ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“สารี” สภาองค์กรผู้บริโภคหนึ่งในตัวแทน ‘คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ’ ขอเพิ่มสัดส่วนภาคประชาชนในกรรมการฯ พร้อมขอบอร์ดฯแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระบบสุขภาพไทย ยังมีปัญหาการเข้าถึง ความแออัดในรพ. ชี้ “ผู้ประกันตน” เป็นกลุ่มที่ยังมีปัญหา  ด้านรมว.แรงงาน ชูสิทธิประโยชน์ประกันสังคมนอกเหนือบัตรทอง  

 

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้ข้อเสนอแนะในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 ที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ   น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการฯ  นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  และนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ในฐานะเลขาฯคณะกรรมการฯ รวมถึงกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมประชุม  

(ข่าวเกี่ยวข้อง :นายกฯ ตั้ง “อุ๊งอิ๊ง” นั่งประธานบริหารขับเคลื่อน 5 นโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค)

ขอเพิ่มตัวแทนจากฝั่งประชาชนนั่งในบอร์ดฯ

โดย น.ส.สารี กล่าวว่า ตนเป็นเหมือนตัวแทนหนึ่งเดียวของประชาชน จึงอยากขอเพิ่มตัวแทนจากฝั่งประชาชน อย่างกลุ่มคนรักระบบหลักประกันสุขภาพเข้ามาทำงานในคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติด้วย ทั้งนี้ ตนสนับสนุนแนวคิดของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการฯ และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่พูดเรื่องความเหลื่อมล้ำของระบบหลักประกันสุขภาพฯ ในปัจจุบัน และความแออัดในสถานพยาบาล ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญมาก เพราะตอนนี้ยังมีประชาชนที่เข้าไม่ถึง โดยเฉพาะผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคม ที่มีความเหลื่อมล้ำที่สุด ตนจึงดีใจที่เห็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เข้ามาเป็นคณะกรรมการฯ ด้วย

ผู้ประกันตนยังพบความเหลื่อมล้ำ 

“ผู้ประกันตนเป็นกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายเงินสมทบเรื่องสุขภาพและจ่ายเงินภาษี ดังนั้นจะต้องจ่ายเงิน 2 ระบบ นี่จึงเป็นความเหลื่อมล้ำที่สำคัญ และยังมีประชาชนที่ถูกเรียกเก็บเงิน จึงหวังว่าการพัฒนาระบบสุขภาพฯ จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพในส่วนนี้ ทางสภาองค์กรของผู้บริโภคและกลุ่มประชาชนที่มีส่วนร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพฯ อีกอย่างน้อย 9 กลุ่ม ยินดีที่จะสนับสนุนการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพฯ ให้มีความยั่งยืนและมีการพัฒนาไปในทิศทางที่ประชาชนอยากเห็น” น.ส.สารีกล่าว

รมว.แรงงานหนุนนโยบายยกระดับ 'บัตรทอง' เผยสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน

ด้านนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สำหรับนโยบายยกระดับโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ หรือยกระดับบัตรทอง ที่รัฐบาลขับเคลื่อนอยู่นั้น ทางกระทรวงแรงงานเอง มีกองทุนประกันสังคม ซึ่งจะเป็นฝ่ายสนับสนุนอีกช่องทางหนึ่ง โดยผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 มีจำนวน 14 ล้านคนเศษ มี รพ. หลัก 260 แห่ง รพ.เครือข่ายอีก 2,220 แห่ง ส่วนสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนที่นอกเหนือจากบัตรทอง คือ กรณีเกิดอุบัติเหตุและทุพพลภาพทางร่างกายมากกว่า 50% จะได้รับค่าชดเชยเป็นอัตรา 50% ของรายได้ 3 เดือนสุดท้ายซึ่งจะเป็นการดูแลตลอดชีวิต กรณีการได้รับบาดเจ็บ 35-50% สามารถรับเงินชดเชยเป็นอัตราเดียวกันแต่ดูแล 180 เดือนหรือ 15 ปี และกรณีเสียชีวิตจากการทำงาน จะได้เงินชดเชยตามอัตราการส่งเงินสมทบ อย่างไรก็ตาม ประกันสังคมจะเป็นส่วนสนับสนุนต่อยอดนโยบายยกระดับบัตรทอง

 

ข่าวเกี่ยวข้อง :  “หมอเลี้ยบ” เล็งเพิ่มโคราช ‘บัตรประชาชนใบเดียว’ เฟสสอง ด้านสภาการพยาบาลขออย่าลืม “กำลังคนวิชาชีพ”