ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สาธารณสุข โต้ สพศท.มองการทำงานของ “คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ” ลดอำนาจของสธ. ชี้ไม่จริง เพราะสธ.เป็นผู้ช่วยเลขานุการ เป็นคีย์แมนสำคัญในการประชุม ส่วนใครมองว่าครอบงำ แล้วแต่มุมมอง ลั่น! ขีดเส้นใต้ว่า พรรคเพื่อไทย ได้รับมอบอำนาจจากประชาชนมาทำหน้าที่ การทำงานให้ดูที่ผลงานเป็นสำคัญ

 

บอร์ดสุขภาพแห่งชาติ ไร้การเมืองครอบงำ  

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 11 ตุลาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป(สพศท.) มองว่าการทำงานของคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ อาจไม่ได้ให้อำนาจกระทรวงสาธารณสุขมาก  เหมือนลดอำนาจลงด้วยซ้ำ  ว่า แล้วแต่คนมอง เราเองมีปลัด สธ.เป็นผู้ช่วยเลขานุการ มีเลขาธิการ สปสช.เป็นผู้ช่วยลขานุการร่วม ซึ่งคีย์แมนอยู่ที่เราสองคน นอกนั้นเป็นตัวแทนวิชาชีพ รมต.ที่เกี่ยวข้อง ภาพบอร์ดชุดนี้ สำนักงานเลขาธิการอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข

เมื่อถามถึงกรณีมีคนตั้งข้อสังเกตว่า การเมืองจะครอบงำบอร์ดหรือไม่ เพราะรายชื่อพรรคเพื่อไทยอยู่ในสัดส่วนตำแหน่งสูง นพ.ชลน่าน  กล่าวว่า การตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้เป็นสิทธิของแต่ละคน เช่น พรรคเพื่อไทยมาครอบงำบอร์ด ตนก็มาจากพรรคเพื่อไทย  พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล รวมเสียงข้างมากในสภาฯ มาเป็นรัฐบาล 314 เสียง  แถลงนโยบายต่อรัฐสภา จัดตั้งรัฐมนตรีมาบริหารประเทศในนามคณะรัฐมนตรี  โดยรูปแบบพรรคเพื่อไทยรับมอบอำนาจจากประชาชนมาทำหน้าที่นี้

“ขีดเส้นใต้ว่า พรรคเพื่อไทย ได้รับมอบอำนาจจากประชาชนมาทำหน้าที่นี้ เพราะฉะนั้น จะมองว่าป็นการครอบงำในมุมมองของผู้คิดเห็นอย่างนั้นก็แล้วแต่มุมมอง เป็นหน้าที่จากประชาชนให้มาทำ ดังนั้น คณะกรรมการก็ต้องทำหน้าที่ตามนั้นให้ดีที่สุด เอาผลงานเป็นตัวตั้ง หากสามารถเอาทุกกระทรวงเข้ามาทำงานร่วมประสานหนึ่งเดียวกัน ตอบปัญหาที่เกิดขณะนี้ได้ การครอบงำควรครอบงำตลอดไปด้วย ในมุมผลนะ ถ้าเกิดประโยชน์ เว้นไม่เกิดประโยชน์หรือทำไม่ได้ ไม่มีสิทธิทำด้วยซ้ำ ประชาชนควรไล่ออกไป” นพ.ชลน่าน กล่าว

รมว.ชลน่าน ไม่เร่งรัดตั้งบอร์ดฯ ล้อตามนโยบายควิกวิน

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า การตั้งบอร์ดนี้เป็นการเร่งรัดให้เกิดขึ้นเร็วเกินไปหรือไม่ เพราะเคยมีการคัดค้านตั้งแต่สมัยนพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ เคยเป็นรมว.สธ. และเสนอแนวคิดนี้  นพ.ชลน่านกล่าวว่า  รัฐบาลแถลงนโยบยรัฐสภากำหนดไทม์ไลน์ชัดเจน 4 ปี เราประกาศควิกวิน 100 วัน รอ 100 วันแล้วไปตั้งบอร์ดหรืออย่างไร  ซึ่งการเชื่อมโยงการทำงานจะเกิดขึ้นไม่ได้ ควิกวิน 100 วันเกิดไม่ได้  เราจึงต้องมีไทม์ไลน์ชัดเจน เราเอาเป้าหมาย ไทม์ไลน์ที่กำหนดเป็นหลัก 

