ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เผยโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งในจังหวัดชัยนาท ให้บริการผู้ป่วยกระดูกหักที่ไม่เคลื่อนที่ได้ ด้วยการฝึกอบรมแพทย์เพิ่มพูนทักษะ จัดระบบการปรึกษาทางโทรศัพท์/ทางไลน์ ช่วยลดการส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาลจังหวัดได้ร้อยละ 37  

วันนี้ (8 กรกฎาคม 2559) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 3 ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานและการพัฒนาระบบบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่โรงพยาบาลชัยนาทนเรนทร โรงพยาบาลสรรคบุรี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดงคอน จังหวัดชัยนาท โดยเขตสุขภาพที่ 3 ประกอบด้วย จังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี และชัยนาท

นพ.ปิยะสกล ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข  มีนโยบายที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งของระบบบริการสุขภาพ ใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน เน้นการบริการเชิงรุกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของตนเอง และสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึง ครอบคลุม มาตรฐานเดียวกัน ด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม หรือ “ประชารัฐ” ช่วยให้ระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยมีความยั่งยืน นำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดบริการ อาทิ ระบบนัดล่วงหน้า จัดแพทย์ออกตรวจก่อนเวลาราชการ เปิดคลินิกนอกเวลาราชการและวันหยุดราชการ

รวมทั้งร่วมมือกับองค์ส่วนท้องถิ่น ขยายบริการไปยังศูนย์สาธารณสุขชุมชนเมือง เป็นต้น ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบบริการตามแผนพัฒนาระบบบริการ (Service plan) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การเข้าถึงบริการ ลดอัตราการเกิดโรค ลดอัตราการตาย ลดการส่งต่อ และลดค่าใช้จ่าย เช่น จังหวัดชัยนาท ได้มีการดำเนินการพัฒนาระบบบริการตามแผนพัฒนาระบบบริการ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและความแออัดในโรงพยาบาลใหญ่ ดังนี้

1.พัฒนาระบบการให้บริการผู้ป่วยกระดูกหักที่ไม่เคลื่อนที่ โดยโรงพยาบาลชัยนาทนเรนทร ร่วมกับโรงพยาบาลชุมชน 8 แห่ง ฝึกอบรมแพทย์เพิ่มพูนทักษะ การปรึกษาทางโทรศัพท์/ แอพพลิเคชันไลน์ เพื่อลดการส่งต่อผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดมายังโรงพยาบาลชัยนาทนเรนทร รวมทั้งมีโครงการออร์โธปิดิกส์สัญจรไปยังโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง สามารถลดจำนวนผู้ป่วยที่ส่งต่อโดยไม่จำเป็นได้ร้อยละ 37 ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถรับบริการที่มาตรฐานในพื้นที่ ลดการส่งต่อ และความความแออัดอย่างได้ผล

2.พัฒนาโรงพยาบาลสรรคบุรี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็กให้สามารถทำการผ่าตัดได้ ไม่ต้องส่งต่อผู้ป่วยในเครือข่ายอำเภอสรรคบุรีและอำเภอใกล้เคียงมาผ่าตัดที่โรงพยาบาลจังหวัด โดยโรงพยาบาลชัยนาทนเรนทร สนับสนุนศัลยแพทย์บริการทั้งผู้ป่วยนอกและการผ่าตัด ที่สำคัญยังเป็นแบบอย่าง “โรงพยาบาลประชารัฐ” ที่ทุกฝ่ายร่วมกันพัฒนาและดูแล ซึ่งนอกจากจะได้รับการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐ ในการจัดหาครุภัณฑ์ในการจัดบริการผ่าตัด อาทิ โคมไฟผ่าตัด เครื่องจี้ห้ามเลือดไฟฟ้าแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่ เช่น พระครูวิจิตรชยานุรักษ์ (หลวงพ่อพร้า) ได้บริจาคเตียงผ่าตัดราคา 730,000 บาท ทำให้สามารถขยายบริการด้านศัลยกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยเข้าถึงบริการรวดเร็วมีปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาการรักษาด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกแบบครบวงจร เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนอีกด้วย