ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โลกของยา ธุรกิจยา และระบบบริการสาธารณสุขมีความซับซ้อน ยากที่กรมบัญชีกลางจะรู้เท่าทัน และถ้าไม่มีความมั่นคงหนักแน่นในหลักการเพียงพอ ก็ไม่มีทางจะรักษาธรรมาภิบาลไว้ได้  โดยเฉพาะกรมบัญชีกลางมี “อำนาจ” ในการใช้ดุลพินิจ จะให้ยาหรือวิธีการตรวจรักษาใดมีสิทธิเบิกจากสวัสดิการรักษาพยาบาลได้ โอกาสที่จะฉ้อฉล (Corruption) ก็เกิดขึ้นได้ ตามอมตพจน์ของลอร์ด แอคตัน ที่ว่า “อำนาจทำให้ฉ้อฉล อำนาจเบ็ดเสร็จทำให้ฉ้อฉลเบ็ดเสร็จ” (Power tends to corrupt, absolute power corrupts absolutely)

ขอให้ดูจากตัวอย่างของจริงจากวัคซีน “ป้องกันมะเร็ง” 2 ตัว

ตัวแรก คือ วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี เป็นวัคซีนตัวแรกของโลกที่ถือว่าสามารถป้องกันมะเร็งได้ เพราะสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของโรคตับอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญอันหนึ่งของมะเร็งตับ วัคซีนตัวนี้ เมื่อค้นพบ และผ่านการทดสอบจนพิสูจน์ว่ามีความปลอดภัย สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีได้จริง และสามารถขึ้นทะเบียนกับสำนักงานอาหารและยา (อย.) สหรัฐฯ ได้ เมื่อปี 1990 วัคซีนนี้มีราคาแพงมาก เข็มละ 600 เหรียญสหรัฐฯ

การที่บริษัทวัคซีนตั้งราคาสูงมาก ก็เพราะต้องถอนทุนจากการลงทุนวิจัยและพัฒนาไปเป็นจำนวนมาก วัคซีนนี้จึงขายได้ยากในประเทศทั่วไป และเป็นไปไม่ได้เลยที่จะขายในประเทศกำลังพัฒนา แต่วัคซีนนี้ก็ขายได้ในสหรัฐฯ โดยกลุ่มเป้าหมายแรกที่ได้วัคซีนนี้คือบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งมีความเสี่ยงสูงกว่าประชากรทั่วไปในการสัมผัสและติดโรคนี้ ต่อมาวัคซีนนี้ก็มีราคาถูกลงโดยลำดับ และถูกลงมากเมื่อบริษัทต้องการขยายตลาดอย่างกว้างขวางทั่วโลก ราคาถูกลงมากเพราะแท้จริงแล้วต้นทุนการผลิตถูกมาก บริษัทจึงสามารถกำหนดราคาถูกลงมากโดยยังสามารถทำกำไรได้มาก ตามหลักการทางการค้าที่ว่า “ขายน้อยๆ กำไรมากๆ กำไรไม่มาก ขายมากๆ กำไรน้อยๆ กำไรไม่น้อย”

คำถามก็คือ ราคาเท่าไรจึงจะพอดีๆ ที่ผู้ขายก็พอใจขาย และผู้ซื้อก็พอใจซื้อ กระบวนการคือ จะต้องมีการเจรจาต่อรองโดยใช้เวลายาวนานพอสมควร โดยอำนาจต่อรองมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าจะซื้อจำนวนมากเท่าใดและข้อสำคัญฝ่ายผู้ซื้อจะต้องมีความสุจริต คือ ต้องไม่มีการเรียกร้อง “เงินทอน” หรือผลประโยชน์ตอบแทน ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ

ประเทศไทย เริ่มพิจารณาเรื่องนี้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มจากการศึกษาทางระบาดวิทยาใน 2 จังหวัดว่า มีอุบัติการณ์ (Incidence) และความชุก (Prevalence) ของการติดเชื้อโรคนี้มากน้อยเท่าไรในประชากร และศึกษาความคุ้มค่าในการฉีดวัคซีนว่าจะต้องลงทุนปีละเท่าใด แล้วสามารถป้องกันความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากการติดเชื้อ ป่วยเป็นโรคตับอักเสบ และมะเร็งมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้เชื้อโรคนี้ ประชากรส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อจะหายเองโดยไม่ป่วยเป็นโรคตับอักเสบ มีภูมิคุ้มกันโรคและไม่กลายเป็นมะเร็ง

