ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้แทนธนาคารโลก หนุน “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” เน้นเพิ่มความสำคัญแก้ปัญหาฝั่งผู้ให้บริการ งบต้องเพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ไม่กระทบคุณภาพบริการ “นักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขโลก” ระบุ รัฐต้องจัดสรรงบจากภาษีอย่างเสมอภาค ดูแลประชาชนทุกระบบอย่างเท่าเทียม ด้าน “นิมิตร์” ยัน ไทยต้องมีระบบหลักประกันสุขภาพระบบเดียว แต่หากมีหลายระบบ ต้องเดินหน้าข้อเสนอ 8 ข้อลดความเหลื่อมล้ำ

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 ในการเสวนา “ความเสมอภาคด้านสุขภาพ : ทฤษฎี ประสบการณ์จากต่างประเทศ และสถานการณ์ในประเทศไทย” ในการประชุมระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย ครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2558) “หลักประกันสุขภาพ: ความก้าวหน้า ความท้าทาย และความกลมกลืน”  

ดร.โทมัส พาลู ผู้จัดการหน่วยประชากร โภชนาการและสุขภาพของธนาคารโลก ประจำภูมิภาคเอเซียตะวันออกและแปซิฟิก (Dr. Toomas PaluSector ManagerHealth Nutrition and PopulationEast Asia and Pacific Region The World Bank Thailand) กล่าวว่า ตัวชี้วัดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตามหลักการขององค์การอนามัยโลกคือ การเข้าถึงบริการที่จำเป็นด้านสุขภาพ ครอบคลุมประชากร และช่วยป้องกันความเสี่ยงทางการเงินให้กับประชาชน ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีสำหรับประเทศต่างๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่ในหลายประเทศยังดำเนินการได้ยาก โดยประชาชนยังต้องควักเงินในกระเป๋าเพื่อจ่ายค่าใช้จ่ายสุขภาพในสัดส่วนที่สูงอยู่ ยกเว้นประเทศไทยที่ประชาชนมีสัดส่วนการจ่ายค่าใช้จ่ายสุขภาพที่ต่ำ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก

อย่างไรก็ตามเมื่อพูดถึงค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ อยากเน้นไปยังฝั่งผู้ให้บริการมากกว่า โดยรัฐต้องลดปัญหาการเงินให้กับผู้ให้บริการ การเพิ่มงบประมาณ เพราะหากผู้ให้บริการมีปัญหาอาจกระทบถึงคุณภาพบริการที่ดีได้ จึงนับเป็นประเด็นท้าทาย นอกจากนี้ยังต้องดูในส่วนผู้ให้บริการ ไม่แต่เฉพาะจำนวนผู้ให้บริการที่ต้องเพียงพอ แต่รวมถึงการกระจายตัว ความรู้และความสามารถในการปฏิบัติงาน ซึ่งจะทำให้ตอบโจทย์ระบบสุขภาพได้

ศาสตราจารย์ แอนน์ มิลส์ (Anne Mills) ศาสตราจารย์ด้านนโยบายและเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ภาควิชาสาธารณสุขและนโยบาย มหาวิทยาลัยลอนดอน สหราชอาณาจักร (London School of Hygiene & Tropical Medicine, University of London) กล่าวว่า รัฐบาลควรมีความเสมอภาคในการกระจายงบประมาณที่ได้จากภาษี เพื่อจัดสรรรายหัวประชากรในทุกระบบดูแลสุขภาพประชาชนอย่างเท่าเทียม โดยพยายามหาวิธีการแบ่งสัดส่วนงบประมาณให้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังควรดูในเรื่องการจัดการเพื่อปรับให้ระบบมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ไม่เห็นด้วยกับการเปรียบเทียบระหว่างระบบหลักสุขภาพ เนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกจิและสังคมของแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกัน

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า สิ่งที่อยากได้ที่สุดขณะนี้ คืออยากให้มีระบบหลักประกันสุขภาพระบบเดียว ที่ดูแลสิทธิประโยชน์ที่สำคัญกับชีวิตและทุกคนได้อย่างเสมอภาค ซึ่งคิดว่าทุกคนคงอยากเห็นเช่นกัน เพราะขณะนี้เราอยู่ในระบบที่มีหลายหลักประกันสุขภาพและไม่ว่าจะเป็นระบบประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ล้วนแต่ใช้เงินจากภาษีที่เก็บจากประชาชนเป็นหลัก แต่รัฐบาลกลับจัดสรรเงินให้แต่ละระบบเพื่อดูแลสุขภาพประชาชนไม่เท่ากัน นับเป็นความอยุติธรรมที่นำมาสู่ความไม่เท่าเทียมกัน และเป็นต้นตอของความเหลื่อมล้ำและยุ่งยากของระบบหลักประกันสุขภาพที่ไม่เท่ากัน

ทั้งนี้หากยืนยันว่า ประเทศไทยยังคงต้องมีหลักประกันสุขภาพหลายระบบ รัฐจะต้องดำเนินการตามข้อเสนอ 8 ข้อ ดังนี้ 1.ทุกระบบหลักประกันสุขภาพได้รับค่าเหมาจ่ายรายหัวเท่ากัน มีการกำหนดสิทธิประโยชน์กลางเพื่อให้ทุกระบบใช้ร่วมกัน 2.การจัดหางบประมาณที่เป็นธรรมกับทุกระบบ ซึ่งปัจจุบันมีเพียงระบบประกันสังคมที่ยังร่วมจ่าย 3.ควบคุมค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลที่เหมาะสม เพราะปัจจุบันแต่ละระบบมีการจ่ายที่ไม่เท่ากัน ส่งผลให้เกิดการปฏิเสธและการเข้าถึงการรักษา 4.มีกติกากำหนดให้ทุกโรงพยาบาลและหน่วยบริการเข้าไปอยู่ภายใต้หลักประกันสุขภาพระบบใดระบบหนึ่งเพื่อการันตีการเข้าถึงการรักษา

5.ต้องมีแผนยุทธศาสตร์กระจายหน่วยบริการ กำลังคนด้านสุขภาพ และการพัฒนาหน่วยบริการให้มีคุณภาพ 6.มีการใช้ข้อมูลเดียวกันเพื่อร่วมบริหารจัดการหลักประกันสุขภาพให้มีประสิทธิภาพที่สุด 7.ให้ทุกระบบหลักประกันสุขภาพมีการดูแลผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสุขภาพ รวมถึงผู้ให้บริการด้วย และ 8.สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมทั้งจากองค์การบริการส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน องค์กรภาคประชาน เพื่อร่วมกันคิดพัฒนาเป็นเจ้าของทำให้ระบบสมบูรณ์    

“ข้อเสนอนี้เป็นความท้าทายและเชื่อว่าทุกคนอยากเห็นทุกคนเข้าถึงการรักษา เข้าถึงการป้องกันสุขภาพ และผู้ให้บริการมีความสุขในการบริการ จึงควรเดินหน้าเพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นนี้” นายนิมิตร์ กล่าว 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง