ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภาคประชาสังคมจี้ ไทยต้องต้องประเมินผลกระทบสุขภาพ ก่อนเข้าร่วม TPP โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหวที่จะมีผลต่อการเข้าถึงยา การเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพของประเทศ เผยที่ผ่านมามีผลการศึกษาและข้อห่วงกังวลหลายประการ เช่น ผลกระทบต่อการเข้าถึงยาที่มีคุณภาพ ราคาถูกของระบบหลักประกันสุขภาพ, ผลกระทบจากการเปิดเสรีนำเข้าสุรา และยาสูบ ที่จะไปขัดขวางนโยบายการลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ของกระทรวงสาธารณสุข

นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ วอทช์)  กล่าวว่าตามที่นายกรัฐมนตรีแสดงเจตนาและมีท่าทีที่ชัดเจนว่ารัฐบาลต้องการเข้าร่วม TPP โดยการสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการศึกษาประเมินผลกระทบอย่างรอบด้านในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทีพีพีนั้น ขณะนี้หลายหน่วยงานขานรับ โดยมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างเร่งรีบ แต่ยังไม่ได้มีการทำงานวิชาการที่รองรับ โดยเฉพาะการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ Health Impact Assessment (HIA) ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ

“กระทรวงสาธารณสุขในฐานะหน่วยงานที่ดูแล รักษา ปกป้อง และคุ้มครองคุณภาพชีวิตของประชาชน ถือเป็นหน่วยงานหลักที่จะต้องเร่งศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อประเด็นอ่อนไหวที่จะมีผลโดยตรงต่อการเข้าถึงยา การเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพของประเทศ เรามีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เข้มแข็ง เป็นที่ยกย่องจากนานาประเทศว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีระบบหลักประกันสุขภาพที่สามารถดูแลประชาชนได้อย่างมีคุณภาพและทั่วถึง" ผู้ประสานงานเอฟทีเอ วอทช์ กล่าว

ผู้ประสานงานเอฟทีเอ วอทช์กล่าวต่อ ที่ผ่านมามีผลการศึกษาและข้อห่วงกังวลหลายประการ เช่น ผลกระทบโดยตรงต่อการเข้าถึงยาที่มีคุณภาพ ราคาถูกของระบบหลักประกันสุขภาพ, ผลกระทบจากการเปิดเสรีนำเข้าสุรา และยาสูบ ที่จะไปขัดขวางนโยบายการลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ของกระทรวงสาธารณสุข, ผลกระทบจากนโยบายอื่นทั้งเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม หรือนโยบายอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน รวมไปถึงการประกาศนโยบายที่จำเป็นด้านสาธารณสุขของประเทศในอนาคต อันจะไปขัดขวางการทำกำไรของนักลงทุนต่างชาติ เหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นผลกระทบสำคัญที่มากไปกว่าการคำนึงถึงประเด็นด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว และเป็นผลกระทบที่ไม่อาจเยียวยาและแก้ไขได้หากได้ตัดสินใจใดๆไปแล้ว

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว รองประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งที่กระทรวงสาธารณสุข จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หน่วยวิชาการด้านสาธารณสุขของประเทศ และภาคประชาชนในการทำการประเมิน ผลกระทบด้านสุขภาพอย่างรอบด้าน โดยยึดหลักเกณฑ์การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ Health Impact Assessment (HIA) ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ดังที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เคยร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเคยทำได้อย่างดีมากในการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป จนเป็นการประเมินผลสุขภาพในการเจรจาการค้าที่เป็นแบบอย่างของประเทศต่างๆ และยังนำไปสู่การร่วมพัฒนาเนื้อหาการเจรจาและจุดยืน ระหว่างภาคราชการ ภาคประชาชนและภาควิชาการ ตลอดการเจรจาทั้ง 6 รอบ ซึ่งกระบวนการทำ HIA นี้ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และกระทรวงพาณิชย์ควรทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด

“ข้อมูลล่าสุดคือ ประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกของ TPP ได้ประสานมายังสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ให้ช่วยสนับสนุนเชิงวิชาการในการทำ HIA ของเวียดนามเอง และออสเตรเลียได้เริ่มกระบวนการทำ HIA แล้ว สำหรับประเทศไทยถือเป็นโอกาสดี หากจะเร่งประเมินผลกระทบก่อนที่จะตัดสินใจใดๆลงไป รวมถึงการจัดให้มีการรับฟังความเห็นจากประชาชนอย่างรอบด้าน ก่อนมีการตัดสินใจเข้าร่วมในภาคีหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค (TPP) เพราะการดำเนินการด้านนโยบายระดับใหญ่ที่มีผลผูกพันต่อเนื่อง ควรต้องคำนึงถึงกระบวนการมีส่วนร่วม และการรับฟังความเห็นจากประชาชนทุกกลุ่ม และควรเป็นการดำเนินการภายใต้การตัดสินใจของรัฐบาลและรัฐสภาที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริงเท่านั้น" นายอภิวัฒน์ กล่าว