ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“เศรษฐา” นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติครั้งแรก เห็นด้วยตามนโยบาย สธ. พร้อมมอบ “แพทองธาร” นั่งประธานขับเคลื่อนแผนงานยกระดับบัตรทอง 5 เรื่อง ขณะที่ผู้บริหารสธ.แจงรายละเอียดเพียบ! ที่ประชุมยังเพิ่มสัดส่วน 2 สภาวิชาชีพในบอร์ดฯ และให้พิจารณาภาคประชาชนเพิ่มเติม ส่วนสปสช.ย้ำยกระดับบัตรทอง ช่วยหน่วยบริการรับเงินเบิกจ่ายเร็วขึ้นไม่เกิน 72 ชม.

 

เมื่อเวลา 13.00น. วันที่ 24 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการฯ  นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  และนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ในฐานะเลขาฯคณะกรรมการฯ รวมถึงกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งกระทรวงกลาโหม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร สภาวิชาชีพด้านสุขภาพ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เข้าร่วมประชุม ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกหลังจาก นายกฯแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ชุดนี้เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566ที่ผ่านมา 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : คลอดแล้ว! คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ นายกฯนั่งประธาน มี “อุ๊งอิ๊ง” รองประธาน)

ตั้ง "อุ๊งอิ๊ง" นั่งประธาานบริหารขับเคลื่อนยกระดับบัตรทอง

นายเศรษฐา กล่าวว่า   วันนี้เป็นการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งแรก เพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการสร้างและพัฒนาระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพ สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพในระยะยาวให้เกิดความเท่าเทียม เป็นธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน โดยมีการหารือ 5 ประเด็นเร่งด่วนตามนโยบายยกระดับ 30 บาท ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งในและนอกระบบสาธารณสุข ได้แก่ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่, มะเร็งครบวงจรและการให้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกหรือ HPV, สถานชีวาภิบาล, การเพิ่มการเข้าถึงบริการในเขต กทม. และสุขภาพจิต/ยาเสพติด ซึ่งเป็นประเด็นที่สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้ให้คำมั่นไว้กับประชาชน

“ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้มีการแต่งตั้ง "คณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ" ทำหน้าที่ติดตามและกำกับการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพ ทั้ง 5 ประเด็น โดยให้ น.ส.แพทองธาร เป็นประธาน และมีกรรมการจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางสุขภาพในระยะยาวของประเทศ ให้คนไทยแข็งแรง ประเทศชาติมั่นคง นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป” นายกฯ กล่าว

เห็นชอบตั้ง 2 สภาวิชาชีพนั่งกรรมการฯเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบตามที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเสนอให้พิจารณาแต่งตั้งผู้แทนในคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ เพิ่มเติม 2 ตำแหน่ง คือ นายกสภาการสาธารณสุขชุมชน และนายกสภาการแพทย์แผนไทย   อีกทั้ง ให้ทาง น.ส.แพทองธาร พิจารณาเพิ่มผู้แทนจากภาคประชาชนในกรรมการฯ ตามความเหมาะสมต่อไป

น.ส.แพทองธาร กล่าวถึงเหตุผลของการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค ว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคนมาตั้งแต่ปี 2544 จนปัจจุบันครอบคลุมประชาชนมากกว่าร้อยละ 99.6 ช่วยให้เข้าถึงบริการมากขึ้น  และยังลดภาระค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ เห็นได้จากสำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจปี 2531-2560 มีการสำรวจครัวเรือนที่ต้องกลายเป็นครัวเรือนยากจนภายหลังจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล มีจำนวนลดลงจาก 2.5 แสนครัวเรือนในปี 2531 เหลือเพียง 52,000 ครัวเรือนในปี 2560  