ตัวเลขสำคัญที่จะใช้ในการตัดสินใจว่าควรจะซื้อวัคซีนมาฉีดให้แก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายหรือไม่ คือราคาต่อโด๊สของวัคซีน ขณะนั้นองค์กรระดับโลกที่พิจารณาเรื่องนี้ คือ องค์การยูนิเซฟและองค์การอนามัยโลก โดยได้ขอต่อรองว่า ถ้าราคาลดลงเหลือเข็มละ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ก็จะมีการซื้อจำนวนมาก ประเทศไทยก็รอตัวเลขนี้เหมือนกัน ในที่สุดประเทศไทยก็เริ่มบรรจุวัคซีนตัวนี้เข้าใน “แผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแห่งชาติ” (National Immunization Program) เมื่อสามารถซื้อวัคซีนนี้ได้ในราคาโด๊สละ 1 ดอลลาร์ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อราว 3 ทศวรรษมาแล้ว

สมัยนั้น ผู้บริหารในกระทรวงสาธารณสุขส่วนใหญ่ ยึดมั่นในระบบคุณธรรม ซึ่งต่อมาเรียกว่าธรรมาภิบาล ผู้นำในสภาวิชาชีพต่างๆ ก็ยังมี “ยางอาย” สูง ไม่ออกมาให้ความเห็น “ทางวิชาการ” เพื่อกดดันให้เร่งนำวัคซีนเข้ามาใช้ ซึ่งจะทำให้ขบวนการเจรจาต่อรองราคาทำได้ยากขึ้น

มาถึงวัคซีนป้องกันมะเร็งตัวที่สองคือวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี (HPV : Human Papillomavirus) ซึ่งสามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกจากการติดเชื้อไวรัสตัวนี้ได้ วัคซีนตัวนี้เริ่มเข้ามาเมืองไทยในราคาเข็มละ 5,000 บาท ต้องฉีด 3 เข็ม โดยต้องฉีดในเด็กผู้หญิงที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ จึงจะป้องกันการติดเชื้อได้ จึงกำหนดให้ฉีดในเด็กผู้หญิงอายุ 8 ขวบ

ไวรัสเอชพีวีที่ติดเชื้อและ “อาจ” ทำให้เกิดมะเร็ง มีหลายสายพันธุ์ วัคซีนที่ผลิตออกมาสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ราวร้อยละ  90-100 แต่เชื้อที่มีในวัคซีนเป็นต้นเหตุให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกเพียงร้อยละ 70 เมื่อคิดคำนวณรวมกันแล้ววัคซีนนี้จึงป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ราวร้อยละ 60-70 แต่มีการโฆษณาอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดความเข้าใจว่าวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ใกล้เคียงกับ 100% เหมือนวัคซีนป้องกันคอตีบ บาดทะยัก โปลิโอ หรือตับอักเสบบี

แต่เพราะวัคซีนมีราคาแพง ประชาชนทั่วไปย่อมไม่มีกำลังซื้อพอที่จะแบกรับได้ ที่สำคัญหากมีการฉีดวัคซีนแล้ว องค์การอนามัยโลกยังแนะนำให้มีการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเช่นเดิมในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนเมื่อโตขึ้น เนื่องจากวัคซีนไม่สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ 100% หากมีการตัดสินใจฉีดวัคซีนตัวนี้ จึงต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายอีกปีละจำนวนมาก แต่ไม่สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เพราะยังต้องทำต่อไปตามเดิม

ปัญหาคือ รัฐควรจะเป็นผู้ซื้อวัคซีนนี้ฉีดแก่ประชาชนทั่วไปหรือไม่ องค์กรที่ทำหน้าที่ศึกษาพิจารณาเรืองนี้คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งรับผิดชอบดูแลเรื่องวัคซีนแก่ประชาชนทั่วประเทศ และคณะกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งจะต้องพิจารณาบรรจุวัคซีนนี้เข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติเสียก่อน สปสช. จึงจะสามารถใช้งบประมาณจัดซื้อได้

สปสช.และคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ มีกลไกที่ดีในการกลั่นกรองพิจารณา โดยมีการศึกษาทั้งด้านวิชาการ ความคุ้มค่า และราคาที่เหมาะสม เพราะจะต้องใช้งบประมาณก้อนโต และเมื่อเริ่มใช้แล้วก็ผูกพันต้องใช้ต่อเนื่องต่อไป