“จริงๆ นายกฯ ลงนามเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ผมเสนอเรื่องไปตั้งแต่ 18 กันยายน ยังมองว่าช้า แต่ด้วยรายละเอียดจำเป็นต้องไปดูเรื่องหน้าที่และอำนาจกรรมการ ซึ่งมีข้อสงสัยว่า ทำไมบางท่านไม่มีชื่อในกรรมการ  ต้องบอกว่า  กรรมการชุดนี้เสมือนการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ที่สนับสนุนฝ่ายปฏิบัติ เรามีฝ่ายนโยบาย คือ คณะรัฐมนตรี อย่างฝ่ายปฏิบัติ คือ ปลัด ข้าราชการประจำ โดยฝ่ายปฏิบัติก็มีหลายกระทรวง มีความแตกต่างลักลั่นกันอย่างในแง่การให้บริการ เห็นจากวิกฤตโควิด ตอนนั้นไม่รู้หน้าที่ใคร กระทบประชาชนนอนเสียชีวิตข้างถนนก็มี จึงต้องอุดช่องว่างนี้ ให้มีคณะทำงานชุดหนึ่งที่เป็นเอกภาพ ที่ผ่านมาปลัดแต่ละท่านหันมาคุยกันค่อนข้างยาก โควิดทำให้หันหน้ามามองกัน สถานการณ์บังคับ ถ้าไม่มีกฎหมายรองรับ ข้าราชการฝ่ายประจำทำยาก เสี่ยงผิดพลาดได้   จึงต้องมีองค์กรที่มีระเบียบบริหารราชการแผ่นดินมารองรับ” รมว.สธ.กล่าว

 

สร้างสมดุลการทำงานเป็นไปตามแถลงนโยบายรัฐสภา

เมื่อถามว่าจะสร้างสมดุลอย่างไรให้เกิดขึ้นในบอร์ดนี้ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ทุกอย่างต้องเป็นไปตามแถลงนโยบายรัฐสภา เป็นไปตามนโยบายที่กระทรวต่างๆ เขียนออกมารองรับ อย่าง สธ.เรารับนโยบายมาแล้วก็มาทำนโยบายรองรับ เข็มมุ่งชัดทำตามนโยบาย ถ้าทำนอกเหนือแถลงนโยบายรัฐสภา นอกเหนือนโยบายกระทรวง แล้วเกิดผลเสียกับประชาชน ส่อไปในทางแสวงหาประโยชน์ ต้องผ่านการตรวจสอบ สภาไม่เว้นแน่ มีมูลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้

 

เดินหน้าแก้ปัญหาถ่ายโอนรพ.สต. กรณีใบส่งตัว

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีภาคประชาชนเสนอให้การประชุมนัดแรกวันที่ 24 ต.ค.เสนอหาทางแก้ไขถ่ายโอนรพ.สต.ไปท้องถิ่น เนื่องจากรพ.สต.บางแห่งไม่พร้อม ทำให้คนไข้ต้องไปรักษารพ.ชุมชน  นพ.ชลน่าน กล่าวว่า  นี่คือปัญหาแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจริง ตนตั้งใจต้องแก้ปัญหานี้ให้ได้ โดยอยู่บนพื้นฐานว่า ขณะที่มีการถ่ายโอนต้องยึดเงื่อนไขความสมัครใจ ความพร้อม และต้องยึดประชาชนในพื้นที่เป็นศูนย์กลางการให้บริการ เขาต้องไม่รับผลกระทบ การถ่ายโอนที่ทำให้เครื่องไม้เครื่องมือขาด ต้องไม่เกิดขึ้น ต้องทำให้ดี ส่วนการบริหารจัดการ กลไกจัดการตำแหน่ง เป็นเรื่องการบริหาร ซึ่งต้องไม่เกี่ยวกับการบริการ

เมื่อถามอีกว่า แต่ขณะนี้มีประชาชนไปรับบริการ รพ.ชุมชน ต้องกลับไปเอาใบส่งตัวที่รพ.สต. กลายเป็นบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ไม่สามารถใช้ได้ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า  ก็ต้องแก้ปัญหา โดยข้อมูลจะต้องมีการเชื่อมโยงกัน ไม่ว่าสังกัดหน่วยงานไหน การให้บริการประชาชนจะต้องเป็นไปตามแนวนโยบายของรัฐบาล   

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม : ‘ชลน่าน’ สั่งเคลียร์ปมคนไข้เดือดร้อน หลังถ่ายโอนรพ.สต.