น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า  นโยบายนี้ประสบความสำเร็จจากการประกาศใช้มาแล้วกว่า 20 ปี วันนี้จึงจำเป็นต้องยกระดับให้สอดคล้องกับปัจจุบัน และปูทางสู่อนาคตดียิ่งขึ้นของโครงสร้างสาธารณสุขในทุกมิติ ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนแม้จะเข้าถึงสิทธิบัตรทอง แต่จากการกระจายจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ไม่เหมาะสม ยังขาดแคลนบุคลากร พยาบาล ขาดแคลนการเชื่อมต่อข้อมูล ความแออัด ระยะเวลาการรอคอยน่าน การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ยากลำบาก โดยเฉพาะคนอยู่ห่างไกลต้องมีภาระค่าใช้จ่ายการเดินทาง ดังนั้น ก้าวต่อไปคือต้องลดเวลาการรอคอย เพื่อให้สะดวกในเรื่องข้อมูลคนไข้ ไม่ว่ารักษาที่ใดก็จะใช้บัตรประชาชนใบเดียว และหากเป็นโรคไม่ร้ายแรงก็สามารถรักษาจ่ายยาผ่านออนไลน์ หากเป็นโรคต้องไปพบแพทย์สามารถนัดล่วงหน้าผ่านระบบออนไลน์ หรือแม้แต่การต้องเจาะเลือดสามารถรับบริการคลินิกใกล้บ้าน และนำผลเลือดพบแพทย์ในวันถัดไป จุดเปลี่ยนคือ การใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ทันสมัยผ่านระบบดิจิทัล ขยายการบริการให้แก่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล มีระบบเทเลเมดิซีน

“ จากแผนดำเนินการดังกล่าวรู้สึกมั่นใจว่า การยกระดับดังกล่าว จะทำให้ประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” น.ส.แพทองธาร กล่าว

"ชลน่าน" ชู 13 ประเด็นยกระดับ แต่มี 5 ประเด็นควิกวินทำให้ได้ 100 วัน

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกระบวนการการขับเคลื่อนยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค ว่า  จากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ระบบสาธารณสุขต้องปรับตัวอย่างทันท่วงที ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข มีกระบวนการจัดทำนโยบายที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ผลลัพธ์สุขภาพเปรียบเทียบข้อมูลระดับชาติ และ SDGs ความต้องการของประชาชนด้านบริการสุขภาพ ที่สำคัญเราคำนึงถึงภาพอนาคต ฉากทัศน์ระบบสุขภาพไทยใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล โดยเราระดมสมองจัดลำดับความสำคัญกำหนดเป็น 13 เรื่องยกระดับ 30 บาท ทั้งส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษา ฟื้นฟูสภาพ และยังเพิ่มมิติการสร้างงานสร้างรายได้ ต่อยอดเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายสำคัญในการดูแลสุขภาพทุกมิติ ทุกพื้นที่

13 ประเด็นที่ต้องดำเนินการ   คือ 1.โครงการพระราชดำริฯ 2.ขยายสุขภาพเขตเมือง รพ.กทม.50 เขต 50 รพ.และปริมณฑล3.สุขภาพจิตและยาเสพติด 4.มะเร็งครบวงจร จากการที่รัฐบาลจะฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ยังมีการครอบคลุมบริการอื่นๆ ทั้งการป้องกัน ตรวจคัดกรอง การรักษา เป็นต้น 5.คำนึงถึงบุคลากรทำงาน สนับสนุนความก้าวหน้าในทุกวิชาชีพ เน้นการสื่อสารรูปแบบใหม่  6.การแพทย์ปฐมภูมิ มีการพัฒนาการแพทย์ทางไกล ระบบนัดหมาย ส่งเสริมอนามัยโรงเรียน  7.ดูแลพื้นที่เฉพาะและพื้นที่เปราะบาง ชายแดน เพิ่มการบริการให้ประชาชน 8.สถานชีวาภิบาล ดูแลผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ 9.พัฒนารพ.ชุมชนแม่ข่าย ยกระดับให้มีการส่งต่อแบบไร้รอยต่อ ลดความแออัดการส่งต่อไปยังรพ.ระดับสูงขึ้น 10.บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ และพัฒนาให้เป็นรพ.อัจฉริยะ 11.การส่งเสริมการมีบุตร ผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ สร้างความเข้าใจมีลูกมีแต่ได้ เพราะขณะนี้อัตราตายมากกว่าอัตราเกิด 12.ต้องการให้กระทรวงฯ สร้างเศรษฐกิจให้ประเทศ สร้างเมืองสุขภาพดีวิถีชุมชน นำร่องเขตละ 1 แห่ง 13.ให้ความสำคัญส่งเสริมการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวปลอดภัย ยกระดับความปลอดภัยด้านอาหาร สถานที่ การเฝ้าระวังควบคุมโรค ภูเก็ตแซนบ็อกซ์ และการแพทย์ฉุกเฉินจะมีสกายดอกเตอร์ต่อ 1 เขตสุขภาพ  

