ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาธิการ สปส.จ่อขยับเพดานเงินเดือนเก็บเงินสมทบ จาก 1.5 หมื่น เป็น 2 หมื่น ระบุ ประสาน “ไอแอลโอ”ศึกษาเพิ่มอัตราเงินสมทบแล้ว ชี้การเพิ่มฐานเงินเดือนเท่ากับเป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์เรื่องเงินขาดรายได้ด้วย

นายโกวิท สัจจวิเศษ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงข้อกังวลเรื่องเงินในกองทุน สปส.ไม่เพียงพอต่อการจ่ายบำนาญชราภาพว่า ที่ผ่านมามีการคำนวณกันว่าภายใน 20 ปีข้างหน้า เงินในกองทุนชราภาพจะไม่เพียงพอต่อการนำมาจ่ายบำนาญชราภาพให้กับผู้ประกันตน ซึ่งแม้ว่าจะยังมีเวลาแก้ไขแต่ สปส.ก็ต้องเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันนี้

นายโกวิท กล่าวว่า ขณะนี้ได้ประสานกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) เพื่อศึกษาเรื่องการเก็บเงินสมทบ และการขยายฐานเงินเดือนของผู้ประกันตน โดยแนวทางดำเนินการเพื่อให้กองทุนมีเสถียรภาพคือการเพิ่มอัตราเงินสมทบ ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ยั่งยืนกว่าการขยายฐานเงินสมทบ แต่ สปส.ต้องทำการศึกษาควบคู่กันไปแม้ว่ากองทุนจะไม่ได้รับประโยชน์เท่าใดนัก

“อยากให้ผู้ประกันตนเข้าใจว่าที่เรียกร้องให้เพิ่มสิทธิประโยชน์นั้นต้องคำนึงถึงเงินสมทบด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อมูลแล้วจะพบว่าประเทศไทยเก็บเงินสมทบน้อยที่สุด คือเก็บเพียง 5% ไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน ในขณะที่ประเทศเวียดนามเก็บถึง 8% หรือที่สิงคโปร์เก็บ 20% แต่ก็ต้องยอมรับว่าเขาดูแลผู้ประกันตนอย่างเต็มที่”นายโกวิท กล่าว

นายโกวิท กล่าวอีกว่า จากเดิมที่ สปส.เก็บสมทบจากเพดานเงินเดือนสูงสุดคือ 1.5 หมื่นบาท ซึ่งผู้ประกันตนจะจ่าย 750 บาท หากขยายเป็น 2 หมื่นบาท ผู้ประกันตนจะจ่ายเพิ่มเป็น 1,000 บาท นั่นหมายความว่า สปส.ก็ต้องหาเงินให้ผู้ประกันตนทันที 1,000 บาทเช่นกัน แน่นอนว่าย่อมส่งผลให้ สปส.ต้องเร่งลงทุนเพิ่ม

นอกจากนี้ การเพิ่มฐานเงินเดือนเท่ากับเป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์เรื่องเงินขาดรายได้ เช่น คนเงินเดือน 1.5 หมื่น จากเดิมจะได้ชดเชย 7,500 บาท หากขยายฐานเป็น 2 หมื่นบาท นั่นหมายความว่า สปส.ต้องจ่ายให้ผู้ประกันตน 1 หมื่นบาท ซึ่งนั่นคือภาระในอนาคต

“ในอนาคตอาจมีการขยับฐานอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมากที่สุดคงไม่เกิน 2 หมื่นบาท แต่ที่สุดแล้วต้องขึ้นอยู่กับผลการศึกษาและการตัดสินใจของบอร์ด สปส.ต่อไป” นายโกวิท กล่าว