ในระดับสากล มีองค์กรคือ “พันธมิตรโลกเพื่อริเริ่มวัคซีน” (Global Alliance for Vaccine Initiative) หรือ “กาวี” (GAVI) ทำหน้าที่เจรจาต่อรองราคาจนเหลือเข็มละ 4.25 เหรียญสหรัฐ (ราว 145 บาท) และได้ระดมทุนซื้อไปขายให้แก่ประเทศยากจน ในราคาเข็มละ 25 เซ็นต์ หรือ 8.50 บาท ประเทศไทยพ้นจากสถานะประเทศยากจนมานานแล้ว ไม่สามารถขอรับอานิสงส์จากโครงการของ “กาวี” ได้ ต้องพึ่งตนเองเท่านั้น จึงดำเนินการด้วยความรอบคอบ

ในประเทศไทย ไฮแทปได้รับมอบหมายจาก อย.และ สปสช. ให้ศึกษาเรื่องนี้ จนได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่าราคาที่คุ้มค่าควรจะอยู่ที่เข็มละ 6 ดอลลาร์ หรือราว 200 บาท แต่เนื่องจากวัคซีนตัวนี้ยังมีประสบการณ์ในการใช้ไม่นานพอ จึงไม่ทราบว่าในอนาคต จะต้องฉีดซ้ำอีก 1-2 เข็มหรือไม่ เพราะที่คาดว่าวัคซีนจะป้องกันโรคได้ตลอดชีวิตนั้น ไม่มีผู้ใดสามารถยืนหยัดได้ ดังปรากฏกับวัคซีนบางตัวที่ต้องฉีดซ้ำในภายหลัง จากการคำนวณพบว่าหากต้องฉีดซ้ำถึง 2 เข็มก็ต้องเพิ่มค่าใช้จ่าย ทำให้ราคาที่คุ้มค่าจะอยู่ที่ราว 1 ดอลลาร์ ประธานอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติในขณะนั้นจึงเสนอกับบริษัทยาที่ไปติดต่อว่า ควรขายให้ในราคา 1 ดอลลาร์

ช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีการเคลื่อนไหวเพื่อหาประโยชน์จากความตื่นตัวของประชาชนอย่างกว้างขวาง กรมหนึ่งในกระทรวงสาธารณสุขได้เคยเตรียมตั้งงบประมาณ เสนอรัฐมนตรีสมัยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ให้ซื้อวัคซีนนี้ในราคาเข็มละ 15 เหรียญ รัฐมนตรีจุรินทร์เชิญไฮแทปไปให้ข้อมูล ได้ตัวเลขที่ควรซื้อในขณะนั้นคือ 6 เหรียญ รัฐมนตรีจุรินทร์ จึงพับโครงการ เพราะเกรงจะมีคำถามใหญ่คือ ส่วนต่าง 15-6 = 9 เหรียญ เข้ากระเป๋าใคร

ระหว่างนั้นมี “ผู้เชี่ยวชาญ”บางคน ออกมาพูดเป็นระยะๆ เพื่อเร่งให้บรรจุวัคซีนนี้เข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติ มีการหาทางกดดันโดยการเสนอผ่าน “ช่องทางใหม่” ที่ภาพลักษณ์ “ดูดี” และเหมาะสม เพราะเป็นองค์กรระดับชาติ คือ “คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ” ซึ่งแท้จริงแล้วมีกรรมการบางคนมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทวัคซีน แต่ไม่ปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะ ซึ่งในที่สุดก็สามารถผลักดันจนผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการดังกล่าว โดยพิจารณาจากมุมมองด้าน “ประโยชน์” ของวัคซีนเป็นหลัก มิได้พิจารณาถึงผลกระทบด้านอื่นโดยเฉพาะด้านงบประมาณ และความคุ้มค่า

มีการดำเนินการเพื่อเร่งให้นำวัคซีนดังกล่าวเข้าสู่ระบบงานสร้างภูมิคุ้มกันโรคของชาติ โดยการบีบให้ คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติต้องรับวัคซีนนี้เข้าบัญชีโดยอัติโนมัติ โดยการให้มหาวิทยาลัยมหิดลทำการศึกษา หาเหตุผลเพื่อ “ลัดขั้นตอน” โดยการหาทางตัดอำนาจการใช้ดุลพินิจของคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติในเรื่องนี้ ให้เป็นอำนาจของคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติแทน

แต่ผลการศึกษาของทีมงานจากมหาวิทยาลัยมหิดลพบว่าระบบของคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติดีอยู่แล้ว เพราะมีระบบการตรวจสอบและจัดการผลประโยชน์ทับซ้อนที่เข้มแข็ง คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเสียอีกที่มีกรรมการบางคนที่ชอบออกมาพูดกดดันเร่งรัดให้จัดซื้อวัคซีน มี “ผลประโยชน์ทับซ้อน” กับบริษัทยาที่ขายวัคซีน