วันนี้จะขับเคลื่อน 5 ประเด็นหลักเพื่อให้ได้ควิกวิน คือ 1.บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ 2.มะเร็งครบวงจร 3.สถานชีวาภิบาล 4.การบริการเขตเมือง กทม.และเชียงใหม่ และ5.ยาเสพติดและการดูแลสุขภาพจิต ซึ่งทั้ง 5 เรื่องต้องอาศัยความร่วมมือหลายภาคส่วน เพราะมิติสุขภาพต้องมีกระทรวงฯอื่นๆเข้ามาช่วย เพื่อให้ทันตามควิกวิน 100 วัน ซึ่งในนามกระทรวงสาธารณสุขเราพร้อมจะร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการสร้างสุขภาพที่ดีของประชาชน ลดภาระบุคลากร นำไปสู่การสร้างความมั่นคงระยะยาวต่อไป จึงหวังว่าในการประชุมนี้ และโอกาสต่อไปจะได้รับการสนับสนุนจากทุกท่าน” นพ.ชลน่าน กล่าว

พัฒนาระบบบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่

นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า   โครงการนี้จะนำร่องใน 4 จังหวัด กระจายทุกภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ กลาง อีสาน และใต้ ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส โดยมีรพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม  กระทรวงอุดมศึกษาฯ รพ.เอกชน  คลินิก ร้านขายยา รพ.สต.ที่เข้าร่วมโครงการ โดยจะนำร่องและนำบทเรียนในพื้นที่ดังกล่าวมาปรับปรุงแก้ไขก่อนขยายผลต่อไป 

“ ในระยะที่ 1 คือ เดือนมกราคม 2567 จะมีประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์แสดงบนมือถือ  รพ.ทั้งรัฐ  พร้อมการเบิกจ่ายผ่านระบบกลาง และหน่วยบริการจะได้รับเงินภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากเบิกจ่ายเงิน เป็นต้นระยะที่ 2 เดือนเมษายน 2567  บริการจ่ายเงินออนไลน์ การส่งต่อการรักษาโดยไม่ใช้ใบส่งตัว บริการเจาะเลือดห้องแล็บใกล้บ้าน และเชื่อมโยงข้อมูล  การดูแลผู้ป่วยถึงบ้าน  จึงข้อที่ประชุมพิจารณาแนวทางดังกล่าว เพื่อให้เป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชนเดือนมกราคม 2567” นพ.พงศธร กล่าว

(อ่านรายละเอียด : ไทม์ไลน์การจัดบริการ 'บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่' 4 จังหวัดข้ามทุกเครือข่ายรพ.)

 

สปสช.ดึง "พยาบาลเกษียณ-ผู้พิการ" เป็นอาสาสมัครรับสายด่วน

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า หน่วยบริการเมื่อมีการเชื่อมข้อมูลอย่างครบวงจร ทางสปสช.จะมีระบบตรวจสอบด้วย AI  ทั้งนี้ สปสช.จะอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ซึ่งมีสายด่วน 1330 ทำมาแล้ว 20 ปี เป็นที่พึ่งของประชาชนทั้งระยะปกติ และช่วงโควิดที่ผ่านมา โดยเราให้บริการสายด่วนตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อสามารถสอบถามข้อมูล แจ้งปัญหาการรับบริการ หรือการนัดแพทย์ออนไลน์ไม่ได้ ให้ติดต่อสายด่วน 1330 โดยจะเป็นหน่วยเสริมให้ระบบลื่นไหล

จะมีการเพิ่มอาสาสมัคร เช่น พยาบาลเกษียณแล้ว คนพิการมาร่วมให้บริการประชาชนผ่านสายด่วน 1330 และจะเพิ่มช่องทางไลน์ของสปสช. และจะมีการเปิดคู่สายให้หน่วยบริการหรือรพ.ต่างๆ ที่หากมีความไม่เข้าใจ หรือต้องการตรวจสอบข้อมูลผู้ป่วยในการใช้บัตรประชาชนใบเดียว เพื่อให้มั่นใจว่า สปสช.จะจ่ายเงินแก่พวกท่านอย่างแน่นอน

