ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงพยาบาลป่าตองออกใบรับรองการเกิดให้ลูกแรงงานข้ามชาติได้ 100% หัวหน้าห้องคลอด ระบุสามารถบริหารจัดการ “นมผสม” ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้โดยไม่กระทบสิทธิคนไทย

น.ส.หทัยรัตน์ รังสรรค์สฤษดิ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หัวหน้าห้องคลอด โรงพยาบาลป่าตอง เปิดเผยว่า โครงการนมผสมเป็นโครงการที่รัฐบาลต้องการลดปัญหาการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) จากแม่สู่ลูก ด้วยการสนับสนุนให้ทารกดื่มนมผสมแทนนมแม่ โดยจะให้เฉพาะเด็กไทยที่เกิดจากมารดาซึ่งมีเชื้อเอชไอวีเท่านั้น ส่วนบุตรของแรงงานข้ามชาติไม่มีสิทธิได้รับการสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม จากการทำงานในห้องคลอดมาเป็นเวลานานและพบว่านมผสมจำนวนมากถูกทิ้งให้หมดอายุโดยไม่เกิดประโยชน์ ขณะที่แรงงานข้ามชาติก็ไม่มีเงินเพียงพอที่จะหาซื้อนมผสมเหล่านี้ได้ จึงคิดว่าน่าจะบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ได้ ส่วนตัวทำงานอยู่ในห้องคลอดมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี และได้ริเริ่มโครงการสนับสนุนนมผสมให้กับลูกของแรงงานข้ามชาติ โดยได้หารือกับผู้อำนวยการโรงพยาบาล และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ภูเก็ต

"เห็นคนไข้ตาดำๆ เป็นชาวพม่าที่ไม่มีเงิน เขาก็ไม่รู้จะไปหาเงินที่ไหนมาซื้อนมให้ลูก ในขณะที่คนไทยซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลก็ไม่ได้มารับนมอย่างต่อเนื่อง เราก็คิดว่าแทนที่จะปล่อยให้นมหมดอายุหรือทิ้งเปล่าๆ ก็น่าจะเอาไปช่วยเหลือแรงงานเหล่านั้น ส่วนตัวคิดว่าการบริหารจัดการภายในให้ได้ประสิทธิภาพโดยไม่กระทบกับสิทธิเดิมของคนไทย ก็น่าเป็นเรื่องที่ทำได้" น.ส.หทัยรัตน์ กล่าว

น.ส.หทัยรัตน์ กล่าวว่า แรงงานชาวพม่าที่มีความเข้าใจในการดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์จะค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพมากกว่าคนไทย แต่ก็มีแรงงานบางส่วนที่เข้าไม่ถึงความรู้ โดยเฉพาะอุปสรรคเรื่องการสื่อสารที่ทำให้แม่บางรายที่ตรวจพบเชื้อเอชไอวียังคงมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อตัวเองและบุตรในครรภ์ โดยโครงการของรัฐบาลเป็นสิ่งที่ดีมาก จะมีการสนับสนุนนมผสมแก่แม่เป็นปีต่อปีตามจำนวนแม่ที่โรงพยาบาลขึ้นทะเบียนไว้

"รัฐบาลจะให้การสนับสนุนเป็นรายปี บางปีก็น้อย บางปีก็มาก ขึ้นอยู่กับจำนวนแม่ที่ติดเชื้อเอชไอวี ดังนั้นแต่ละปีโรงพยาบาลก็จะมีศักยภาพในการดูแลได้ไม่เท่ากัน ในส่วนของแรงงานข้ามชาตินั้น หากปีใดสต็อกนมเหลือน้อยหรือหมดก็ช่วยไม่ได้ เพราะเราต้องให้ความสำคัญกับคนไทยตามนโยบายเป็นลำดับแรก" น.ส.หทัยรัตน์ กล่าว

สำหรับนโยบายของโรงพยาบาลป่าตองคือให้บริการคนทุกเชื้อชาติอย่างเท่าเทียม บุคลากรในโรงพยาบาลจะต้องเข้าใจและมีทัศคติที่ดีกับแรงงานข้ามชาติ ซึ่งจะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ทำงานแผนกห้องคลอด โรงพยาบาลป่าตองสามารถออกใบรับรองการเกิดให้กับบุตรของแรงงานข้ามชาติได้ 100% มากไปกว่านั้นก็คือยังมีการจัดบริการพิเศษคลินิกรับฝากครรภ์สำหรับแรงงานข้ามชาติในทุกๆ วันจันทร์ด้วย

"ที่โรงพยาบาลป่าตองไม่มีปัญหาการออกใบรับรองการเกิด เราออกให้เด็กทุกคนได้ทั้ง 100% จากนั้นก็เป็นเรื่องของพ่อแม่ที่จะไปแจ้งเกิดกับหน่วยราชการ ซึ่งบางรายพ่อแม่ก็ไม่ไปดำเนินการและทิ้งเอกสารเอาไว้ที่โรงพยาบาล ซึ่งในอนาคตอาจเกิดปัญหาเรื่องสัญชาติกับเด็กได้ อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นทางห้องคลอดก็ได้จัดเก็บเอกสารเหล่านั้นเอาไว้เพื่อใช้เป็นหลักฐานในอนาคต" น.ส.หทัยรัตน์ กล่าว

น.ส.หทัยรัตน์ กล่าวว่า ความสำเร็จในการให้บริการแรงงานข้ามชาติขึ้นอยู่กับทัศนคติและนโยบายของโรงพยาบาลเป็นสำคัญ อย่างโรงพยาบาลป่าตองมีทั้งเก็บค่ารักษาพยาบาล ให้ผ่อนชำระ รวมไปถึงให้การอนุเคราะห์การรักษา ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการภายในให้สมดุล โรงพยาบาลป่าตองมีรายได้จากส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะสิทธิการชำระเงินเอง อาทิ ค่ารักษาชาวต่างชาติ ค่ารักษานักท่องเที่ยว คือโรงพยาบาลป่าตองอยู่ได้จากเงินเหล่านี้ ซึ่งอาจแตกต่างจากโรงพยาบาลอื่นๆ ดังนั้นวิธีการบริหารจัดการของแต่ละหน่วยบริการจึงมีความแตกต่างกันออกไปตามบริบทของพื้นที่ แต่ต้องตั้งอยู่บนความเข้าใจและทัศนคติที่ดี        

ทั้งนี้ ในปี 2553 ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนาแรก ๆ ที่ได้นำยาต้านไวรัสสูตร 3 ตัวมาใช้เป็นนโยบายระดับประเทศเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก โดยทำล้ำหน้าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกในขณะนั้น

จากการดำเนินนโยบายให้ยาสูตร 3 ตัวกับหญิงตั้งครรภ์ทุกคนในช่วงตั้งครรภ์ รวมทั้งให้แม่กินยาต่อเนื่องหลังคลอดไปตลอดชีวิต ร่วมกับให้ยาป้องกันกับทารกและให้นมผสมฟรีกับทารกจนถึงอายุ 18 เดือน ทำให้อัตราการติดเชื้อจากมารดาสู่ทารกลดลงอย่างรวดเร็ว จนเหลือ 1.9% ในปี 2559 นำมาซึ่งความสำเร็จในการได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกว่า ประเทศไทยสามารถยุติปัญหาการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกได้ (ข้อมูลจาก ประเทศไทยยุติปัญหาการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวี เอดส์จากแม่สู่ลูก โดย ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ, นพ.รัตนชัย เริ่มรวย, นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ เผยแพร่ครั้งแรกใน เดลินิวส์ 3 กรกฎาคม 2559)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง