ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สธ.ชี้ นำโซลูชั่น VMware มาใช้ ช่วยเพิ่มความคล่องตัวระบบไอทีของกระทรวงสาธารณสุข ปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานของการทำระบบสาธารณสุขของประเทศสอดคล้องกับกรอบ eHealth ของ WHO และ ITU ประหยัดงบจัดซื้อฮาร์ดแวร์ ประหยัดเวลาจัดซื้อจัดจ้าง

นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต แถลงข่าวร่วมกับ VMware ประเทศไทย นำเอาโซลูชั่นด้านเทคโนโลยีของ VMware เข้ามาใช้ในกระทรวง โดยเน้นไปที่ vSphere และ Horizon ซึ่งเป็นโซลูชั่นด้าน VDI (Virtual Desktop Infrastructure) และ Virtualization ในองค์กร

นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า การนำเอาโซลูชั่นด้าน Virtualization และ VDI (Virtual Desktop Infrastructure) ของบริษัท VMware เข้ามาใช้งานใน สธ. ซึ่งมีการแถลงข่าวไปเมื่อเร็วๆนี้ จะช่วยให้ สธ.มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการระบบไอที ประหยัดงบประมาณในการจัดซื้อเซิร์ฟเวอร์ ประหยัดเวลาไม่ต้องรอการจัดซื้อจัดจ้าง ปลอดภัย และสามารถทำงานตาม execute policy ได้ทันเวลา

การนำเอาระบบของ VMware เข้ามาใช้งานเป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานของการทำระบบสาธารณสุขของประเทศ ให้สอดคล้องกับกรอบ eHealth ของ WHO และ ITU ซึ่งเป็นองค์กรที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก รวมถึงนโยบายหลักของประเทศในการปรับเปลี่ยนไปสู่โครงสร้างแบบดิจิทัลภายในปี 2020 ด้วย

นพ.พลวรรธน์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของโซลูชั่นด้าน Virtualization นั้น โดยปกติการใช้งานเซิร์ฟเวอร์ต่างๆ มีการศึกษาพบว่ามีการใช้แค่ 20-30% ของประสิทธิภาพเซิร์ฟเวอร์ เปรียบเสมือนมีรถยนต์ 2000 cc เทอร์โบคู่ แต่คนขับส่วนใหญ่ก็ขับด้วยความเร็วปกติ นานๆ ครั้งถึงเหยียบคันเร่งที่ความเร็ว 240 กม./ชม. ซึ่งแนวคิดก็คือประสิทธิภาพอีก 70-80% ที่ยังเหลืออยู่ มาแบ่งซอยเป็นเซิร์ฟเวอร์เสมือนได้อีกหลายเครื่อง สมมุติเซิร์ฟเวอร์เครื่องหนึ่งใช้ทรัพยากรไป 20% ก็จะแบ่งได้อีกเป็น 5 เครื่องที่ทำงานได้พร้อมๆ กัน ถ้ามี 2 เครื่อง ก็แบ่งเซิร์ฟเวอร์เสมือนได้เป็น 10 เครื่อง เป็นต้น

“เมื่อก่อนเทคโนโลยีทำไม่ได้ ก็ต้องซื้อเซิร์ฟเวอร์แพงๆ มา run เร็วๆ ในบางจังหวะเท่านั้น ซึ่งตัว VMware ก็จะเข้ามาเป็นระบบปฏิบัติการชั้นแรก และทำตัวเป็นตัวจัดการทรัพยากรทั้งหมดของเซิร์ฟเวอร์ตัวนั้น เซิร์ฟเวอร์ตัวไหนทรัพยากรไม่พอ ระบบ VMware ก็จะไปดึงทรัพยากรจากเครื่องอื่นๆ มาให้ใช้ เป็นต้น” นพ.พลวรรธน์

นพ.พลวรรธน์ กล่าวต่อไปว่า ระบบนี้เหมาะกับการบริหารแบบข้าราชการ กล่าวคือราชการตั้งงบประมาณเป็นรายปี แต่ตั้งงบปีนี้ใช้ปีหน้า แต่พอถึงเวลา ฮาร์ดแวร์ตกรุ่นก็ไม่อยากได้แล้ว พออยากได้เครื่องรุ่นใหม่ก็ต้องไปตั้งงบรอปีถัดไปอีก แต่เมื่อเปลี่ยนแนวคิดมาบริหารระบบแบบนี้ จะช่วยให้วางแผนจัดสรรทรัพยากรอย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน

“อย่างเมื่อก่อน อยากได้เซิร์ฟเวอร์ให้แต่ละจังหวัด เราก็ให้เงินเขาไปซื้อ เขาก็ซื้อมาร้อยพ่อพันแม่ ยี่ห้อไม่เหมือนกัน สเปคไม่เหมือนกัน พอถึงเวลา กระทรวงมีซอฟต์แวร์ตัวหนึ่งชื่อ HDC (Health Data Center) ปรากฎว่าติดตั้งได้แค่ 30 จังหวัด เพราะเซิร์ฟเวอร์แต่ละที่ไม่เหมือนกันเลย ผมเลยเปลี่ยนมาเป็นการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ เป็นแบบเราก็ซื้อระบบที่สามารถทำ Virtualization ก็ทำให้ติดตั้งระบบ HDC ได้ 76 จังหวัดได้หมดโดยที่เครื่องเซิร์ฟเวอร์ของแต่ละจังหวัดไม่จำเป็นต้องยี่ห้อเดียวกัน มันก็สะดวกกับเรา อยากมีเซิร์ฟเวอร์เมื่อไหร่ เมื่อก่อนต้องรอจัดซื้อจัดจ้าง แต่อันนี้ถ้าทรัพยากรในเซิร์ฟเวอร์เหลือ เราสร้างเซิร์ฟเวอร์เสมือนตัวใหม่ได้ในพริบตาเลย เสียก็ลบทิ้งทำใหม่ได้ แบ็กอัพข้อมูลได้ เวลาเปลี่ยนฮาร์ดแวร์ก็ไม่ต้องมานั่งปวดหัวกับซอฟต์แวร์ที่ไม่เข้ากัน” นพ.พลวรรธน์ กล่าว

ขณะเดียวกัน ในส่วนของโซลูชั่น VDI (Virtual Desktop infrastructure) จะเป็นระบบสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์เดสก์ท็อปเสมือน กล่าวคือ ระบบนี้จะโคลนข้อมูลเข้าไปเก็บในเซิร์ฟเวอร์ แล้วให้เข้าถึงจากอุปกรณ์ที่แตกต่างกันได้ โดยหน้าจอการใช้งานก็ยังเหมือนเครื่องเดสก์ท็อป ซึ่งจะเพิ่มความสะดวกให้เข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกอุปกรณ์ อีกทั้งคล่องตัว เช่น หากต้องการ RAM เพิ่ม เมื่อก่อนต้องจัดซื้อ RAM มาเสียบในเครื่องเดสก์ท็อป แต่ระบบนี้ไปยืม RAM จากเครื่องที่ไม่ได้ใช้งานมาใช้ได้เลย เป็นต้น

ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ย้ำว่า โซลูชั่นเหล่านี้นอกจากสร้างความคล่องตัวในการบริหารระบบและประหยัดงบประมาณแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการประหยัดเวลา ซึ่งเวลาเป็นสิ่งที่ไม่สามารถใช้เงินซื้อได้

ขอบคุณภาพจาก Blogone

เรื่องที่เกี่ยวข้อง