“สปสช.มีการปรับกลไกการชดเชยค่าบริการ โดยปรับระบบการจ่ายเงินล่วงหน้าในการดูแลประชาชน และหากประชาชนที่ไม่อยู่ในพื้นที่ไปใช้บริการของท่าน เราก็จะเร่งการจ่ายค่าบริการไม่เกิน 3 วัน และหากผู้ป่วยต้องนอนรักษาตัวจะเร่งการจ่ายไม่เกิน 14 วัน ซึ่งจะร่วมหารือกับหน่วยบริการทุกสังกัด และขอย้ำว่า เรายังให้บริการประชาชนทุกสิทธิ์ อย่างการฉีดวัคซีนป้องกันโรค หรือสถานชีวาภิบาล ซึ่งหวังว่านโยบายยกระดับครั้งนี้จะเป็นการปฏิรูประบบสุขภาพอีกครั้ง หลังจากปฏิรูปมาแล้วเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา”

 

ตั้งทีม Cancer warrior ทุกจังหวัด คิกออฟฉีดวัคซีนHPV 8 พ.ย.66

ด้าน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รักษาราชการแทนรองปลัดสธ. กล่าวว่า สถานการณ์มะเร็งเพิ่มสูงขึ้น มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ 140,000 คนต่อปี มีผู้เสียชีวิตจากมะเร็ง 84,000 คนต่อปี ในแต่ละปีผู้หญิงเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกมากกว่า 2 พันคน  ซึ่งหากเรามีระบบคัดกรอง ป้องกันจะลดปัญหาตรงนี้ได้ ดังนั้น การเพิ่มการตรวจคัดกรองมะเร็งในประชากรกลุ่มเสี่ยง การคัดกรองพยาธิใบไม้ตับ การเพิ่มการเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องมือต่างๆ เช่น การตรวจเต้านามด้วยแมมโมแกรม และการรักษาที่ครอบคลุมทุกมิติ ให้สามารถเข้าถึงยาเคมีบำบัด การบริการรังสีรักษาให้ครอบคลุมทั้งประเทศในทุกพื้นที่ และยังดูแลทางใจอีกด้วย เพื่อเป็นการดูแลมะเร็งแบบครบวงจร การดำเนินการช่วง 100 วัน ได้ตั้งทีม Cancer warrior ดูแลประชาชนทุกจังหวัด และจะคิกออฟฉีดวัคซีนเอชพีวีในหญิงอายุ 11-20 ปีฟรี 1 ล้านโดส เริ่ม 8 พ.ย.66  คิกออฟคัดกรองพยาธิใบไม้ตับฟรี 1 แสนคน เป็นต้น

อ่านรายละเอียด : เปิดไทม์ไลน์ “มะเร็งครบวงจร” ตั้ง Cancer Warrior ทุกจังหวัด คิกออฟฉีดวัคซีนHPV คัดกรองพยาธิใบไม้ตับ

ตั้งสถานชีวาภิบาล 7 เขตในกทม.

นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รักษาราชการแทนรองปลัดสธ. กล่าวว่า สถานชีวาภิบาล เป็นสถานที่ที่ให้บริการผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิง ติดบ้านติดเตียง รวมถึงผู้สูงอายุ โดยประชาชนจะได้รับ 2 ประการ คือ จะได้รับการบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน และลดภาระการเดินทาง การรอคอย ครอบครัวไร้กังวล ลูกหลานทำงานได้ โดยมาตรการหลักมี 4 ข้อ คือ 1.พัมนามาตรบานและระบบงานที่เกี่ยวข้อง โดยพัฒนาคนมารองรับ 5 พันคน  2.สร้างระบบชีวาภิบาลในทุกรพ. และยังวางแผนให้ผู้ป่วยอยู่ที่บ้าน ในชุมชนได้ผ่านระบบเทเลเมดิซีน 3.จัดตั้งสถานชีวาภิบาลในชุมชน เช่น วัดคำประมง จ.สกลนคร และ4.การขยายสิทธิ์ให้ครอบคลุม 3 กองทุน

