ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กฎหมายจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ไม่คุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศ กระทบความมั่นคงทางยาของคนไทย เรียกร้องกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงยกเว้นเรื่องจัดซื้อยา วัสดุทางการแพทย์ เพื่อให้หน่วยงานรัฐสามารถสนับสนุน อภ.ได้ ตามนโยบายรัฐบาลที่ให้สนับสนุนสินค้านวัตกรรมของคนไทย

นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล นักวิจัยแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ผ่านความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.... ไปแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ภาคีเครือข่ายสุขภาพ 13 องค์กรได้เคยท้วงติงว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ได้มีมาตรการคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศ ธุรกิจชุมชน ธุรกิจขนาดเล็กอย่างเพียงพอ อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งด้านยาและสุขภาพของประเทศไทยได้ วันนี้ (25 ม.ค.) ภาคีเครือข่ายสุขภาพ 13 องค์กรได้ร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม เรียกร้องให้กระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลางออกกฎกระทรวงเพื่ออุดช่องโหว่ดังกล่าว

นางสาวกรรณิการ์ กล่าวว่า ยาเป็นสินค้าคุณธรรม ต้องคำนึงถึงคุณภาพ ความปลอดภัย ประสิทธิผลและประสิทธิภาพ รวมทั้งข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ การซื้อขายยาเป็นกลไกตลาดที่ไม่สมบูรณ์จึงไม่สามารถใช้กลไกการต่อรองแบบสินค้าทั่วไปมาใช้ในการซื้อขายยาได้จึงต้องมีข้อกำหนดและข้อยกเว้นเฉพาะ ดังนั้นภาคีเครือข่ายสุขภาพ 13 องค์กรเห็นว่า กระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลางควรออกกฎกระทรวงตามมาตรา 65 ของกฎหมายเพื่อให้หน่วยราชการและหน่วยงานที่จัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาแทน โดยสนับสนุนองค์การเภสัชกรรม และผู้ผลิตภายในประเทศ

“พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างยกเว้นให้แก่รัฐวิสาหกิจเพื่อการพาณิชย์ เหตุใดจึงไม่สนับสนุนรัฐวิสาหกิจที่มีพันธกิจเพื่อประชาชนอย่างองค์การเภสัชกรรม ยิ่งไปกว่านั้นยังยกเว้นการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์โดยอ้างเรื่องความมั่นคงของชาติ ซึ่งความมั่นคงทางยาเป็นความมั่นคงของชาติและของสังคมในความกว้างเช่นกัน จึงไม่มีเหตุผลที่กระทรวงการคลังจะไม่ยอมออกกฎกระทรวง”

ทางด้านนายอภิวัฒน์ กวางแก้ว รองประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า หากไม่มีการออกกฎกระทรวงยกเว้น จะทำให้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐนี้ทำลายหลักประกันความมั่นคงทางยา ทำลายองค์กรเภสัชกรรม ทั้งเรื่องราคา อำนาจในการต่อรองราคายาในอนาคต รวมถึงการบิดเบือนราคาเมื่ออุตสาหกรรมยาต่างประเทศครอบครองตลาดได้ทั้งหมด ขณะนี้ครอบครองได้มากถึง 70% แล้วขณะที่ผู้ผลิตในประเทศมีสัดส่วนแค่ 30% เท่านั้น ทำให้อนาคตการเข้าถึงยาของผู้ป่วยเรื้อรังย่อมได้รับผลกระทบ อาจถูกบังคับให้ร่วมจ่าย และทำลายระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในที่สุด

“ดังนั้น เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ และเครือข่ายผู้ป่วยโรคเรื้อรังจึงขอประกาศสนับสนุนและร่วมเคลื่อนไหวกับสหภาพแรงงานองค์การเภสัชกรรมเพื่อให้กระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงในเรื่องนี้”

นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล จากมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ชี้ว่า พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐฉบับนี้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของบรรษัทข้ามชาติในการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีหลายฉบับ เพื่อบังคับให้รัฐต้องเปิดให้บรรษัทเหล่านั้นเข้ามายึดกิจการสำคัญเพื่อทำกำไร โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนที่ต้องพึ่งพาบริการเหล่านี้ เช่น ระบบสาธารณูปโภค พลังงาน ฯลฯ รวมถึงระบบสุขภาพ เปรียบไปก็เหมือนการเปิดช่องไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และเข้าทางสิ่งที่บรรษัทข้ามชาติต้องการในข้อตกลงเขตการค้าเสรี โดยไม่ต้องเจรจา และอ้างเรื่องความโปร่งใสมาบังหน้า

“ยาเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญ และรัฐควรทำให้การเข้าถึงยามีความมั่นคง โดยส่งเสริมให้การผลิตภายในประเทศมีความเข้มแข็ง กรณียาต้านเอชไอวีเป็นหลักฐานชัดเจน ว่าประเทศสามารถขยายการรักษาและช่วยชีวิตประชาชนได้เป็นจำนวนนับแสนๆ คนในแต่ละปี เพราะยาที่ผลิตภายในประเทศในราคาที่ย่อมเยาว์และมีคุณภาพไม่แพ้ยานำเข้า พ.ร.บ. การจัดซื้อฯ จะสั่นคลอนระบบสุขภาพของประเทศทั้งระบบ และเอื้อประโยชน์บรรษัทยาต่างชาติมากกว่าอุตสาหกรรมยาในประเทศ ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศอาจเผชิญวิกฤตเรื่องการจัดหาซื้อยาและเวชภัณฑ์ได้”

นายฉลิมศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขจึงควรผลักดันให้กระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงยกเว้นเรื่องยาและเวชภัณฑ์จาก พ.ร.บ. ฉบับนี้ เหมือนที่ยกเว้นเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ ควรให้หน่วยงานรัฐ ผู้จัดซื้อแทนหน่วยงานรัฐ และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสามารถใช้ข้อยกเว้นได้ และไม่ควรมีข้อจำกัดหรือเงื่อนไขใดๆ ที่หน่วยงานเหล่านั้นจะใช้ข้อยกเว้น เช่น ในกรณีวิกฤตหรือฉุกเฉินเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อผดุงไว้ซึ่งความมั่นคงทางยาและระบบสาธารณสุขของประเทศ

ทางด้าน ภญ.ศิริพร จิตประสิทธิศิริ ชมรมเภสัชชนบทกล่าวว่า ข้อเสนอของภาคีเครือข่ายสุขภาพ 13 องค์กร ประกอบไปด้วย การเพิ่มข้อยกเว้นที่ไม่ใช่บังคับตาม พ.ร.บ. อาทิ การดำเนินการจัดหาในสถานการณ์ภัยพิบัติ ภาวะฉุกเฉิน ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุขของชาติ, การดำเนินการจัดหาที่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท (เพื่อปกป้องธุรกิจชุมชน ธุรกิจขนาดเล็ก), การดำเนินการจัดหายา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์จากหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ, การดำเนินการจัดหาสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ของคนไทยเพื่อพัฒนาสินค้าไทย และส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ

การเพิ่มเนื้อหาการจัดซื้อยาที่เคยมีตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา และ การเพิ่มการต่อรองราคาเพื่อประโยชน์ในกรณีดังต่อไปนี้ คือ (1) ราคาที่เสนอสูงกว่าราคากลาง (2) ราคาที่เสนอสูงกว่างบประมาณที่จัดซื้อจัดจ้าง (3) ราคาที่เสนอมีมูลค่าเกินกว่าราคาที่จัดซื้อได้ในตลาดหรือในท้องถิ่น

นางปราณี มั่นคง ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า ได้ไปตามเรื่องที่กระทรวงการคลังและยื่นหนังสือที่กระทรวงสาธารณสุขให้ร่วมผลักดันเรื่องนี้แล้ว ทั้งนี้การเคลื่อนไหวของสหภาพฯ ไม่ใช่เพื่อการเอาตัวรอดขององค์กรแต่เพื่อประโยชน์ของสังคมที่เป็นพันธกิจของรัฐวิสาหกิจที่รวมกันเป็นเครือข่ายไฟฟ้า ประปาและยาเพื่อชาติ

ทั้งนี้ ภาคีเครือข่ายสุขภาพ 13 องค์กร ประกอบไปด้วย ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.), แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จุฬาฯ (คคส.), มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา (มสพ.), กลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.), มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.), มูลนิธิเภสัชชนบท (มภช.), มูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม (มภส), หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม (วจภส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ, ชมรมเภสัชชนบท, ชมรมแพทย์ชนบท และ มูลนิธิพัฒนาการแพทย์แผนไทย (มพท.)