ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แจงยิบประโยชน์นมแม่มหาศาล คุณค่าโภชนาการสูงสุด-ให้ภูมิต้านทานโรค ธรรมชาติกำหนดมาสำหรับมนุษย์เท่านั้น ระบุสารอาหารสอดคล้องกับการเจริญเติบโต เปิดงานวิจัยยืนยันกินนมแม่ต่อเนื่อง สมองพัฒนา-ไอคิวพุ่งปรี๊ด

เมื่อวันที่  21 ธ.ค.2559 มีการจัดประชุมการขับเคลื่อน “มติ 3.3 การควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก” ซึ่งอยู่ภายใต้การจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 พ.ศ.2559 แนวคิดหลัก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่ธรรมนูญระบบสุขภาพ และสุขภาวะที่ยั่งยืน” ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี

พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช

พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หากต้องการให้เด็กเจริญเติบโตได้เต็มศักยภาพ พัฒนาการดี อารมณ์ดี สุขภาพแข็งแรง องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่า ควรให้นมแม่ล้วนอย่างเดียว 6 เดือน หลังจากนั้นให้นมแม่ควบคู่กับให้อาหารตามวัยไปจนถึงอายุ 2 ขวบ หรือนานกว่านั้น โดยหากต้องการทำเรื่องนมแม่ให้สำเร็จ ต้องมี 3 ปัจจัย ประกอบด้วย 

1. Protection คือมาตรการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก รวมถึงปกป้องสิทธิแม่ที่ทำงานในการเลี้ยงลูกด้วยนม 

2. Promotion คือให้ความรู้แก่แม่และครอบครัว การสื่อสารผ่านสื่อต่างๆ การรณรงค์และการเคลื่อนไหวสังคม 

3. Support คือการสนับสนุนทุกรูปแบบ ตั้งแต่บุคลากรสาธารณสุข สถานที่ทำงาน กลุ่มสนับสนุนนมแม่ และกลุ่มแม่ช่วยแม่

พญ.ยุพยง กล่าวว่า นมแม่นับเป็นพื้นฐานแห่งชีวิตของเด็ก นมแม่เป็นทั้งทุนสมอง ทุนสุขภาพ และเป็นทุนด้านอารมณ์ โดยน้ำนมแม่ออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับลูกมนุษย์ เป็นการออกแบบมาเฉพาะสำหรับสปีชีส์ ซึ่งแน่นอนว่ามีความแตกต่างกับน้ำนมสัตว์ มีคุณค่าโภชนาการเหนือนมประเภทอื่น ให้ภูมิต้านทานโรค ยกตัวอย่างเช่น มีแลคโตสที่ช่วยทำให้เด็กฉลาดนั้น น้ำนมแม่มีถึง 7.0 gm/100ml ขณะที่นมวัวซึ่งนำมาผลิตนมผงนั้น มีเพียง 4.8 gm/100ml เท่านั้น

“สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 4,237 ชนิดในโลก พบว่ามนุษย์เป็นพันธุ์เดียวที่กลับไปหาสิ่งอื่นมาทดแทนวิธีการเลี้ยงทารกตามที่ธรรมชาติมอบให้” พญ.ยุพยง กล่าว

พญ.ยุพยง กล่าวอีกว่า ในน้ำนมแม่มีสารอาหารกว่า 200 ชนิด ขณะที่นมผงมีเพียง 30-40 ชนิด เมื่อเปรียบเทียบโปรตีนจะพบว่านมแม่มีปริมาณพอเหมาะและย่อยง่าย ขณะที่นมผงต้องเติมและปรับสัดส่วน ส่วนไขมันของน้ำนมแม่มีกรดไขมันจำเป็น DHA หรือ AA มีน้ำย่อยไขมัน ส่วนนมผงต้องไปเอามาจากน้ำมันของพืช นั่นหมายความว่าหากเด็กกินนมผงตั้งแต่ทารก เท่ากับกินน้ำมันพืชตั้งแต่แรกเกิด

