ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รอง สสจ.ภูเก็ต ระบุ หากแรงงานข้ามชาติไม่มีปัญหาสุขภาพยังสามารถซื้อบัตรประกันได้ ยอมรับไม่ได้ขายให้ทุกราย หากตรวจพบความเสี่ยงหรือเข้าเกณฑ์ข้อห้ามหมดสิทธิ์ซื้อ ยืนยันโรงพยาบาลรัฐใจ จ.ภูเก็ตไม่ปฏิเสธรักษาแรงงานข้ามชาติ   

ดร.ประพรศรี นรินทร์รักษ์

ดร.ประพรศรี นรินทร์รักษ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต (รอง สสจ.ภูเก็ต) กล่าวถึงกรณีโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งใน จ.ภูเก็ต ถูกร้องเรียนว่าไม่ขายบัตรประกันสุขภาพให้แรงงานข้ามชาติว่า สสจ.ได้ออกระเบียบการขายบัตรประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนด แต่ประเด็นอยู่ที่จำเป็นต้องพิจารณาดูว่าแรงงานแต่ละรายเข้าเกณฑ์ข้อห้ามหรือไม่ และมีความเสี่ยงด้านสุขภาพหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดจะมีแพทย์เป็นผู้วินิจฉัยเป็นรายๆ ไป หากไม่มีปัญหาสุขภาพก็สามารถซื้อได้ 

"คงไม่ใช่ทุกรายที่เราไม่ขายบัตรประกันสุขภาพ เพราะในบางรายก็ขาย แต่ถ้าสุขภาพของเขามีความเสี่ยงจริงๆ คุณหมอก็จะวินิจฉัยว่าไม่สามารถขายให้ได้ ยืนยันว่าเราทำตามนโยบายของ สธ.อยู่แล้ว เช่น กรณีหญิงตั้งครรภ์ หากซื้อก่อนที่จะตั้งครรภ์ก็ไม่มีปัญหาอะไร" ดร.ประพรศรี กล่าว

สำหรับข้อร้องเรียนเรื่องโรงพยาบาลรัฐปฏิเสธให้การรักษาแรงงานข้ามชาติ ดร.ประพรศรี กล่าวว่า ไม่ว่าใครก็ตามที่เข้ามายังโรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลไม่สามารถปฏิเสธการรักษาได้ ยืนยันว่าโรงพยาบาลรัฐและ สธ.จำเป็นต้องให้การรักษาไว้ก่อน ส่วนจะเรียกเก็บเงินหรือไม่เป็นเรื่องต่อจากนั้น

นายสายัณห์ ตันติกิจ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ หัวหน้างานแรงงานต่างด้าว สสจ.ภูเก็ต กล่าวว่า ถ้าแรงงานไม่ผ่านกระบวนการจากกระทรวงแรงงานอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะหากไม่ได้รับใบอนุญาตทำงาน ทาง สธ.ก็คงไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ฉะนั้นผู้ที่จะซื้อบัตรประกันสุขภาพได้นั้น 1.ต้องไม่เข้าเกณฑ์ข้อห้ามต่างๆ 2.ต้องไม่มีความเสี่ยงทางสุขภาพ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ให้การวินิจฉัยว่าสมควรขายบัตรแก่แรงงานรายนั้นๆ หรือไม่ แต่โดยหลักการแล้วจะขายให้กับแรงงานที่สุขภาพแข็งแรงและพร้อมจะทำงานเท่านั้น

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนย.) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามหลักการของบัตรประกันสุขภาพนั้น ไม่ว่าจะเป็นแรงงานข้ามชาติที่แข็งแรงหรือเจ็บป่วยก็ควรซื้อบัตรได้ทั้งหมด เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องช่วยเหลือช่วยอนุเคราะห์กันไป ดังนั้นเจตนาของบัตรประกันสุขภาพก็คือแทนที่จะอนุเคราะห์ค่าใช้จ่ายทั้งหมด เราก็จะมีรายได้ส่วนหนึ่งจากการขายบัตรนี้

"นโยบายของ สธ.ก็คือให้ทุกโรงพยาบาลขายบัตรประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติได้" นพ.จักรรัฐ กล่าว

อนึ่ง ข้อมูลปี 2559 พบว่าใน จ.ภูเก็ต มีแรงงานข้ามชาติเข้าตรวจสุขภาพทั้งสิ้น 76,727 ราย แบ่งเป็น

 1.มีความปกติ (ประเภท1) 75,776 ราย

2.พบกลุ่มติดตามรักษา (ประเภท2) 694 ราย แบ่งเป็น วัณโรค 45 ราย และโรคซิฟิลิส 649 ราย

3.พบห้ามมิให้ทำงาน (ประเภท3) คือติดยาเสพติด 457 ราย และ 4.ตั้งครรภ์ (ประเภท4) จำนวน 1,362 ราย

ทั้งนี้ ผู้ที่มีความผิดปกติประเภท 2-4 จะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ว่าจะขายบัตรประกันสุขภาพให้หรือไม่

นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าในปีงบประมาณ 2559 โรงพยาบาลรัฐ 3 แห่งใน จ.ภูเก็ต ประกอบด้วย โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต โรงพยาบาลป่าตอง และโรงพยาบาลถลาง ขายบัตรสุขภาพทุกประเภท (ประกันสังคม บัตรสุขภาพ บัตรเด็ก ฯลฯ) รวมทั้งสิ้น 72,325 ใบ

ข้อมูลจากสำนักงานจังหวัดภูเก็ต ณ เดือน ต.ค.2559 พบว่าตั้งแต่ปี 2557, 2558 และ 2559 มีแรงงานข้ามชาติทั้งสิ้น 115,391 ราย 75,978 ราย และ 62,899 ราย ตามลำดับ โดยในจำนวนนี้มีสัดส่วนแรงงานชาวพม่ามากที่สุด อยู่ที่ 110,651 ราย 73,921 ราย และ 61,275 ราย ตามลำดับ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

แรงงานโอด รพ.รัฐในภูเก็ต ไม่ขายบัตรประกันสุขภาพให้แรงงานข้ามชาติ-ไม่ให้ใช้สิทธิคลอด

ผอ.รพ.แม่สอดชี้ ต้องขายบัตรประกันสุขภาพต่างด้าว ยิ่งเยอะยิ่งดี เกลี่ยช่วยกลุ่มยากไร้ได้