ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘พลเรือเอกณรงค์’ รองนายกรัฐมนตรี ประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ จัดทำแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติฉบับใหม่ บูรณาการแผนปฎิบัติการและงบประมาณกว่า 9.7 พันล้านบาทจาก 33 หน่วยงาน พร้อมเสนอร่างแผนฯต่อคณะรัฐมนตรีในเดือนกันยายน 2559 

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2558 ที่กระทรวงสาธารณสุข พลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลกระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ครั้งที่ 3/2558 ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน ในการเตรียมความพร้อม ป้องกัน ควบคุมและแก้ไขสถานการณ์การระบาดของโรคเมอร์ส และโรคติดต่ออุบัติใหม่อื่นๆ เพื่อลดการป่วย การตาย และลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ที่มาจากการระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่

ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณา 3 เรื่อง ได้แก่

1.จัดทำแผนยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2560-2564 ต่อจากแผนฯ เดิมจะหมดวาระในปี งบประมาณ 2559 นี้ เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การเคลื่อนย้ายของประชากรอย่างรวดเร็ว กฎหมายใหม่ๆ รวมทั้งรับมือโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา โดยแผนฉบับใหม่นี้จะมีความทันสมัย ครอบคลุมการป้องกันควบคุมโรคติดต่อในระดับนานาประเทศ ยึดกรอบแนวคิด ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 กฎอนามัยระหว่างประเทศพ.ศ.2558 ยุทธศาสตร์โรคติดต่ออุบัติใหม่ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กรอบความร่วมมืออาเซียน แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว วาระความมั่นคงด้านสุขภาพของโลก ข้อกำหนดสุขภาพสัตว์ มาตรฐานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งองค์การสหประชาชาติ เป็นต้น คาดว่าจะนำเสนอร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ แก่คณะรัฐมนตรี ในเดือนกันยายน 2559

2.จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระดับกระทรวงร่วมกันระหว่าง 5 กระทรวงได้แก่ สาธารณสุข เกษตรและสหกรณ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาดไทย และศึกษาธิการ เพื่อขยายการผลักดัน ส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินงาน และประสานงานทางด้านสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) โดยยกระดับความร่วมมือจากผู้แทนระดับอธิบดี เป็นระดับปลัดกระทรวง และอาจพิจารณาหน่วยงานอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความครอบคลุมมากขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งงานระบาดวิทยาด้านการเฝ้าระวังสอบสวนโรคอุบัติใหม่ และโรคจากการประกอบอาชีพของเครือข่ายสุขภาพหนึ่งเดียว เน้นพัฒนากลไกและองค์ความรู้ในการค้นหาและแจ้งเหตุการณ์ผิดปกติด้านโรคติดต่ออุบัติใหม่และโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูล และประสบการณ์ เพื่อแก้ปัญหาและควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพและทันเวลา คาดว่าจะร่วมกันลงนามในบันทึกฯ ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2559  

3.จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ (EID Package) บูรณาการงบประมาณกว่า 9,700 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้าง ห้องปฏิบัติการ ห้องแยกผู้ป่วย ห้องชีวนิรภัย ตึกกักกันผู้สัมผัสโรค รถส่งต่อผู้ป่วย ครุภัณฑ์ เครื่องวัดอุณหภูมิอัตโนมัติ ชุดป้องกันร่างกาย พัฒนาบุคลากร การซ้อมแผน การวิจัยและพัฒนายา วัคซีน เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่ทุกโรค โดยมีหน่วยงานร่วมจัดทำแผนปฏิบัติการ 33 หน่วยงานประกอบด้วย 12 กระทรวง 6 มหาวิทยาลัย รวมทั้งภาคเอกชนและ กทม.นำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป