ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สช.ลงนามบันทึกความตกลง มธ.สานต่อการพัฒนาวิชาการหมวดสิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน อาทิ สิทธิการทำหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาพยาบาล และการคุ้มครองข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล ด้าน อธิบการบดี มธ. เผยทุ่มงบ 250 ล้านบาท สร้างศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย หวังให้จากไปอย่างสงบ สอดคล้องกับ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ คาดแล้วเสร็จอีก 2 ปีข้างหน้า

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2559 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือตาม โครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านสิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 เป็นระยะเวลา 3 ปี  ณ ห้องจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง สช. และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งเน้นการพัฒนาวิชาการตามกฎหมายด้านสุขภาพ โดยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน และในการลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ ถือเป็นการส่งเสริมให้สาธารณชนได้รับรู้ถึงความก้าวหน้า และเป็นการพัฒนาเนื้อหาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันในหมวดที่ว่าด้วย “สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ

นพ.อำพล กล่าวว่า มาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ให้สิทธิบุคคลในการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ ซึ่งทุกฝ่ายสามารถนำความรู้จากกฎหมายในมาตรานี้ และพัฒนาการที่เกิดขึ้นจริงๆ ในระบบสุขภาพ มาเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการเรียนรู้ของสังคมไทยให้มากยิ่งขึ้น

“ขณะเดียวกัน ก็มีบางมาตราอาจนำไปสู่การเสนอแนะและแก้ไข อาทิ มาตรา 7 ที่กำหนดให้ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล เป็น ความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยจนทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมาอาจมีบางประเด็นที่ถูกตีความกฎหมายแคบเกินไป ดังนั้น โครงการความร่วมมือครั้งนี้ จะทำให้เห็นว่า มีประเด็นใดบ้างที่ตกหล่นหรือยังขาดอยู่ ซึ่งนำไปสู่การเสนอแนะเพื่อแก้กฎหมายต่อไป”

ด้าน .สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะเข้ามาดำเนินการเผยแพร่สาระสำคัญของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ในหมวดสิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ หลังจากที่ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ได้บังคับใช้มาแล้ว 9 ปี เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจสาระสำคัญของกฎหมายให้มากขึ้น

“ความร่วมมือระหว่าง สช.และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครั้งนี้ จะนำไปสู่การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายด้านสุขภาพ และ จริยศาสตร์ทางสุขภาพ มากขึ้น ช่วยส่งผลให้ปัญหาทางสุขภาวะของคนไทยลดลง” 

ศ.สมคิด กล่าวอีกว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำลังดำเนินโครงการ ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ เพื่อเป็นศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยใช้งบประมาณ 250 ล้านบาท จะแล้วเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า เพื่อรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์มาดูแลอย่างครบวงจร ภายใต้การวินิจฉัยจากแพทย์ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา 12 ที่ระบุให้ บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยึดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต และแนวโน้มของนานาประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

“ปัจจุบัน รพ.ธรรมศาสตร์ ยังไม่มีการดูแลในลักษณะดังกล่าวอย่างเป็นระบบ โครงการนี้จึงถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม ที่จะทำให้ผู้ป่วยที่เสียชีวิตได้จากไปอย่างสงบ โดยมหาวิทยาลัยต้องใช้งบประมาณค่อนข้างมาก ทั้งเรื่อง ยา บุคลากรทางการแพทย์ และบุคลกรที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อาทิ นักจิตวิทยา และศูนย์การแพทย์ซึ่งรองรับได้เพียง 20 เตียงเท่านั้น จึงต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะครอบครัวผู้ป่วย ที่จะทำให้ทุกอย่างดำเนินการได้อย่างราบรื่นที่สุด”