รพ.จุฬาลงกรณ์ โชว์นวัตกรรมส่องกล้องรักษาผู้ป่วยโรคหืดขั้นรุนแรงแห่งแรกและแห่งเดียวในไทย
เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2560 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับ หน่วยโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤติการหายใจ ฝ่ายอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าว “รพ.จุฬาลงกรณ์ ส่องกล้องรักษาโรคหืด แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย” เพื่อพัฒนาวิธีการรักษาผู้ป่วยโรคหืดขั้นรุนแรง
ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นับเป็นโอกาสสำคัญอีกครั้งที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ประสบผลสำเร็จในการนำนวัตกรรมใหม่ใช้ในการรักษาโรคหืดเรื้อรังขั้นรุนแรง ทำให้ผู้ป่วยลดปริมาณการรับประทานยาและฉีดยาได้ เป็นเวลานานถึง 5 ปี เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายและงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยปีละประมาณหลายแสนบาทต่อคน สำหรับนวัตกรรมใหม่นี้จะขอให้แพทย์ที่ดูแลได้อธิบายและสาธิตวิธีการและขั้นตอนการรักษา รวมทั้งเกณฑ์ในการเข้ารับการรักษาต่อไป
ศ.นพ.สมเกียรติ วงษ์ทิม นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคหืดเกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยทางพันธุกรรม และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น สารก่อภูมิแพ้ ทำให้มีการอักเสบเกิดขึ้นตลอดเวลา การกระตุ้นของสารเคมี ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการไอและหายใจไม่สะดวกจากหลอดลมตีบ จากการอักเสบ หลังจากผู้ป่วยสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ จึงทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการหอบหืดมากขึ้น ในรายที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องการอักเสบเรื้อรังของหลอดลมนี้ อาจนำไปสู่การเกิดพังผืด และการหนาตัวอย่างมากของผนังหลอดลมที่เรียกว่ามีภาวะ airway remodeling เกิดขึ้น ซึ่งมีผลทำให้มีการอุดกั้นของหลอดลมอย่างถาวร ในกระบวนการวินิจฉัยโรค นอกจากมีวัตถุประสงค์ เพื่อยืนยันการป่วยเป็นโรคหืดแล้ว ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาสาเหตุ หรือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการหอบหืดด้วย
ในส่วนของสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างและประสานองค์กรที่เป็นตัวแทนกลุ่มการแพทย์ กลุ่มผู้ป่วย และหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนอื่นๆ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนภารกิจต่างๆ ด้านการดูแลรักษาโรคหืด ซึ่งเป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ที่มีผลทำให้หลอดลมของผู้ป่วย มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้และสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนปกติ (bronchial hyper-responsiveness, BHR) ผู้ป่วยมักมีอาการไอแน่นหน้าอก หายใจมีเสียงหวีดหรือหอบเหนื่อยเกิดขึ้น เมื่อได้รับสารก่อโรคหรือสิ่งกระตุ้น และอาการเหล่านี้อาจหายไปได้เอง หรือหายไปเมื่อได้รับยาขยายหลอดลม
โรคหืดเป็นโรคที่จัดว่ามีความชุกสูง และเป็นปัญหาสาธารณสุขอย่างหนึ่งของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2545 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการหอบรุนแรงมากถึง 102,245 ราย และมีจำนวนผู้ป่วยมากกว่า 1 แสนราย ต้องเข้ารับการรักษาที่แผนกฉุกเฉินด้วยอาการหอบเฉียบพลัน ทางสมาคมได้มีเป้าหมายที่จะควบคุมอาการของโรคในผู้ป่วยให้ได้ดีที่สุด จากการใช้ยาในกลุ่มควบคุมอาการ เพื่อลดการอักเสบที่เกิดขึ้นในหลอดลมร่วมกับการใช้ยาขยายหลอดลมเพื่อบรรเทาอาการ แต่ในวันนี้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้นำนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยรักษาโรคหืดขั้นรุนแรง นับเป็นนิมิตรหมายที่ดีต่อสาธารณสุขของประเทศไทย ที่จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล และยังลดค่าใช้จ่ายภายในครอบครัวและงบประมาณของรัฐบาลด้านการรักษาอีกเป็นจำนวนมาก
นพ.ธิติวัฒน์ ศรีประสาธน์ หน่วยโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤติการหายใจ ฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวถึง การรักษาโรคหืดด้วยนวัตกรรมใหม่ “การจี้หลอดลมด้วยความร้อน (Bronchial thermoplasty) ครั้งนี้ นับว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการรักษาผู้ป่วยโรคหืดขั้นรุนแรง ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ ไม่เหนื่อยหอบ และไม่ต้องนอนโรงพยาบาลบ่อย ที่สำคัญเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมารักษาตัวของคนไข้เอง และประหยัดงบประมาณของประเทศ
วิธีรักษาโรคหืดด้วยนวัตกรรมการส่องกล้อง ใส่สายแคสเตเตอร์หย่อนลงไปผ่านหลอดลมเข้าไปในปอด ที่มีขนาดความกว้าง 2-3 มิลลิเมตร เซนเซอร์จะเปลี่ยนจากคลื่นวิทยุเป็นความร้อนที่ 65 องศา และจี้เข้าไปที่หลอดลมส่วนปลายเพื่อทำลายกล้ามเนื้อเรียบให้บางลงไม่ให้หลอดลมตีบ การจี้แต่ละจุดใช้เวลา 2 ชม. ในการทำ 1 ครั้ง จะต้องจี้ให้ได้ 100 จุด จุดละ 10 วินาที หรือมากที่สุดในบริเวณปอดล่างขวา ปอดล่างซ้าย และปอดด้านบนสองข้าง ทำทั้งหมดจำนวน 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 3 สัปดาห์
จากงานวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศพัฒนาแล้ว การจี้กล้ามเนื้อเรียบทำให้โรคหืดสามารถควบคุมได้ลดอาการกำเริบได้นานถึง 5 ปี ไม่มีผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยและปอดไม่ถูกทำลาย ซึ่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นแห่งที่ 3 ใน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองมาจากประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และเป็นแห่งเดียวในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยโรคหืดด้วยวิธีการนี้ วิธีการนี้จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยโรคหืดที่มีภาวะรุนแรง ที่มีความจำเป็นในการพ่นยา รับประทานยา และฉีดยาสเตียรอยด์ในปริมาณที่มากและต่อเนื่อง ย่อมไม่เป็นผลดีกับตัวผู้ป่วยเอง
“คนไข้ที่ทำนั้นจะมีอาการในระดับที่รุนแรงมาก เราคาดหวังว่า คนไข้จะได้ไม่ต้องมาห้องฉุกเฉินบ่อย ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลเพราะโรคหืดกำเริบ ไม่ต้องกินยาสเตียรอยด์จำนวนมาก คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม” นพ.ธิติวัฒน์ กล่าว
ผลจากการที่ได้ทำการรักษากับผู้ป่วยนั้น พบว่า ลดโอกาสเกิดหอบหืดกำเริบมากกว่าครึ่งหนึ่งจากเดิม ลดการมาพบแพทย์ห้องฉุกเฉินประมาณ 5 เท่า ลดโอกาสการมานอนโรงพยาบาลประมาณ 73%
- 904 views