ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอสุวิทย์” ชี้จะทำซีแอลต้องรอจังหวะที่เหมาะสม ถ้าทำในยุค “รีพับลิกัน-ทรัมป์” ครองอำนาจ รับรองเหนื่อยแน่ เพราะทีมที่ปรึกษามีแต่คนของบริษัทยาข้ามชาติ ด้านภาคประชาชนเผยคำขอรับสิทธิบัตรยาในไทยกว่า 80% ไม่สมควรได้รับการคุ้มครอง

นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ

นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านหลักประกันสุขภาพ กล่าวในการเสวนาหัวข้อ “อนาคตการเข้าถึงยาจำเป็น เราควรทำอย่างไร” ในการประชุม “มองไปข้างหน้า : บทเรียน 10 ปี CL และการเข้าถึงยาจำเป็น” เมื่อเร็วๆ นี้ว่า โดยหลักการแล้ว ประชาชนในประเทศควรดูแลสุขภาพไม่ให้เกิดการเจ็บป่วย แต่ถ้าป่วยแล้วก็อาจไม่ต้องใช้ยา เพราะโรคกว่า 70-80% สามารถหายเองได้ แต่หากจำเป็นต้องใช้ยาก็ควรใช้ยาชื่อสามัญ (Generic Drug) แต่หากจำเป็นที่ต้องใช้ยาเฉพาะ ประเทศไทยก็มีระบบรวมกันจัดซื้อยาเพื่อสร้างอำนาจในการเจรจาต่อรอง

อย่างไรก็ตาม ถ้าต่อรองไม่สำเร็จ ก็สามารถประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) ได้ ตามมาตรา 50 ของ พ.ร.บ.สิทธิบัตร ขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาส ว่ามีนักการเมืองที่กล้าพอหรือไม่

“มีคนถามผมว่าเราจะทำซีแอลอีกไหม ผมตอบว่าทำแน่นอนเมื่อจังหวะและโอกาสเหมาะสม ตอนทำซีแอลคราวก่อน อาจารย์สำลี (ภญ.สำลี ใจดี) กับ นพ.สงวน นิตยารัมพงศ์ เสนอมาที่กระทรวงสาธารณสุข ท่านรัฐมนตรีในตอนนั้นถามผมว่าควรทำไหม ผมตอบว่าไม่ควร เพราะตอนนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สนิทกับอเมริกา ใครจะไปกล้าทำ เพราะฉะนั้นข้อเสนอของ นพ.สงวน ในครั้งแรกจึงถูกผมเอาไปดองเพราะจังหวะและโอกาสมันไม่ให้” นพ.สุวิทย์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ต่อมาเมื่อเปลี่ยนรัฐมนตรีเป็น นพ.มงคล ณ สงขลา ก็มีคำถามอีกว่าควรทำหรือไม่ ซึ่งในครั้งนี้ตนให้ความเห็นไปว่าควรทำได้แล้ว เพราะจังหวะและโอกาสได้ นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบหนุน เช่น การสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรี การสนับสนุนจากผู้บริหารองค์การเภสัชกรรม และองค์การอาหารและยาในสมัยนั้น องค์ประกอบและเงื่อนไขเหล่านี้ต้องครบ ถึงจะทำซีแอลได้

นอกจากเงื่อนไขภายในประเทศแล้ว ก็ต้องดูบริบทของสถานการณ์ต่างๆ ทั่วโลก เช่น พรรคริพับลิกันชนะเลือกตั้ง โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ถ้าทำซีแอล รับรองว่าดูไม่จืด เพราะที่ปรึกษาของทรัมป์มีแต่คนจากบริษัทยาข้ามชาติ

“ไปดูที่ปรึกษาเขาสิ บริษัทยานั่งกันเพียบ ถ้าคุณทำซีแอล รับรองดูไม่จืด ถ้าเป็นเดโมแครตยังพอเจรจากันได้ แต่พรรครีพับกัน...เหนื่อย” นพ.สุวิทย์ กล่าว

ด้าน นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า มาตรการซีแอลเป็นเครื่องมือทำให้บริษัทยายังเกรงใจ เพราะถ้าบอกว่าไม่ทำซีแอลแน่นอน อำนาจในการเจรจาต่อรองราคายาจะหายไปเลย ซึ่งในส่วนของ อภ.ยืนยันว่าพร้อมเสมอหากเงื่อนไขต่างๆ มาถึง

อย่างไรก็ดี ซีแอลคงไม่ใช่วิธีเดียวในการเข้าถึงยา ต้องหาวิธีอื่น เช่น 1.การเจรจาต่อรองหรือการใช้ยาชื่อสามัญ ควบคู่กับการมีมาตรการซีแอลเป็นเงาทะมึนอยู่เบื้องหลัง

2.การหาพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ ถึงจะต้องซื้อเทคโนโลยีก็ต้องยอม เช่น คิวบา มีเทคโนโลยีที่ดีในเรื่องวัตถุดิบ แต่ขาดแคลนเงิน ก็ได้ชักชวน อภ.เข้าไปตั้งโรงงานผลิตยา ซึ่งก็ได้ปฎิเสธไป แต่หากหารือกันเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี การซื้อเทคโนโลยี ก็น่าจะเป็นไปได้

3.พัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองไม่ว่าจะนานเท่าไหร่ก็ตาม ตอนนี้เป้าหมาย อภ.คือการวิจัยผลิตยามะเร็ง นอกจากนี้ยังได้หารือความร่วมมือกับประเทศพม่าในการพัฒนายาร่วมกัน เนื่องจากเรื่องยาของพม่าก้าวไปเร็วมาก

“ผมไม่เคยปฏิเสธซีแอล แต่ก็บอกเสมอว่าว่าเราจะเลือกเป็นทางเลือกท้ายๆ แต่ถ้าถึงเวลา อภ.ยังอยู่ครับ” นพ.นพพร กล่าว

ด้านนายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์เพื่อการเข้าถึงการรักษา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ระบบสิทธิบัตรเป็นต้นตอปัญหาของการเข้าถึงยา ตราบใดที่ไทยยังมีกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่มองเรื่องการค้าสำคัญกว่าเรื่องสุขภาพ

นอกจากนี้ จากประสบการณ์ยื่นคัดค้านการขอสิทธิบัตรในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่ากฎหมายสิทธิบัตรมีช่องโหว่เยอะมาก

“ที่ผ่านมาภาคประชาสังคมพยายามยื่นคัดค้านการขอสิทธิบัตรที่เรามองว่ามันไม่ถูกต้อง ไม่มีคุณสมบัติเพียงพอจะได้รับการคุ้มครอง แต่อุปสรรคเยอะมาก ตั้งแต่การขอทราบสถานะการขอสิทธิบัตรยาจากกรมทรัพย์สินทางปัญหา เป็นเรื่องยากมาก ต้องตอบจดหมายไปมากัน 6-7 รอบ รวมทั้งระยะเวลาการยื่นคัดค้าน 90 วัน ซึ่งกว่าจะขอข้อมูลมาได้ กว่าจะศึกษาข้อมูลได้ นักวิชาการก็มีเวลาเหลือน้อยในการศึกษาทำความเข้าใจและเขียนคำคัดค้าน”นายเฉลิมศักดิ์ กล่าว

นอกจากนี้ ภาษาที่ใช้ในการขอสิทธิบัตรก็อ่านไม่รู้เรื่อง แม้จะให้ผู้เชี่ยวชาญอ่านก็ยังงงว่าขอคุ้มครองเรื่องอะไร ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญหาอ่านเข้าใจ และให้สิทธิบัตรได้อย่างไร และจากการที่ทีมวิชาการได้ค้นย้อนหลัง 10 ปี พบว่ากว่า 80% เป็นคำขอรับสิทธิบัตรที่ไม่สมควรได้รับการคุ้มครองเลย