ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.ศูนย์เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขฯ บังคลาเทศ เผย รัฐบาลบังคลาเทศ ตั้งเป้าบรรลุจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปี 2575 อยู่ระหว่างนำร่องบางพื้นที่แล้ว แจงเลือกศึกษาดูงานไทย เป็นประเทศมีความใกล้เคียงและประสบผลสำเร็จในนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พร้อมเข้าเยี่ยมชมการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช.

Mr.Md Nuruz Zaman

ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) – เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 60 เวลา 09:30 น. Mr.Md Nuruz Zaman (นายโมฮัมเหม็ด นารุซ ซามาน) ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข (Health Economics Unit, HEU) กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการครอบครัว (Ministry of Health and Family Welfare, MOHFW) พร้อมด้วยคณะ ที่ได้รับการสนับสนุน จาก Siam Health Foundation (SHF) ซึ่งมีมูลนิธิที่อยู่ในประเทศไทย แต่มีสำนักงานอยู่ที่ บังคลาเทศ และ มาเลเซียด้วย ทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพ โดยจัดการอบรมให้กับองค์กรภาครัฐ NGOs และชุมชน ในประเทศแถมเอเชียแปซิฟิค ได้แก่ บังคลาเทศ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย จีน และฟิลิปปินส์ ได้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของ สปสช.ในการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และศึกษาการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย โดยมี นพ.กฤช ลี่ทองอิน ที่ปรึกษาสำนักสนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิ และ สำนักหลักประกันสุขภาพระหว่างประเทศ สปสช. พร้อมเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ

นายโมฮัมเหม็ด นารุซ ซามาน กล่าวว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกประเทศต่างให้ความสนใจ โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ที่ต่างมีความมุ่งมั่นเพื่อให้ประเทศสามารถจัดตั้งและดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อดูแลประชาชนในประเทศให้เข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุข นับเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และบังคลาเทศเป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ระหว่างการผลักดันเรื่องนี้ และได้มีการนำร่องไปแล้วในบางพื้นที่ ด้วยเหตุนี้จึงได้เดินทางมาศึกษาดูงานการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย เพราะนอกจากไทยและบังคลาเทศมีความใกล้กันแล้ว ยังประเทศไทยยังเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตั้งแต่ปี 2545 ทั้งที่ผ่านมายังมีการพัฒนาระบบ บริการและคุณภาพบริการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนได้รับบริการที่ครอบคลุมและทั่วถึง

“การมาเรียนรู้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจากประเทศไทยน่าจะทำให้บังคลาเทศบรรลุเป้าหมายการจัดตั้งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้เร็วขึ้นเพราะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงที่ได้ดำเนินการในประเทศไทยและนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับประเทศบังคลาเทศได้เลย  ซึ่งรัฐบาลบังคลาเทศมีนโยบายและความมุ่งมั่นที่จะสร้างหลักประกันสุขภาพให้แก่ชาวบังคลาเทศ และได้ตั้งเป้าที่จะบรรลุการจัดตั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายในปี 2575 แม้ว่าจะล่าช้ากว่าเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติที่ต้องการการให้ทุกประเทศมีการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายในปี 2573 เนื่องจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเรื่องที่ยาก และต้องอาศัยทรัพยากร การพัฒนาด้านต่างๆ รวมถึงการขับเคลื่อนจากหลายฝ่าย” 

นายโมฮัมเหม็ด นารุซ ซามาน กล่าวต่อว่า สำหรับสิ่งที่ต้องเรียนรู้การดำเนินหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย เริ่มตั้งแต่กระบวนการดำเนินงาน การบริหารจัดการกองทุน การคุ้มครองสิทธิประชาชนด้านสุขภาพ การเจรจาต่อรองกับหน่วยบริการ ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานทั้งในอดีตและความท้าทายในอนาคตเพื่อทำให้ระบบมีความยั่งยืน รวมถึงการทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการจัดตั้งและดำเนินหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือความเป็นผู้นำและความมุ่งมั่นของผู้นำประเทศ หน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนนโยบายจนเป็นที่ยอมรับและชื่นชมจากนานาประเทศ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง