ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“นิมิตร” หนึ่งในภาคประชาชนแวดวงสาธารณสุขมอง บอร์ดพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ตั้ง “แพทองธาร” นั่งรองประธาน จะมีนัยยะทางการเมืองหรือไม่ ต้องรอรัฐบางตอบคำถามถึงประสิทธิภาพการทำงาน พร้อมจับตาการขับเคลื่อนนโยบาย แนะควรดูแลภาพรวมแต่ละกองทุนให้ไปในทางเดียว ยกเคสบัตรสุขภาพแรงงานต่างด้าวต้องมีหน่วยงานเดียวดูแล ชูสปสช.มีศักยภาพ

 

รัฐบาลต้องตอบคำถามปชช.ถึงประสิทธิภาพ “บอร์ดสุขภาพแห่งชาติ”

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม นายนิมิตร์ เทียนอุดม ที่ปรึกษาผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (AIDS Access) ในฐานะภาคประชาชนแวดวงสาธารณสุข กล่าวถึงข้อสังเกตว่า คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นรองประธาน ซึ่งอาจจะมีนัยยะทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ว่า ตนมองว่าทางฝ่ายการเมืองที่เป็นรัฐบาล แล้วมีนโยบายเรื่องสุขภาพ ก็มีความต้องการผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้นจริง เขาก็ต้องไปหากลไกมาตอบโจทย์นโยบายนั้น ตนจึงมีความเห็นส่วนตัวว่า ทางพรรคการเมืองเองอาจจะมองว่ากลไกสุขภาพที่มีอยู่เดิม อาจจะไม่ตอบโจทย์ จึงต้องตั้งใหม่ ซึ่งหลังจากตั้งมาแล้วนั้น สิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำคือ ตอบคำถามให้ได้ว่า คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติชุดใหม่นี้มีประสิทธิภาพจริงหรือไม่

เมื่อดูสัดส่วนของคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติชุดนี้ ก็พบว่า สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่มีอยู่ในสัดส่วนของกรรมการ ทั้งที่ สช. ดูเรื่องนโยบายสุขภาพใหญ่ของประเทศ แต่กลับไม่มีรายชื่อในกรรมการ ตนจึงมองว่าทางพรรคการเมืองอาจคิดว่ากลไกเดิมอย่าง สช. ไม่สามารถตอบสนองนโยบายของพรรคได้

ภาคประชาชนจับตาบอร์ดสุขภาพแห่งชาติ

“เข้าใจได้ว่าพรรคการเมืองต่างอยากเข้ามาแก้ไขเรื่องนี้ แต่ถ้าจะเข้ามาแก้ไขก็จะต้องเป็นกลไกที่ตอบโจทย์ได้จริง ๆ ทั้งนี้ จะต้องดูทิศทางการขับเคลื่อนของคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติชุดนี้ ว่าจะเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างไร เช่น นโยบายสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ซึ่งทางภาคประชาชนก็จะจับตาดูเรื่องนี้อยู่” นายนิมิตร์ กล่าว

 

นายนิมิตร์ กล่าวต่อว่า ตนมีข้อเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติชุดนี้ เพื่อมาแก้ไขเรื่องที่เป็นปัญหาระบบสุขภาพของประเทศ เช่น การมีหลายกองทุนสุขภาพ ที่ไม่มีประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณที่ต่างคนต่างใช้ ทั้งยังซ้ำซ้อนและมีความเหลื่อมล้ำในการใช้สิทธิ เป็นโจทย์ว่าคณะกรรมการฯ ชุดนี้จะเข้ามาแก้เรื่องนี้หรือไม่ เพราะเรื่องนี้ไม่สามารถแก้ไขได้จากหน่วยงานเดียวอย่าง สปสช. หรือกระทรวงสาธารณสุข เพราะว่ามีความเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง

จี้บอร์ดฯ แก้ปัญหาประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ

หรืออีกเรื่องหนึ่งที่ภาคประชาชนผลักดันอยู่ อย่างเช่นการทำประกันสุขภาพให้แรงงานข้ามชาติ ที่เราพบปัญหาเรื่องบัตรสุขภาพแรงงาน หรือบัตรสีชมพู เมื่อแรงงานป่วยไป รพ. หลายโรคที่มีค่าใช้จ่าย หลาย รพ.ก็ไม่อยากรับรักษา ไม่อยากขายให้ในปีถัดไป ดังนั้นเรื่องเหล่านี้ควรมีระบบใหญ่ของประเทศเข้ามาจัดการ ยกตัวอย่างเช่น มีหน่วยงานของประเทศอย่าง สปสช. เป็นผู้ขายบัตรสุขภาพให้แรงงาน หรือนักท่องเที่ยวที่เข้าประเทศมาแต่ไม่มีประกันสุขภาพ ทาง สปสช. ก็มาตามจ่ายให้กับ รพ. ทั้งหมดนี้จะเป็นการตอบโจทย์เศรษฐกิจสุขภาพของประเทศได้

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :

-“นิมิตร์” จี้บอร์ดสุขภาพแห่งชาติแก้ปัญหาถ่ายโอนรพ.สต. เหตุคนไข้เดือดร้อน บัตรปชช.ใบเดียวไม่มีจริง!

“ชลน่าน” เผยบอร์ดพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ประชุดนัดแรก 24 ต.ค.นี้

คลอดแล้ว! คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ นายกฯนั่งประธาน มี “อุ๊งอิ๊ง” รองประธาน