ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอจิรุตม์” ชี้หลักการ “ประกันภัย” กับ “หลักประกันสุขภาพ” แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง หวั่นบริษัทเอกชนไม่เคยบริหารหลักประกันสุขภาพ ระบุผู้กำหนดนโยบายต้องเคลียร์คอนเซ็ป-วิธีการทำงานให้ชัด

รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์

รศ.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (TRC-HS) เปิดเผยว่า ส่วนตัวไม่ได้เห็นด้วยหรือคัดค้านแนวคิดการให้บริษัทประกันเอกชนมาบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการข้าราชการ แต่ขอตั้งคำถามถึงความชัดเจนในหลักการดำเนินการ เนื่องจากจนถึงขณะนี้ยังไม่ปรากฏความชัดเจนในหลายประเด็น

รศ.นพ.จิรุตม์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสวัสดิการข้าราชการมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว ซึ่งเข้าใจว่ารัฐบาลคงพยายามหาแนวทางควบคุมค่าใช้จ่ายตรงนี้ให้ได้ จึงมีแนวคิดที่จะให้บริษัทประกันสุขภาพเอกชนเข้ามาบริหารจัดการแทน แต่บริษัทประกันสุขภาพเอกชนในประเทศไทยมีลักษณะเป็นบริษัทประกันภัยที่ดำเนินการด้วยวิธีการบริหารความเสี่ยง คือนำคนหลายๆ คนมารวมกันเพื่อกระจายความเสี่ยงแล้วจึงคิดราคาเบี้ยประกัน

อย่างไรก็ตาม การประกันสุขภาพมีความแตกต่างไปจากการประกันภัยทั่วๆ ไป กล่าวคือประกันภัยทั่วๆ ไปจะมีลักษณะเป็นอุบัติเหตุแท้ๆ คือเราไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้เลยว่าจะเกิดหรือไม่เกิด แต่ประกันสุขภาพที่นำมาเป็นทางเลือกในการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชนนั้น ในบางเรื่องไม่ใช่เรื่องกระจายความเสี่ยง แต่เป็นเรื่องการให้สิทธิคุ้มครองทุกคนแม้ว่าเขาจะป่วยอยู่แล้วก็ตาม

รศ.นพ.จิรุตม์ กล่าวอีกว่า ประกันสุขภาพทั่วๆ ไปจะมีการจำกัดความเสี่ยง ซึ่งหมายถึงความเสี่ยงของบริษัทประกันเพื่อให้สามารถคำนวณเบี้ยประกันภัยได้ เช่น กำหนดเพดานสิทธิประโยชน์ อาทิ ใช้สิทธิได้กี่ครั้งต่อปี เบิกได้ในวงเงินเท่าไร หรือในผู้สูงวัยหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว บริษัทประกันก็จะไม่รับประกัน ซึ่งแตกต่างไปจากหลักการของหลักประกันสุขภาพ

นอกจากนี้ การทำประกันภัยจะมีการกำหนดอายุหรือระยะเวลาประกัน คือต้องต่อเบี้ยประกันทุกปี ยกตัวอย่างเช่นประกันภัยรถยนต์ที่ต้องประเมินความเสี่ยงเป็นรายปี หากชนมากเบี้ยประกันก็จะเพิ่มขึ้น หากพฤติกรรมดีเบี้ยประกันก็จะลดลง ฉะนั้นบริษัทประกันจึงทำหน้าที่เหมือนคนที่ทั้งรวมความเสี่ยงและกระจายความเสี่ยง แต่เขาไม่ได้บริหารในลักษณะที่ต้องพยายามคุมค่าใช้จ่ายรายปีแบบการบริหารหลักประกัน

“พอจะเอาเรื่องประกันภัยมาใช้ในการบริหารสิทธิประโยชน์สวัสดิการข้าราชการซึ่งมีลักษณะเป็นหลักประกันสุขภาพ ก็จำเป็นต้องวางคอนเซ็ปตรงนี้ให้เคลียร์ เพราะที่ผ่านมายังไม่เห็นว่ามีการพูดคุยในเรื่องนี้ว่าจะทำกันอย่างไร กระทรวงการคลังบอกเพียงว่าจะให้สิทธิประโยชน์เหมือนเดิม ขณะที่บริษัทประกันภัยก็ยังไม่เคยบริหารหลักประกันสุขภาพแต่อย่างใด” รศ.นพ.จิรุตม์ กล่าว