ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อย.ขยายเวลารับฟังความคิดเห็น การทบทวนปรับประเภทยาต้านจุลชีพตามแนวทางองค์การอนามัยโลกเพื่อคุมยาปฏิชีวนะ พร้อมเสนอมาตรการคุมยาต้านแบคทีเรียที่ใช้สำหรับมนุษย์ ระบุเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในความคิดเห็นและเสนอแนะแนวทางการควบคุมต้านจุลชีพในมนุษย์อย่างเหมาะสมต่อไป

นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยพบปัญหาเชื้อดื้อยาเป็นจำนวนมาก โดยมีรายงานการวิจัยประเมินผลกระทบสรุปว่า ในแต่ละปีมีคนไทยติดเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาประมาณ 88,000 คน เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา 38,000 คน ทั้งนี้ในด้านเศรษฐกิจประมาณการว่าประเทศไทยยังสูญเสียทางเศรษฐกิจจากปัญหาแบคทีเรียดื้อยาทั้งทางตรงและทางอ้อมสูงถึง 6,000 ล้านบาท และ 40,000 ล้านบาท ตามลำดับ

ปัญหานี้กำลังจะเป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขหากไม่ได้ควบคุมและจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในขณะนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทยที่ครอบคลุมทุกมิติ โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะหน่วยงานที่มีพันธกิจในการกำกับดูแลการกระจายและการใช้ยาต้านจุลชีพ จึงเริ่มขับเคลื่อนกระบวนการทบทวนการจัดประเภทยา [Reclassification] ตามแนวทางสากลในการควบคุมยาปฏิชีวนะขององค์การอนามัยโลก [World Health Organization : WHO] โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้เสนอมาตรการควบคุมยาต้านแบคทีเรียที่ใช้สำหรับมนุษย์ เข้าสู่ขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะ เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะแนวทางการควบคุมยาต้านจุลชีพในมนุษย์อย่างเหมาะสมต่อไป

นพ.บุญชัย กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ในมิติด้านเศรษฐกิจ การเข้าถึงยา การประกอบวิชาชีพของบุคลากร ดังนั้น อย. จึงขอ “ขยายเวลา” ในการรับฟังความคิดเห็นก่อนการตัดสินใจ จนกว่าจะมีความชัดเจนในชุดมาตรการที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับบริบทของประเทศ รวมทั้งมีแนวทางในการลดผลกระทบทางลบที่รอบด้าน สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย

นพ.บุญชัย กล่าวว่า ในระหว่างการขยายเวลารับฟังความคิดเห็นนี้ อย.จะดำเนินกระบวนการทำเวทีวิชาการระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ให้กว้างขวาง ทั้งนักวิชาการ ผู้ประกอบการวิชาชีพสาขาต่างๆ เครือข่ายผู้บริโภค ผู้บังคับใช้กฎหมาย สภาวิชาชีพ โดยหลังจากได้ข้อสรุปที่เหมาะสมแล้ว จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ และคณะกรรมการยา แล้วจึงประกาศใช้ต่อไป

“อย.ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจ เนื่องจากการขยายเวลาการรับฟังความคิดเห็นออกไป จะทำให้ได้รับมาตรการที่เหมาะสม และปฏิบัติได้จริง ภายใต้บริบทของประเทศไทยในขณะนี้” เลขาธิการ อย. กล่าว