ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกฯ เซ็นตั้งบอร์ดพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ มี “แพทองธาร” นั่งรองประธาน หวังพัฒนาและขับเคลื่อนระบบสุขภาพแห่งชาติในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์วิกฤตฉุกเฉินด้านสุขภาพ มีเลขาธิการสปสช. เป็นผู้ช่วยเลขาฯบอร์ด  ส่วนเบี้ยประชุมหรือค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน ให้เบิกจ่ายจากงบฯกระทรวงสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เคยมีแนวคิดตั้งบอร์ดลักษณะนี้ แต่ไม่สำเร็จ

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  มีการเผยแพร่คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ’ ลงนามโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยในเอกสารใจความระบุว่า

ด้วยรัฐบาลมีนโยบายสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี นำความปลอดภัย สร้างศักดิ์ศรี และนำความภาคภูมิใจ มาสู่ประชาชนไทยทุกคน โดยเฉพาะการสร้างและพัฒนาระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่ รวมถึงสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพในระยะยาวให้เกิดความเท่าเทียม เป็นธรรมของคนทุกกลุ่ม อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกรัฐมนตรีจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ  โดยมีองค์ประกอบดังนี้

1.นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ

2.ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เป็นรองประธานกรรมการ

3.น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นรองประธานกรรมการ

นอกจากนี้ ยังมีกรรมการอื่นๆ  ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการ(รมว.)กระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รมว.มหาดไทย รมว.แรงงาน รมว.สาธารณสุข เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายกทันตแพทยสภา นายกแพทยสภา นายกสภากายภาพบำบัด นายกสภาการพยาบาลนายกสภาเทคนิคการแพทย์ นายกสภาเภสัชกรรม นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นกรรมการและเลขนุการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ และเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการมีอำนาจ ดังนี้

1.พัฒนาและขับเคลื่อนระบบสุขภาพแห่งชาติในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์วิกฤตฉุกเฉินด้านสุขภาพ กลั่นกรองนโยบายสำคัญก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี

2. เสนอแนะแนวทางพัฒนานโยบายและขับเคลื่อนระบบสุขภาพแห่งชาติต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อตัดสินใจเชิงรุก เกิดการขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาล เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อสุขภาพของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

3.กำกับ ดูแลบูรณาการความร่วมมือทางนโยบายและแผนระดับประเทศ ระหว่างส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การเอกชนทั้งในและต่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพของประชาชน

4.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงานหรือที่ปรึกษาเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ

5.ปฏิบัติงานอื่นตามนายกฯหรือครม.มอบหมาย

อีกทั้ง ให้หน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือแก่คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติในการชี้แจงข้อมูล ส่งเอกสาร ตลอดจนดำเนินการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด

ส่วนการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมหรือค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงานหรือที่ปรึกษาที่แต่งตั้งตามคำสั่งนี้ให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ.2547 ตามระเบียบทางราชการ โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข

ผู้สื่อข่าว Hfocus รายงานว่า สำหรับคณะกรรมการชุดนี้ มีความสอดคล้องกับในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เนื่องจากขณะนั้นมีนพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการสธ. และมีนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ เป็นปลัดสธ. ซึ่งมีแนวคิดในการขับเคลื่อนโดยใช้ชื่อว่า คณะกรรมการสุขภาพระดับชาติ หรือ National Health Board แต่ขณะนั้นไม่ประสบความสำเร็จในการตั้งบอร์ดดังกล่าว  เนื่องจากมีการตั้งคำถามเรื่องการแทรกแซงการทำงานของหน่วยงานสุขภาพต่างๆ อย่างไรก็ตาม ล่าสุด นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข คนปัจจุบันได้เคยให้สัมภาษณ์ปฏิเสธเรื่องการแทรกแซง แต่จะเป็นการทำงานอย่างบูรณาการ และทำให้ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศมากยิ่งขึ้น