ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ : กลุ่มธุรกิจนอกโรงพยาบาลเครือร.พ.กรุงเทพ ลุยลงทุนต่อเนื่อง ทั้งร้านขายยา โรงงานผลิตยา และแล็บ เซ็นเตอร์ ปั้นรายได้โตปีละ 35% ทะลุ 1 หมื่นล้าน เร็วกว่าแผนเดิม คาดทำได้ภายใน 3 ปี หลังเทรนด์ผู้บริโภคหันใส่ใจดูแลสุขภาพก่อนเจ็บป่วย  เดินหน้าปักธงทำตลาดทั้งเมืองชายแดนและอาเซียน

นายณรงค์ฤทธิ์ กาละพุฒ

นายณรงค์ฤทธิ์ กาละพุฒ ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจสนับสนุนโรงพยาบาล บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ บีดีเอ็มเอส ผู้บริหารเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ได้เตรียมการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ในทุกธุรกิจที่ไม่ใช่โรงพยาบาล ได้แก่  ร้านขายยาเซฟดรัก (Save Drug) โรงงานผลิตยา และกลุ่มธุรกิจห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ (Lab) เพื่อผลักดันให้แผนธุรกิจระยะ 5 ปี มีรายได้ 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มธุรกิจสนับสนุนโรงพยาบาล หรือกลุ่มธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่การรักษาพยาบาล เพราะเป็นธุรกิจต้นน้ำที่เข้ามาเสริมให้ธุรกิจโรงพยาบาลครบวงจรของซัพพลายเชน และเป็นธุรกิจที่ให้ผลกำไรที่ดีกว่าธุรกิจการรักษาพยาบาล

"ในปีที่ผ่านมา รายได้กลุ่มธุรกิจที่ไม่ใช่โรงพยาบาลมีรายได้ 4 พันล้านบาท เติบโต 36% ซึ่งเป็นผลจากการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และเป็นเทรนด์ปัจจุบันที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพก่อนเจ็บป่วย โดยในระยะ 3 ปี หรือตั้งแต่ปี 2558  เป็นต้นไปได้วางเป้าหมายการเติบโตอย่างต่อเนื่องปีละ 35% ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่รายได้  1 หมื่นล้านบาท จะทำได้เร็วกว่าแผนเดิมที่กำหนดไว้ในระยะ 5 ปี"

ทั้งนี้ บริษัทในเครือที่ดำเนินธุรกิจนอกเหนือจากการรักษาพยาบาล อาทิ กลุ่มบริษัทผลิตและจำหน่ายยา น้ำเกลือ และวัสดุภัณฑ์ทางการแพทย์ ได้แก่ บริษัท เอ.เอ็น.บี.ลาบอราตอรี่ (อำนวยเภสัช) จำกัด บริษัท สหแพทย์เภสัช จำกัด และบริษัท รอยัล บางกอก เฮ็ลธ์แคร์ จำกัด ผลิตและจำหน่ายยา น้ำเกลือ และวัสดุภัณฑ์ทางการแพทย์ กลุ่มบริษัทขายยาและเวชภัณฑ์ ได้แก่ บริษัท เซฟดรัก จำกัด (ถือหุ้นโดยบริษัท กรุงเทพเซฟดรัก จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย 100% ของบริษัท) และกลุ่มบริษัทดำเนินธุรกิจห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ (Lab) ได้แก่ บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเต็มส์ จำกัด หรือ เอ็น เฮลท์ (N Health)

สำหรับแผนการลงทุนธุรกิจร้านยา เซฟ ดรัก (Save Drug) ในปีนี้จะขยายสาขาเพิ่ม 50 แห่ง ลงทุน 1.5 ล้านบาทต่อสาขา จากปัจจุบันมีสาขาทั้งสิ้น 107 แห่ง และเตรียมเปิดโรงงานผลิตยาแห่งใหม่อีก 1 โรงงาน ที่นิคมอุตสาหกรรมสินสาคร ที่มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่าตัว เนื่องจากโรงงานเดิมเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิตแล้ว ทำให้ปีนี้ธุรกิจโรงงานยาจะมีอัตราการเติบโต 20% จากปัจจุบันมียอดขาย 2 พันล้านบาท ส่วนเอ็น เฮลท์ ซึ่งมีแผนขยายแล็บเซ็นเตอร์ที่อยู่นอกโรงพยาบาลเพิ่มอีก 10 แห่ง ลงทุน 2 ล้านบาทต่อสาขา จากปัจจุบันมีสาขา 9 แห่ง

"ปีนี้วางแผนเปิดสาขาเอ็น เฮลท์ พร้อมกับร้านยา เซฟ ดรัก ให้เป็นศูนย์รวมด้านสุขภาพ หรือ Integrated Healthcare Center และจะเปิดสาขาร้านยา เซฟ ดรัก อย่างเดียวอีกหลายสาขาทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย เพราะต้องการเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น โดยหวังว่าจะช่วยให้ผู้คนหันมาดูแลสุขภาพก่อนเจ็บป่วยได้สะดวกขึ้น ล่าสุดเปิดศูนย์บริการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์เอ็นเฮลท์และร้านยาเซฟ ดรัก ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อสนับสนุนบริการทางการแพทย์ครบวงจรแห่งแรก ซึ่งทางเอ็น เฮลท์ได้เริ่มตั้งแล็บ เซ็นเตอร์ รูปแบบสแตนด์อะโลน ที่อยู่นอกโรงพยาบาลตั้งแต่ปีที่ผ่านมาในจังหวัดต่างๆ อาทิ จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดเชียงใหม่  และอำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง เป็นต้น"

สำหรับแผนรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี บริษัทวางแผนเปิดศูนย์บริการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์ตามหัวเมืองชายแดนของประเทศไทย เพื่อรองรับการใช้บริการของลูกค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ล่าสุดได้เปิดให้บริการแห่งแรกที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และวางแผนเปิดอย่างต่อเนื่อง อาทิ จังหวัดสระแก้ว จังหวัดเชียงราย จังหวัดจันทบุรี เป็นต้น ขณะเดียวกันยังวางแผนเข้าไปเปิดสาขาในต่างประเทศด้วย

"เป้าหมายรายได้หมื่นล้านบาท ไม่ได้มองเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ยังมองตลาดในอาเซียนด้วย เพราะมีสาขาเอ็น เฮลท์ ในกัมพูชา ที่เปิดให้บริการมา 1 ปีถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีมาก มีแผนขยายสาขาต่อไปยังอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งใช้งบประมาณการลงทุนมากกว่าประเทศไทย 1.5 เท่า ขณะที่ประเทศเดิมจะขยายเพิ่ม เช่น ในมัณฑะเลย์ และเสียมราฐ โดยคาดว่าในระยะ 3 ปีจะขยายสาขาครบ 10 ประเทศ ส่วนร้านเซฟ ดรัก  มีแผนขยายไปที่พนมเปญ แห่งแรก เป็นไพรอตโปรเจ็กต์ คาดว่าจะใช้งบลงทุน 3-4 ล้านบาท และคาดว่าจะขยายครบ 10 สาขาใน 3 ปี ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ในต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วน 1% คาดว่าในปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 5% และในปีหน้าจะเพิ่มเป็น 10%"

ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 28 - 30 ม.ค. 2559

เรื่องที่เกี่ยวข้อง