ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอวัฒนา” เผยผลการหารือร่วมกับ สตง.มีความเข้าใจและข้อปฏิบัติชัดเจนขึ้น ยืนยัน สตง.ชี้ อปท.จัดรถรับ-ส่งนักเรียนในศูนย์เด็กเล็กสามารถทำได้ ส่วนกรณีใช้รถฉุกเฉินรับ-ส่งผู้ป่วยโรคเรื้อรัง สามารถทำได้ แต่ให้เขียนคำจำกัดความของรถฉุกเฉินให้ชัดเจน เพื่อการใช้งานที่คุ้มค่ามากขึ้น ระบุตรวจสอบเพื่อความโปร่งใสของราชการ คำนึงถึงบริบท ไม่ให้กระทบและสร้างความลำบากให้ประชาชน

ขอบคุณภาพจาก www.kkphc.com

สืบเนื่องจากกรณีที่สำนักข่าว Health Focus ได้รายงานข่าวจากการให้สัมภาษณ์ของ ทพ.วัฒนา ทองปัสโณว์ หัวหน้ากลุ่มงานทันตกรรม รพ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก ว่า สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ท้วงติงห้ามไม่ให้เทศบาลตำบลเนินกุ่ม อำเภอบางกระทุ่มจัดรถรับส่งแก่นักเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้ง 3 แห่งในสังกัดของเทศบาล และการห้ามมิให้นำรถฉุกเฉินมาให้บริการรับส่งผู้ป่วยโรคเรื้อรังนั้น

มีรายงานล่าสุดว่า จากประเด็นดังกล่าว ได้มีการประชุมหารือระหว่างผู้เกี่ยวข้องที่สำนักตรวจเงินแผ่นดินที่ 10 จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2559

ทั้งนี้ ทพ.วัฒนา กล่าวภายหลังการประชุมว่า ทาง สตง.ยืนยันว่ากรณีรับส่งรถนักเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทางเทศบาลหรือองค์การส่วนบริหารส่วนตำบล (อบต.) สามารถดำเนินการได้ โดยเทียบเคียงกับหนังสือข้อหารือของกรมส่งเสริมการปกครอง ที่ทำถึงผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2549 เรื่องขอหารือแนวทางการปฏิบัติโครงการจ้างเหมารถรับส่งนักเรียน กรณี อบต.เขาท่าพระ จ้างเหมารถรับ-ส่ง เด็กก่อนวัยเรียนของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ว่าหากมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสังคมสงเคราะห์ ประกอบกับได้ป่านความเห็นชอบของประชาคม ก็ถือว่าเป็นภารกิจที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ อบต.เขาท่าพระ ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 มาตรา 16 (10) ที่จะสามารถดำเนินการได้ โดยถือปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ มท 0313.4/ว ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2541

ทพ.วัฒนา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ทราบว่า เรื่องดังกล่าวอาจจะเกิดจากความไม่ชัดเจนในการสื่อสารของทาง สตง.เอง รวมถึงการรับสารในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้หลายที่ๆ ต้องการดำเนินการในขณะที่ยังไม่ชัดเจนในข้อระเบียบที่จะดำเนินการได้ จึงทำให้ยังไม่กล้าดำเนินการ

“แต่นับต่อแต่นี้ จากการประชุมกับ สตง.มีความชัดเจนว่า ขอให้ อปท.ทุกแห่งมั่นใจว่าการจัดรถรับส่งแก่นักเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัดของเทศบาล สามารถดำเนินการได้ตามความจำเป็นและไม่เป็นภาระกับงบประมาณของท้องถิ่น ส่วนกรณีรถฉุกเฉินที่จะนำมาให้บริการรับส่งผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ติดขัดเรื่องระเบียบนั้น อาจต้องเขียนคำจำกัดความของรถฉุกเฉินให้ชัดเจนขึ้นในความหมายเชิงกว้างว่าจะใช้ในกรณีใด กับกลุ่มเป้าหมายใดได้บ้าง ภายใต้ทรัพยากรของท้องถิ่นที่มีจำกัดเอง ซึ่งจะทำให้การใช้งานรถฉุกเฉินเกิดความคุ้มค่ามากขึ้น” ทพ.วัฒนากล่าว และว่า ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ผู้บริหารระดับสูงของ สตง. ยืนยันว่าในการทำหน้าที่เพื่อตรวจสอบความโปร่งใสของระบบราชการ จะใช้ระเบียบกฎเกณฑ์อย่างสร้างสรรค์ คำนึงถึงบริบท และที่สำคัญที่สุดจะไม่ให้ส่งผลกระทบสร้างความลำบากให้กับประชาชน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง