ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ยื่นคัดค้าน คำขอสิทธิบัตรยาไวรัสตับซีเม็ดละ 3 หมื่นบาท ใช้กฎหมายสิทธิบัตรปลดล็อคการผูกขาดตลาด เปิดโอกาสให้องค์การเภสัชกรรมและบริษัทยาชื่อสามัญรายอื่นสามารถผลิตยาและขายได้ในราคาที่เป็นธรรม และมียาดังกล่าวอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 ส.ค.ตัวแทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทยและมูลนิธิเข้าถึงเอดส์เข้ายื่นคำคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรของยาโซฟอสบูเวียร์ ยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี ที่มีราคาแพงกว่า 2.5 ล้านบาทต่อการรักษาหนึ่งคนในสหรัฐฯ โดยหวังพึ่งกฎหมายสิทธิบัตรปลดล็อคการผูกขาดตลาด เปิดโอกาสให้องค์การเภสัชกรรมและบริษัทยาชื่อสามัญรายอื่นสามารถผลิตยาและขายได้ในราคาที่เป็นธรรม และมียาดังกล่าวอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ

ทั้งนี้ตัวแทนของทั้ง 2 องค์กรได้ใช้มาตรการคัดค้านก่อนได้รับสิทธิบัตร มาตรา 31 ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 ขอใช้สิทธิ์คัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรยาโซฟอสบูเวียร์ เลขที่ 0801001634 ที่ยื่นขอรับสิทธิบัตรในไทยโดยบริษัทยาสัญชาติอเมริกัน ที่ใช้ชื่อว่ากลิลีด ฟาร์มาสเซ็ท แอลแอลซี หรือกิลิแอด ทั้งนี้ ทั้ง 2 องค์กรได้ยื่นเอกสารคำคัดค้านและหลักฐานจำนวนมากกว่า 1,000 หน้าต่อเจ้าหน้าที่ของสำนักสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้สำนักสิทธิบัตรพิจารณา โดยหวังว่าทางสำนักฯจะไม่รับพิจารณาคำขอฯ ดังกล่าว

“ยาตัวนี้ไม่สมควรได้รับสิทธิบัตรเพราะไม่มีความใหม่และไม่มีนวัตกรรมที่สูงขึ้น เรามีหลักฐานที่พบในต่างประเทศ 13 ชิ้นที่ชี้แจงได้ว่า โครงสร้างทางเคมีของยาและขั้นตอนการประดิษฐ์หรือการสังเคราะห์ยานี้ขึ้นมา ถูกค้นพบและทำในต่างประเทศมานานแล้ว และเป็นที่รู้กันทั่วไปในหมู่วิชาชีพเภสัชกรรมว่า เทคโนโลยีที่ใช้ในการประดิษฐ์หรือผลิตยาตัวนี้เป็นความรู้ทั่วไปที่เภสัชกรรู้อยู่แล้วและได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่มาก่อนหน้านี้” นายนิมิตร์ กล่าว

นายอนันต์ เมืองมูลไชย ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ผู้ร่วมฟ้องคัดค้าน กล่าวเสริมว่า “เรายังพบความไม่โปร่งใสของการขอรับสิทธิบัตรในครั้งนี้ เพราะบริษัทที่มาขอรับสิทธิบัตรในประเทศไทยในวันที่ 28 มีนาคม 2551 นั้น ยังไม่ได้รับการโอนสิทธิจากผู้ประดิษฐ์ ซึ่งพบว่ามีการโอนสิทธิกันในภายหลังคือวันที่ 25 เมษายน 2551 จึงขัดต่อมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.สิทธิบัตร ดังนั้นในวันที่ 28 มีนาคม 2551 นั้น บริษัทกิลีแอด ย่อมไม่มีสิทธิในการดำเนินการใดๆ เพราะไม่ได้เป็นเจ้าของสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าว”

นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์เพื่อการเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ไม่ได้มีเพียงประเทศไทยประเทศเดียวที่มีการยื่นคัดค้าน ยังมีการคัดค้านในจีนและรัสเซีย ซึ่งทั้ง 2 ประเทศก็ปฏิเสธไม่ให้สิทธิบัตรกับยาตัวนี้ไปแล้ว ในขณะที่ยุโรป อินเดีย ยูเครน บราซิล และอาร์เจนตินา ก็มีผู้คัดค้านและอยู่ในกระบวนการพิจารณา ในขณะที่ยาโซฟอสบูเวียร์เป็นยาสำคัญที่จะใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีให้หายขาดได้โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องทนทุกข์กับผลข้างเคียงของยา แต่ยาตัวนี้ยังไม่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพของไทย เพราะมีราคาแพงมาก

“ปัจจุบัน เท่าที่เราค้นพบมีคำขอฯ ยาโซฟอสบูเวียร์ถึง 13 ฉบับ ผู้ยื่นฯ ละทิ้งคำขอไป 1 ฉบับ ยังไม่ประกาศโฆษณา 6 ฉบับ และประกาศโฆษณาแล้ว 6 ฉบับ ส่วนคำขอฯ ที่เราคัดค้านนั้นเป็น 1 ใน 6 ที่ประกาศโฆษณาแล้ว ซึ่งเราสามารถคัดค้านได้ทันภายใน 90 วันหลังประกาศโฆษณา ซึ่งนับว่าโชคดีมากที่พบคำขอนี้ เพราะระบบในปัจจุบันของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ยังมีช่องว่าง ทั้งกำหนดเวลาคัดค้านที่มีจำกัดมาก ในขณะที่ระบบการค้นคำขอยังมีปัญหา”

นายเฉลิมศักดิ์ กล่าวต่อว่า หากคัดค้านคำขอฯ นี้สำเร็จ จะช่วยให้องค์การเภสัชกรรมและบริษัทยาอื่นพอมีช่องทางที่จะผลิตยาตัวเดียวกันและขายในราคาที่ถูกกว่าเป็น 100 เท่าได้ อย่างที่อินเดียผลิตและขายยานี้ได้ในราคาเพียงเม็ดละร้อยกว่าบาท ในขณะที่อเมริกาขายอยู่ที่เม็ดละ 30,000 บาท

ด้าน นายนิมิตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การคัดค้านก่อนการออกสิทธิบัตรที่อยู่ในมาตรา 31 ของ พ.ร.บ.สิทธิบัตรมีความสำคัญ ที่ช่วยทำให้ระบบตรวจสอบสิทธิบัตรมีคุณภาพ แต่ที่ผ่านมามักคัดค้านไม่ทันเพราะเวลาจำกัดมากเพียง 90 วัน และต้องใช้การประมวลข้อมูลอย่างรอบด้านเพื่อให้การคัดค้านครบถ้วนสมบูรณ์ แต่เรากลับได้ระยะเวลาเท่ากับเวลาที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาให้แก่ผู้ขอรับสิทธิบัตรในการตอบโต้เอกสารแต่ละครั้ง ซึ่งหากมีการแก้ไขกฎหมายควรขยายเวลาคัดค้านจาก 90 วัน เป็น 1 ปี เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ สามารถร่วมให้ข้อมูลกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้มากขึ้น”

เมื่อทั้ง 2 องค์กรยื่นคำคัดค้านแล้ว สำนักสิทธิบัตรจะรับเรื่องและแจ้งให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรทราบว่ามีผู้คัดค้าน และผู้ขอรับสิทธิบัตรจะมีเวลา 90 วันที่จะโต้แย้งคำคัดค้าน เมื่อสำนักสิทธิบัตรได้รับเอกสารทั้งหมดจากทั้งสองฝ่ายแล้ว จึงจะเริ่มกระบวนการพิจารณาและตัดสินว่าจะปฏิเสธคำขอรับสิทธิบัตรตามที่มีผู้คัดค้านหรือไม่