ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักงานประกันสังคม เผยครึ่งปีแรกของปี 2559 กองทุนประกันสังคมบริหารเงินลงทุนได้ผลตอบแทนกว่า 25,828 ล้านบาท ปรับเพิ่มจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ร้อยละ 3.1 ส่วนภาพรวมการลงทุนในปี 2558 ได้ผลตอบแทน 44,894 ล้านบาท ขณะที่กองทุนชราภาพและสงเคราะห์บุตรได้ผลตอบแทนร้อยละ 3.56 ปี 2558 จ่ายค่าบริการทางการแพทย์กว่า 3.6 หมื่นล้าน เฉลี่ยรายหัว 3.1 พันบาท พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจมาตรฐานสถานพยาบาลเครือข่าย

นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงผลการดำเนินงานของกองทุนประกันสังคมในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2559 ว่า ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2559 กองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุนรวม 1.46 ล้านล้านบาท ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2559 กองทุนประกันสังคมมีผลตอบแทนที่รับรู้แล้วจำนวน 25,828 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ได้ผลตอบแทนที่รับรู้จำนวน  22,879 ล้านบาท ถือว่าปรับเพิ่มขึ้นเท่ากับ 2,949 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.1 ต่อปี และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีผลตอบแทนอยู่ที่ร้อยละ 1.86นายโกวิท กล่าวต่อว่า สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2558 ที่ผ่านมาแม้ว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปรับลดลงถึงร้อยละ 14 และธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง ลดลงร้อยละ 0.5 ต่อปี แต่กองทุนประกันสังคมยังสามารถบริหารการลงทุนได้ผลตอบแทนจำนวน 44,894 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.16 และร้อยละ 3.42 (วัดตามมาตรฐานบัญชี 105 และ 106 ตามลำดับ) ซึ่งสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อที่เท่ากับร้อยละ -0.9 ต่อปีและอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเฉลี่ยที่ร้อยละ 1.48 ต่อปี 

“เมื่อพิจารณาเฉพาะผลตอบแทนในส่วนของกองทุนชราภาพและสงเคราะห์บุตรซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 90 ของกองทุนประกันสังคม ในปี 2558 บริหารการลงทุนได้ผลตอบแทนร้อยละ 3.56 ต่อปี ใกล้เคียงกับผลตอบแทนกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่มีผลตอบแทนในปี 2558 ร้อยละ 3.35 ผู้ประกันตน/ลูกจ้างอุ่นใจได้ว่ากองทุนประกันสังคมมีเสถียรภาพมั่นคง อย่างไรก็ตามสำนักงานประกันสังคมยังคงมุ่งมั่นปฏิรูปองค์กร พัฒนาการทำงาน สร้างความโปร่งใส ตลอดจนปรับทิศทางการบริหารการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม เพียงพอต่อภาระการจ่ายสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้กับผู้ประกันตนในอนาคต” เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ระบุ 

ส่วนการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของโรงพยาบาลประกันสังคมนั้น นายโกวิท กล่าวว่า ในปี 2559 มีสถานพยาบาลประกันสังคมที่ทำสัญญาทั้งสิ้น 239 แห่ง เป็นสถานพยาบาลของรัฐ 158 แห่ง และเอกชน 81 แห่ง เมื่อรวมสถานพยาบาลที่เป็นเครือข่ายแล้วจะมีจำนวน 2,564 แห่ง โดยมาตรฐานของบริการทางแพทย์ในระบบประกันสังคม หากผู้ประกันตนเจ็บป่วยสามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลที่เลือกไว้ โดยสถานพยาบาลต้องให้การรักษาตรวจวินิจฉัยโรคและบำบัดทางการแพทย์ จนสิ้นสุดการรักษา ยาและเวชภัณฑ์มีมาตรฐานไม่ต่ำกว่ามาตรฐานบัญชียาหลักแห่งชาติ กรณีที่ไม่สามารถทำการรักษาได้จะต้องได้รับการส่งต่อไปยังสถานพยาบาลที่มีศักยภาพการรักษา นอกจากนี้ยังต้องมีการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอีกด้วย  

อย่างไรก็ตาม ในปี 2558 สำนักงานประกันสังคมจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้กับสถานพยาบาลจำนวน 36,905.04 ล้านบาท คิดเป็นค่าบริการทางการแพทย์จำนวน 3,168.82 บาทต่อผู้ประกันตน 1 ราย และยังคงพัฒนาปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกันตนและอุบัติการณ์การเกิดโรค ขณะเดียวกันสำนักงานฯ ได้จัดส่งแพทย์ พยาบาล ที่ปรึกษา ออกตรวจมาตรฐานและคุณภาพการให้การรักษาพยาบาลตามประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่องกำหนดมาตรฐานพยาบาลที่ให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตน พ.ศ. 2551 คนลงวันที่ 26 มกราคม 2551 อย่างสม่ำเสมอ

นายโกวิท เปิดเผยด้วยว่า หลังจากเปิดรับสมัครสถานพยาบาลเอกชนเข้าร่วมโครงการในปี 2560 มีสถานพยาบาลเอกชนสมัครเข้าร่วมจำนวน 81 แห่ง มีเพียง 1 แห่งที่ไม่เข้าร่วมเป็นสถานพยาบาลประกันสังคม ซึ่งสำนักงานประกันสังคมจัดเตรียมสถานพยาบาลที่มีศักยภาพให้ผู้ประกันตนเลือกสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิใหม่ในปี 2560 ตามความสมัครใจ เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง