ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอเจตน์” ระบุ UHC ไทยมาถูกทาง องค์กระหว่างประเทศใช้เป็นทิศทางนำประเทศพัฒนา แต่ชี้ไทยเดินเร็วไป ทำรัฐบาลและกระทรวงอื่นตามไม่ทัน เกิดปัญหาต่อระบบ ส่วนสถานการณ์งบไม่พอยังเกิดต่อเนื่อง แต่ถูกซ่อนไว้จากสถานการณ์สงบ รพ.ยังเดือดร้อนรัดเข็มขัด ขณะที่นโยบายเขตสุขภาพ สธ.เป็นเพียงการซื้อเวลา หวั่นขยายเป็นปัญหางบระดับเขตในที่สุด แนะหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งหมดร่วมส่งเสียงงบไม่พอ กระตุ้นรัฐจัดสรรเพิ่ม พร้อมหาวิธีหนุนงบทำระบบยั่งยืน ทั้งจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม การเพิ่มภาษีบาป แต่ฟันธงไม่มีรัฐบาลไหนกล้าทำ ต้องรอสถานการณ์สุกงอม

เมื่อวันที่ 17 ก.พ.59 ในการสัมมนา “ทิศทางบัตรทอง ก้าวต่ออย่างไรให้มั่นคง” จัดโดยคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สนช. กล่าวบรรยาย “สถานการณ์ปัจจุบันของระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย” ว่า สถานการณ์ระบบสาธารณสุขที่ผ่านมา การบริหารระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage : UHC) ดูเหมือนจะสงบลงและมองว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่จากที่ สปสช.เสนอของบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2559 และถูกตัดไปถึง 6,000 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นปัญหางบประมาณไม่เพียงพอที่ถูกซ่อนไว้ และหากยังเป็นแบบนี้ โรงพยาบาลเองจะเดือดร้อนในการรัดเข็มขัด รวมถึงรัฐบาล ซึ่งปี 2560 งบประมาณประเทศ 2.73 ล้านล้านบาท ยังไม่ทราบว่าจะจัดสรรงบเหมาจ่ายเท่าไหร่ แต่เมื่อเปรียบเทียบงบสุขภาพในหลายประเทศ ไทยยังเป็นสัดส่วนน้อยมากและยังปรับเพิ่มได้อีกแม้ว่าประเทศจะติดขัดด้านงบประเทศก็ตาม หากรัฐให้ความสำคัญต่อสุขภาพประชาชน  

นพ.เจตน์ กล่าวว่า ในปี 2559 เป็นปีที่ทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลง โดยองค์กรระหว่างประเทศได้นำระบบ UHC มาเป็นทิศทางเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นองค์การอนามัยโลก องค์การสหประชาชาติ กองทุนโลก และองค์การความร่วมมือระหวางประเทศแห่งญี่ปุ่น รวมถึงการประชุมต่างๆ ในเวทีโลก ทั้งมีการเทน้ำหนักการช่วยเหลือประเทศยากจนในเรื่องนี้ สะท้อนว่านโยบาย UHC ของไทยมาถูกทาง แต่จากการประเมินนโยบายตั้งแต่ปี 2545 มองว่าเป็นการเดินที่เร็วเกินไป เพราะแม้จะได้รับการสรรเสริญว่าเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ แต่เป็นระบบที่บีบให้โรงพยาบาลต้องทำ ขณะเดียวกันทั้งรัฐบาลและกระทรวงอื่นๆ ก็ยังตามไม่ทันเช่นกันกับการบริหารรูปแบบใหม่ ทั้งการจัดงบเหมาจ่ายรายหัว การจัดงบรวมเงินเดือน เป็นต้น จึงทำให้เกิดปัญหาอย่างที่เป็นอยู่ รวมทั้งยังเกิดสถานการณ์โรบินฮู้ดที่โรงพยาบาลเบิกจ่ายค่ารักษาระบบสวัสดิการข้าราชการเพื่อชดเชยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ตอนนี้โรงพยาบาลทำตัวโรบินฮู้ดไม่ได้แล้ว เพราะกรมบัญชีกลางได้ควบคุมค่ารักษาข้าราชการต่อเนื่องถึง 8 ปีแล้ว

“คงไม่มีใครเสนอให้ยกเลิก UHC และคงล้มไม่ได้ เพราะป็นระบบที่ประชาชนพึงพอใจมากที่สุด แต่เราจะทำอย่างไรให้ระบบเกิดความยั่งยืน ซึ่งคงไม่มีอะไรดีกว่าการเพิ่มเงินเข้าสู่ระบบ โดยกระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาในเรื่องนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีมีคุณภาพ ขณะที่การบริหารจัดการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำลังก้าวเข้าสู่การปรับระบบที่ดีขึ้น ซึ่งดีกว่าในสมัยของนักการเมือง” ประธาน กมธ.สาธารณสุข สนช. กล่าว