สมัยที่ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน เป็นรัฐมนตรีสาธารณสุข มีการวางกฎเกณฑ์เพื่อป้องกัน “การวิ่งเต้น” ไว้อีก 2 ชั้น เพื่อให้การตัดสินใจใช้งบประมาณของประชาชนเป็นไปอย่างรอบคอบ ป้องกันการใช้อำนาจแฝงบีบบังคับ และมิให้ผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาแสวงประโยชน์ได้โดยง่าย จึงกำหนดว่าก่อนบรรจุวัคซีนใหม่ตัวใดที่มีราคาแพงเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ จะต้องปรึกษาหารือกับคณะอนุกรรมการสิทธิประโยชน์ และคณะอนุกรรมการการเงินการคลังใน สปสช. เสียก่อน เพราะ สปสช.ต้องรับผิดชอบเรื่องงบประมาณจำนวนมาก หลักการนี้ได้กำหนดขึ้นอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีการร่วมประชุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง จนได้ข้อยุติ แล้วจึงเวียนแจ้งให้ทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติ

แต่เพราะแรงกดดัน วิ่งเต้น เข้าหาผู้มีอำนาจให้บีบบังคับจากหลายทาง รวมทั้งการกดดันทางสื่อ อีกทั้งผู้บริหารยังด่วนประกาศว่าจะรับวัคซีนเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติทั้งที่อยู่ระหว่างการต่อรองราคา ซึ่งย่อมทำให้ผู้ขายไม่ยอมลดราคาจนถึงที่สุด เหมือนเราไปตลาดตกลงกับคนขายไว้ก่อนว่าตกลงจะซื้อแล้วค่อยต่อรองราคา คนขายที่ไหนจะยอมลดราคาให้อย่างเป็นกอบเป็นกำ 

อันที่จริง เรามีข้อต่อรองที่สำคัญกับบริษัทยา เพราะแท้จริงแล้วการใช้วัคซีนตัวนี้ ไม่ใช่ว่าจะไม่มีความเสี่ยง เพราะขณะนั้นมีหลายประเทศได้ฉีดวัคซีนนี้ไปแล้ว เริ่มทยอยมีรายงานอาการไม่พึงประสงค์ (adverse reactions) ออกมา โดยเฉพาะอาการไม่พึงประสงค์ที่ไม่ปรากฏระหว่างการศึกษาวิจัยก่อนขึ้นทะเบียนยา เพราะ “กลุ่มตัวอย่าง” ที่ได้รับวัคซีนในโครงการวิจัยยังมีจำนวนไม่มากพอ หลังจากมีการฉีดวัคซีนไปจำนวนมาก อาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้ก็ค่อยๆ โผล่ออกมาให้เห็น ซึ่งบางกรณีอาจเป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่ “ร้ายแรง” (serious adverse reaction) ถึงขั้นต้องพิจารณาถอนยาออกจากท้องตลาด ก็เคยปรากฏให้เห็นเป็นครั้งคราว ตัวอย่างเช่น เคยมีวัคซีนป้องกันโรคท้องร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า (Rotavirus) ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของโรคท้องร่วงรุนแรงในเด็กเล็กทั่วโลก

วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสตัวนี้ เมื่อค้นพบใหม่ๆ เป็นที่ชื่นชมยินดีของทั่วโลก มีการมอบรางวัลเกียรติยศให้แก่นักวิทยาศาสตร์ที่พัฒนาวัคซีนตัวนี้จนสำเร็จ ในที่ประชุมครั้งหนึ่งที่องค์การอนามัยโลก ในกรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ จนมีการขึ้นทะเบียนจำหน่ายได้ แต่เพราะวัคซีนนี้ เมื่อออกมาใหม่ๆ ยังมีราคาแพง มีเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่มีความสามารถซื้อไปฉีดให้แก่เด็กของตนได้ คือ สหรัฐฯ แต่หลังจากฉีดไปได้เป็นหลักล้านโด๊ส ก็ปรากฏ “อาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรง” คือมีเด็กที่ได้รับวัคซีนเกิดลำไส้อุดตัน จนถึงขั้นเสียชีวิตไป 2 ราย กระทรวงสาธารณสุข โดยศูนย์ควบคุมโรคแห่งชาติได้ทำการสอบสวนโรค พบความสัมพันธ์ของโรคกับการได้รับวัคซีนอย่างชัดเจน ค่าอัตราส่วน “ออดส์” (Odd’s Ratio) ถึง 20 ต่อ 1