“เป้าหมาย 100 วันมี 2 เรื่อง คือ จะมีสถานชีวาภิบาลทุกเขตสุขภาพ 12 แห่งทั่วประเทศ และได้ประสานกับทางกรุงเทพมหานคร ตั้งเป้า 7 เขต  และจะมีการพัฒนาระบบการดูแลที่บ้าน โดยการยกระดับเป็น Home Ward ในทุกจังหวัด คาดว่าเดือนธันวาคมนี้จะสามารถเปิดสถานชีวาภิบาลต้นแบบได้” นพ.ภาณุมาศ กล่าว

ธ.ค.นี้ขยายบริการกทม. นำร่องดอนเมือง

นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รักษาราชการแทนรองปลัดสธ. กล่าวถึงการเพิ่มการเข้าถึงบริการในเขตกรุงเทพมหานคร ว่า ประชาชนในระบบสุขภาพ 3 กองทุนมี 7.7 ล้านคน มีรพ. 112 แห่ง เป็นรัฐ 24 แห่ง เอแกชน 88 แห่งว มีเตียงทุกสังกัด 30180 เตียง คิดเป็น 3.92 เตียงต่อพันประชาชกร อย่างไรก็ตาม โซนรพ.ของดอนเมืองถือว่าน้อยมาก โดยในเขตดอนเมืองมีรพ.แม่ข่ายคือ รพ.ทหารอาการ(สีกัน) ขนาด 130 เตียง อย่างไรก็ตาม สำหรับนโยบายรพ.กทม.50 เขต 50 รพ. มีเป้าหมายเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพในกรุงเทพฯ การบริหารระบบรับส่งต่อร่วมกันอย่างมีเอกภาพ และประชาชนในพื้นที่เข้าถึงบริการส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู และดูแลระยะท้ายอย่างเท่าเทียม

“เพื่อให้บรรลุตามนโยบาย ได้กำหนดควิกวิน โดยการพัฒนาให้เกิดรพ.ประจำเขตดอนเมือง ด้วยการยกระดับรพ.ทหารอากาศ(สีกัน) สังกัดกรมแพทย์ทหารอากาศ กองทัพอากาศ เป็นรพ.ทุติยภูมิ ขนาด 120 เตียง และยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข 60 รสสุคนธ์ มโนชญากร เป็นโรงพยาบาลผู้ป่วยนอกเฉพาะทางร่วมกับโรงพยาบาลแม่ข่าย และเตรียมพร้อมโรงพยาบาลราชวิถี 2 เป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อผู้ป่วย คาดว่าจะเปิดให้บริการทั้ง 3 ส่วนได้ภายในเดือนธันวาคม 256” นพ.กิตติศักดิ์ กล่าว

เดินหน้าแก้ปัญหายาเสพติด

ด้านนพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สถานการณ์ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่เสี่ยงต่อการก่อความรุนแรงนั้นพบว่า ผู้ป่วยจิตเวช 166,563 คน เสี่ยงก่อความรุนแรงประมาณ 25.4%  ก่อความรุนแรง 9.1% ส่วนผุ้ป่วยยาเสพติด 129,081 คน เสี่ยงก่อความรุนแรง 50.5% เพื่อให้มีการบริการที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยเน้นหลัก"เพื่อนแท้มีทุกที่" ให้ประชาชนเข้าถึงบริการคุณภาพตั้งแต่ระยะแรก และสามารถกลับไปใช้ชีวิตในชุมชนได้ โดยจัดตั้ง “มินิธัญญารักษ์” ทุกจังหวัดเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการบำบัดรักษาฟื้นฟูผุ้ป่วยยาเสพติดซึ่งปัจจุบันมีมินิธัญญารักษ์แล้ว 35 จังหวัด 64 โรงพยาบาล มีกลุ่มงานจิตเวชทุกอำเภอ และมีหอผู้ป่วยจิตเวชทุกจังหวัด นอกจากนี้ จะส่งเสริมสุขภาพจิตเชิงรุกในชุมชน ค้นหากลุ่มเสี่ยงในชุมชน บริการฉุกเฉินจิตเวช เพิ่มการเข้าถึงบริการจิตเวชทางไกล และการฟื้นฟูผู้ป่วยระยะยาวในชุมชน/สังคม   

 

 

ข่าวเกี่ยวข้อง :  “หมอเลี้ยบ” เล็งเพิ่มโคราช ‘บัตรประชาชนใบเดียว’ เฟสสอง ด้านสภาการพยาบาลขออย่าลืม “กำลังคนวิชาชีพ”