นพ.เจนต์ กล่าวว่า ส่วนที่มีการพูดถึงการร่วมจ่าย Co-payment นั้น ที่ถูกต้องใช้คำว่า Cost Sharing ที่เป็นการเฉลี่ยต้นทุนเท่าที่ใช้จริงด้วยการนำเงินสู่ระบบด้วยวิธีการอื่นๆ เพราะหากให้ประชาชนร่วมจ่ายที่จุดบริการ นอกจากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากแล้ว ยังทำให้ความเสมอภาคในกองทุน UHC หายไปจากการจัดชั้นผู้ที่ต้องร่วมจ่ายและไม่ร่วมจ่าย ส่งผลให้ความภาคภูมิใจประชาชนต่อ UHC และสิทธิมนุษยชนในหายไป อย่างไรก็ตามจากบทเรียนของการจัดระบบสวัสดิการของประเทศญี่ปุ่น พบว่ามีการใช้งบประมาณสูงถึงร้อยละ 32.7 ของงบประมาณประเทศ เพื่อดำเนินระบบรักษาพยาบาล กองทุนบำเหน็จบำนาญ และการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ซึ่งเป็นภาระงบประมาณประเทศอย่างมาก ประเทศญี่ปุ่นจึงมีการเพิ่มการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในการนำมาจัดสวัสดิการเหล่านี้ทั้งหมดให้กับประชาชน โดยในส่วนของประเทศไทยวันหนึ่งรัฐบาลคงต้องทำเช่นกัน เพียงแต่วันนี้สถานการณ์ยังไม่สุกงอมที่จะทำ

ทั้งนี้ ขณะนี้ที่ทำได้คือการบริหารเขตบริการสุขภาพที่ สธ.กำลังดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหางบประมาณอยู่ โดยให้มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันและเกิดประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกันยังมีการส่งงบประมาณไปยังเขตส่วนหนึ่งเพื่อให้บริการจัดการกันเอง อย่างไรก็ตามมองว่าเป็นเพียงวิธีการซื้อเวลาระยะหนึ่งเท่านั้น อีกทั้งจากเดิมที่เคยมีปัญหางบระดับจังหวัด สุดท้ายก็จะขยายเป็นปัญหางบประมาณระดับเขตแทน และในท้ายที่สุดก็ต้องมีการหาวิธีเพื่อให้ระบบ UHC มีงบเพียงพอ เพราะเราคงปล่อยให้ระบบนี้ล้มไปไม่ได้ ทั้งนี้นอกจากการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว การนำงบประมาณจากการเพิ่มภาษีบาป เพื่อมาสนับสนุนเป็นอีกหนึ่งวิธี ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเพิ่มจัดเก็บภาษีส่วนนี้เพื่อนำไปสนับสนุนกองทุนกีฬาแห่งชาติ

“ประเด็นใหญ่ขณะนี้คือเราต้องหาเงินมาในระบบ เพียงแต่อาจจะยังไม่เกิดขึ้นในวันนี้ และคงไม่มีรัฐบาลไหนๆ จะกล้าประกาศจัดเก็บภาษีเพื่อนำมาเพิ่มเติมหากสถานการณ์ไม่สุกงอม ส่งผลให้ขณะนี้สถานพยาบาลส่วนใหญ่ต่างอึดอัดอย่างมากต่อภาวะที่เป็นอยู่ เพื่อบริการไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องร่วมกันส่งเสียงไปยังรัฐบาลว่างบ UHC ไม่พอ และจะทำให้คุณภาพการรักษาประชาชนลดลง จึงต้องช่วยกันกระตุ้นให้รัฐบาลหันมาสนใจต่อการดูแลสุขภาพประชาชน”  

นพ.เจนต์ กล่าวทิ้งท้ายว่า วันนี้ UHC ไทยเดินมาไกลและเร็วมาก และการที่หน่วยงานอื่นในประเทศเดินตามไม่ทันก็เป็นปัญหา แต่ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพถึงร้อยละ 99 แต่การเข้าถึงบริการนี้ มีคำถามว่าเป็นการเข้าถึงคุณภาพและบริการหรือไม่ ได้รับการดูแลที่ดีหรือไม่ หรือเข้ามาได้เพียงแค่รั้วโรงพยาบาลเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องหาทางออกในเรื่องนี้