สำหรับระยะการสร้างน้ำนม แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ 

1.หัวน้ำนม (colostrum) ซึ่งจะมีเฉพาะช่วง 1-2 วัน แรกเท่านั้น โดยหัวน้ำนมจะมีโปรตีน มีภูมิคุ้มกันโรคสูงมาก มีโซเดียม และมีโปแตสเซียมสูง มีสารช่วยการเจริญเติบโต ช่วยขับขี้เทา ลดอาการตัวเหลืองในเด็ก 

2.น้ำนมช่วงเปลี่ยน (transitional milk) ซึ่งจะผลิตในช่วง 5-14 วัน โดยน้ำนมจะใสขึ้นปลายสัปดาห์แรก immunoglobulin และ โปรตีนจะค่อยๆ ลดลง แต่แลคโตสและไขมันจะเพิ่มขึ้น วิตามินที่ละลายในไขมันลดลง วิตามินที่ละลายในน้ำเพิ่มขึ้น

3.น้ำนมที่สมบูรณ์เต็มที่ (mature milk) ซึ่งผลิตหลัง 14 วันเป็นต้นไป โดยน้ำนมในช่วงนี้จะมีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก 87% และเป็นน้ำนมที่บริษัทนมผงพยายามจะเติมสารอาหารต่างๆ ให้ใกล้เคียง โดยนมในระยนี้มีสารอาหารหลักคือโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน มีวิตามินละลายในน้ำมากกว่าวิตามินละลายในไขมัน มีแร่ธาตุ ภูมิต้านทานต่างๆ รวมถึงสารชีวภาพ น้ำย่อย ฮอร์โมน

“ระหว่างการให้นมมีทั้งนมส่วนหน้า นมส่วนหลัง ซึ่งทั้งหมดนี้มีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะสารอาหารที่สอดคล้องกับการพัฒนาของมนุษย์ ซึ่งในนมผงจะไม่มีสิ่งเหล่านี้ ดังนั้นหากเด็กกินนมผงก็จะได้ในสิ่งเดียวกันไปตลอดระยะเวลาที่กิน” พญ.ยุพยง กล่าว

นอกจากนี้ เด็กจำเป็นต้องอยู่กับแม่ตลอดเวลา เมื่อรอบตัวมีเชื้อโรคแม่ก็จะรับเชื้อโรคเหล่านั้นและร่างกายก็จะปรับน้ำนมมีภูมิต้านทานป้องกัน เมื่อลูกกินน้ำนมก็จะปลอดภัยและมีภูมิต้านทาน พร้อมกันนี้ข้อมูลระดับโลกพบว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยลดอัตราการตายของเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ได้สูงถึงร้อยละ 13 และข้อมูลจากรายงาน WHO พบว่า ถ้าเด็กได้กินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน จะมีพัฒนาการทางสองเพิ่มขึ้น 3.5 จุด (point)

พญ.ยุพยง กล่าวอีกว่า Deoni SCL,et al จากมหาวิทยาลัย Brown ได้ศึกษาการทำงานและปริมาตรของสมอง โดยใช้ MRI ในทารกจำนวน 133 ราย โดยกลุ่มแรกกินนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 3 เดือนแรก กลุ่มสองกินนมแม่ร่วมกับนมผสม และกลุ่มที่สามกินนมผสมอย่างเดียว โดยตรวจวัดสมองเมื่อทารกอายุ 10 เดือนไปจนถึง 4 ปี

ทั้งนี้ ผลการศึกษาพบว่าทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวเนื้อสมองส่วน white matter and sub-cortical gray matter volume and parietal lobe cortical thickness เพิ่มขึ้นมากกว่าทารกที่กินนมแม่ร่วมกับนมผสม และกลุ่มที่สองดีกว่ากลุ่มที่กินนมผสมอย่างเดียว ประมาณ 20-30% โดยช่วงที่เจริญเติบโตเร็วที่สุดอยู่ที่อายุ 2 ปี

“สรุปทารกที่ได้นมแม่อย่างเดียวในช่วงแรกๆ ของชีวิต สัมพันธ์กับการพัฒนาเชาว์ปัญญา (IQ) และการเรียนรู้ (cognitive functioning) ของเด็กและวัยรุ่น” พญ.ยุพยง กล่าว