คณะกรรมการวัคซีนของสหรัฐฯ จึงออกรายงานว่าวัคซีนนั้นไม่ปลอดภัย อย.สหรัฐฯ ไม่ทันต้องพิจารณาถอนทะเบียน บริษัทยาก็รีบถอนวัคซีนนี้ออกจากตลาดยาไปก่อน เพราะไม่เช่นนั้นอาจเกิดกรณีถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายมากมายได้

สาเหตุที่เกิดลำไส้อุดตัน เพราะวัคซีนมีกลไกการทำงานคือไปกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ลำไส้ โดยกระตุ้นให้บริเวณที่เรียกว่าเพเยอร์ส แพทช์ (Peyer’s Patch) หนาตัวขึ้นจากการที่เซลล์เม็ดเลือดขาวเพิ่มจำนวนขึ้น จึงขัดขวางการเคลื่อนตัวของลำไส้จนเกิดการอุดตันของลำไส้ในเด็กบางราย กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นน้อยมาก (very rare) แต่ร้ายแรงเพราะทำให้ถึงตายได้ ทำให้ต้องมีการถอนยาออกไปพัฒนาต่อก่อนจะนำกลับมาใช้ใหม่ หลังจากนั้นอีกหลายปี

ผลข้างเคียงที่สำคัญของวัคซีนเอชพีวี ตามที่มีการทยอยรายงานออกมา ได้แก่ อาการชัก (seizures), การทำลายสมอง(brain damage), ตาบอด (blindness), อัมพาต (paralysis), ปัญหาในการพูด (speech problems), ตับอ่อนอักเสบ (pancreatitis) และสูญเสียความทรงจำระยะสั้น (short-term memory loss) ประเทศญี่ปุ่นรายงานอาการไม่พึงประสงค์จำนวน 1,968 ครั้ง และในจำนวนนี้มีถึง 358 ครั้ง ที่เป็นอาการรุนแรง ซึ่งประเมินโดยกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น ในขณะนี้ การใช้วัคซีนตัวนี้ในญี่ปุ่น ลดลงจาก 70% เหลือเพียง 1% 

นอกจากเรื่องอาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้แล้ว ข้อมูลที่ว่า “กาวี” สามารถซื้อได้ในราคา 145 บาท ก็เป็นข้อต่อรองที่สำคัญ

ที่น่าสังเกตคือกรมซึ่งเป็นหน่วยงานวิชาการผู้ผลักดันเรื่องนี้มาตลอดยังมาปล่อยไก่ ในช่วงท้าย โดยการเสนอของบประมาณสำหรับจัดซื้อวัคซีนสำหรับฉีด 3 เข็มต่อเด็กหญิงหนึ่งคน ทั้งที่องค์การอนามัยโลกมีข้อแนะนำใหม่มาเกือบ 2 ปีแล้วให้ฉีดแค่ 2 เข็มเพราะมีหลักฐานว่าการฉีดวัคซีนในเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี และไม่มีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกันบกพร่องจะได้ประโยชน์เท่ากับการฉีดวัคซีน 3 เข็ม แต่ลดโอกาสเกิดผลข้างเคียง และอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนคือปลอดภัยและประหยัดงบประมาณ โชคดีที่คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติทักท้วงจนได้รับการแก้ไขในที่สุด ส่งผลให้ประหยัดงบประมาณประเทศไปได้อีกราว 150 ล้านบาท น่าสังเกตว่ากรมดังกล่าวยังเป็นผู้ร่วมเรียกร้องให้คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติไม่ต้องมาพิจารณาเรื่องวัคซีน แต่ให้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติที่กรมเป็นเลขานุการเป็นผู้พิจารณาตัดสินแทนด้วย

ปัจจุบันวัคซีนตัวนี้ได้ผ่านความเห็นชอบให้เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว โดยได้ราคาที่เข็มละ 375 บาท โดยไม่ผ่านคณะอนุกรรมการ 2 คณะใน สปสช.ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้

กรมบัญชีกลางมีตัวแทนในคณะอนุกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่บรรจุวัคซีนนี้เข้าบัญชีโดยข้ามขั้นตอนด้วย แต่ก็ไม่ได้มีการทักท้วงใดๆ

ผู้เขียน : นพ.วิชัย โชควิวัฒน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

นพ.วิชัย โชควิวัฒน : เย ธัมมา เหตุปปภวา....(1)

นพ.วิชัย โชควิวัฒน : เย ธัมมา เหตุปปภวา...(3) ทางแก้ “หมอยิงยา-คนไข้เวียนเทียน”