอาหารหมัก ดอง อาหารเค็มจัด อาหารที่มี ไขมันสูง คุกกี้ เค้ก ขนมอบกรอบ และอาหารทอดทุกชนิด   

“การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด สามารถลดปริมาณการใช้ยาหรือการฉีดอินซูลินได้ แถมยังช่วยลดไขมันส่วนเกิน ควบคุมหรือลดน้ำหนัก ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน ลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรออกกำลังกายให้ได้ 3 - 5 วันต่อสัปดาห์ และไม่ควรหยุดพักเกิน 3 วัน สามารถออกกำลังกายที่ไม่ใช้แรงกระแทก หรือมีแรงกระแทกต่ำ เช่น เดิน ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เลือกความหนักของการออกกำลังกายที่เหมาะสม เช่น เดินแล้วหยุดพัก แล้วค่อยเดินต่อ ไม่ควรเปลี่ยนท่าทางอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเวลาลุกนั่งหรือยืน ไม่ควรเดินเท้าเปล่า เลือกรองเท้าที่เหมาะสมกับการออกกำลังกาย หมั่นตรวจดูแลสุขภาพเท้าสม่ำเสมอ ไม่ให้เกิดแผล ไม่ควรออกกำลังกายในที่ร้อนจัดหรือชื้น และผู้ป่วยที่เท้าชาควรเดินกางแขนเพื่อช่วยการทรงตัว ที่สำคัญควรระวังระดับน้ำตาลในเลือด หากต่ำกว่า 100 มก./ดล. ให้กินผลไม้ชิ้นเล็ก นมหรือน้ำผลไม้หนึ่งกล่อง และหลังการออกกำลังกายควรนั่งพัก 15-20 นาที และดื่มน้ำให้เพียงพอ หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 250-300 มก./ดล. หรือ 300 มก./ดล. ไม่ควรออกกำลังกายจนกว่าน้ำตาลจะเข้าสู่ระดับปกติ สำหรับผู้ที่มีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ประสาทส่วนปลายจากเบาหวาน ระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติ จอประสาทตาผิดปกติจากเบาหวาน ภาวะแทรกซ้อนที่ไต หรือความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน ออกกำลังกาย” นพ.วชิระ กล่าว

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า ประชาชนที่มีอายุ 35 ปี ขึ้นไป มีพ่อ แม่ ญาติพี่น้องเป็นโรคเบาหวานเป็นโรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูงหรือไขมันในเลือดสูง และผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน จึงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพทุกปี เพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ถือเป็นการเฝ้าระวังอีกทางหนึ่งด้วย