ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงพยาบาลแม่สอดออกใบรับรองการเกิดให้เด็กข้ามชาติ 100% ผู้อำนวยการเห็นความสำคัญสิทธิมนุษยชน ตั้งคลินิกกฎหมายประสานงาน-ให้ความรู้ พิทักษ์สัญชาติเด็ก

นพ.สุชาติ พรเจริญพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก เปิดเผยว่า การออกใบรับรองการเกิดเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน เมื่อเด็กมาคลอดที่โรงพยาบาลก็เป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลในการออกสูติบัตร ส่วนขั้นตอนต่อมาคือการแจ้งเกิดนั้นเป็นเรื่องของทางกระทรวงมหาดไทย (มท.) ซึ่งเมื่อเด็กมาคลอดที่โรงพยาบาลก็จะมีเจ้าหน้าที่่ฝ่ายสังคมสงเคราะห์หรือสวัสดิการสังคมทำหน้าที่ประสานกับผู้ปกครองเพื่อให้ได้สูติบัตร โดยเด็กที่คลอดในโรงพยาบาลแม่สอดจะได้รับสูติบัตรครบถ้วนทั้ง 100%

นพ.สุชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเรามีปัญหาเรื่องเด็กไม่มีสัญชาติเป็นจำนวนมาก ซึ่งเด็กเหล่านั้นจะใช้ชีวิตอย่างยากลำบากคือเข้าไม่ถึงสิทธิการศึกษา สิทธิรักษาพยาบาล รวมไปถึงสิทธิความเป็นมนุษย์ ฉะนั้นตั้งแต่มาเป็นผู้อำนวยโรงพยาบาลแม่สอดจึงได้จัดตั้งคลินิกกฎหมายขึ้น ทำหน้าที่ในการให้สิทธิกับเด็กแรกเกิด โดยจะจัดสรรเจ้าหน้าที่มาอำนวยความสะดวกและให้ความรู้กับพ่อแม่ เนื่องจากพบว่ามีพ่อแม่จำนวนมากที่คลอดแล้วแต่อาจละเลยเรื่องการแจ้งเกิดตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

"ไม่ว่าพ่อแม่เขาถูกต้องหรือไม่ แต่เด็กที่เกิดมาจะต้องได้สิทธิตรงนี้ เมื่อได้ใบรับรองการเกิดพ่อแม่ก็สามารถไปแจ้งเกิดกับทางประเทศเมียนมาร์ได้ เด็กก็ไม่มีปัญหาไร้สัญชาติ" นพ.สุชาติ กล่าว

ผอ.โรงพยาบาลแม่สอด กล่าวว่า จากการตั้งคลินิกกฎหมายขึ้นสามารถวัดผลความสำเร็จได้จากการจัดทำทะเบียนการเกิดในโรงพยาบาลและเด็กทุกคนที่มาเกิดได้สูติบัตรกลับออกไป จากนั้นก็ขึ้นอยู่กับพ่อแม่ว่าจะไปแจ้งเกิดอย่างไร โดยบางรายหากมาจากต่างประเทศเขาก็กลับไปแจ้งเกิดที่บ้านเขา

"เรื่องการแจ้งเกิดเป็นเรื่องของกฎหมายทางมหาดไทยก็เป็นเรื่องของเขา แต่ของเราในฐานะโรงพยาบาลก็จะให้สิทธิอย่างเต็มที่" นพ.สุชาติ กล่าว

นพ.สุชาติ กล่าวอีกว่า โมเดลคลินิกกฎหมายอาจใช้ได้เฉพาะกับโรงพยาบาลชายแดน หรือในโรงพยาบาลที่มีคนไร้สัญชาติ คนไร้รัฐ หรือคนต่างประเทศอยู่จำนวนมาก ส่วนตัวคิดว่าสามารถทำได้ในทุกๆ พื้นที่ เพราะไม่ได้ใช้ทรัพยากรของโรงพยาบาลมาก แต่ต้องใช้เวลาและมีความรู้ทางด้านกฎหมายเข้าไป โดยหัวใจความสำเร็จของคลินิกกฎหมายเป็นเรื่องของความร่วมมือของทั้งในส่วนของโรงพยาบาล นักกฎหมาย กลุ่มเอ็นจีโอ ข้าราชการมหาดไทย เห็นความสำคัญและเป้าหมายคือให้เด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นมาโดยมีสิทธิตามกฎหมาย

"สมมุติชาวต่างชาติมาคลอดที่โรงพยาบาลแม่สอด ห้องคลอดก็จะแจ้งไปที่คลินิกกฎหมาย เจ้าหน้าที่คลินิกก็จะมาดูข้อมูลหลักฐานว่าเป็นใครมาจากไหน จากนั้นก็จะช่วยกันหาทางออก หากมีหลักฐานครบก็จะสามารถออกสูติบัตรได้ทันที และยังช่วยประสานกับทางเทศบาลเพื่อแจ้งเกิดให้ถูกต้องต่อไป" นพ.สุชาติ กล่าว

นพ.สุชาติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องการรักษาพยาบาลประเด็นแม่และเด็กกรณีการตั้งครรภ์แล้วมาคลอดบุตรนั้น ต้องยอมรับว่าชาวต่างชาติส่วนหนึ่งก็จะมีเรื่องของการศึกษา การดูแลตัวเองอาจจะไม่ดีเท่ากับคนไทยที่มีความรู้มากขึ้น ฉะนั้นระหว่างตั้งครรภ์ถ้าดูแลไม่ดีเด็กที่ออกมาก็อาจจะมีน้ำหนักตัวน้อย คลอดก่อนกำหนด หรืออาจจะมีภาวะแทรกซ้อนมากขึ้น

ทั้งนี้ โรงพยาบาลจะต้องให้การดูแลด้วยระยะเวลาที่นานขึ้นจากเดิม เช่น กรณีเด็กน้ำหนักตัวน้อยๆ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ใส่สายยาง หรือต้องอยู่ในตู้อบ ซึ่งโรงพยาบาลจะมีเครสลักษณะนี้เข้ามาอยู่ตลอด อย่างไรก็ตามทุกอย่างก็ว่ากันไปตามสิทธิคือผู้ที่ซื้อบัตรประกันสุขภาพ กลุ่มที่มีกำลังจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง หรือกลุ่มสังคมสงเคราะห์ ซึ่งโรงพยาบาลก็ใช้วิธีการเกลี่ยงบเพื่อดูแลรักษาทุกรายตามหลักมนุษยธรรม