ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ระบบบริการปฐมภูมิเขตเมือง ที่เข้มแข็ง มีส่วนร่วม ต่อเนื่อง และเชื่อมโยงกัน” ถือเป็นเจตนารมณ์เริ่มต้น สำหรับ คณะทำงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติประเด็น “ระบบสุขภาพเขตเมือง: การพัฒนาระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม” ที่มี นพ.ชวินทร์ ศิรินาค เป็นประธาน

นพ.ชวินทร์ ศิรินาค

คณะทำงานฯ ได้มีการประชุมล่าสุด เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา โดยมีภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนเข้าร่วม เพื่อขับเคลื่อนการทำงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2558

นพ.ชวินทร์ กล่าวว่า หลังจากนี้ จะเริ่มยกร่างแผนยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมือง โดยให้หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ส่งต่อข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ “ระบบบริการปฐมภูมิ” เพื่อนำมาปรับปรุงระบบบริการสุขภาพขั้นต้น ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถประสานข้อมูลและส่งต่อผู้ป่วยระหว่างสถานพยาบาลในพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างคล่องตัว

ที่ประชุมมอบหมาย สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนย.) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นหลักในการยกร่าง จากนั้นนำร่างยุทธศาสตร์ มาหารือในที่ประชุมอีกครั้ง วันที่ 22 เมษายนนี้ เพื่อไปสู่การวางแผน และหารือกับผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงจัดตั้ง “คณะกรรมการระดับชาติ” จัดทำแผนยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพเขตเมืองให้แล้วเสร็จภายในเดือน มิถุนายน 2559

“หลังจากได้โครงร่างของยุทธศาสตร์แล้ว ต้องเปิดเวทีให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนมาให้ความเห็น และร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติฯ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพราะเป้าหมายที่เราต้องการ คือ การปรับปรุงระบบการบริการปฐมภูมิในเขตเมืองในพื้นที่ต่างๆ ที่มีความหลากหลาย ทั้งโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน รวมถึงคลินิกเอกชน ให้ชัดเจน ครบวงจร ลดปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างสถานพยาบาลที่ติดขัดมาโดยตลอด ซึ่งหลายกรณี ทำให้เกิดภาระกับประชาชน จนมีการร้องเรียนเป็นจำนวนมาก” นพ.ชวินทร์ กล่าว

สำหรับการส่งเสริมให้เกิดงานวิจัย เพื่อนำไปเป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางยุทธศาสตร์ และพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิเขตเมืองแบบมีส่วนร่วมนั้น ผู้แทนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) รายงานว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าตามลำดับ โดยมอบให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาวิจัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นกรณีศึกษา

ทั้งนี้ ทางคณะทำงานฯ เสนอให้มีการขยายขอบเขตการศึกษาออกไปในเขตเมืองของพื้นที่อื่นๆ ต่อไปด้วย

ในช่วงท้ายของการหารือ พญ.ประนอม คำเที่ยง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะที่ปรึกษา ได้ย้ำเตือนให้ที่ประชุมรับทราบว่า การทำงานของคณะทำงานฯ จะเชื่อมประสานกับการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้เป้าประสงค์ของรัฐบาลชุดนี้ ที่ต้องเห็นการปฏิรูประบบสาธารณสุขของทั้งประเทศ