ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายเอชไอวียื่นข้อมูลกรมทรัพย์สินทางปัญญา หยุดสิทธิบัตรยาต้านไวรัสฯ ที่ไม่ใช่ยาใหม่จริง ย้ำ ม.44 จะปล่อยผีสิทธิบัตร ทอดสะพานให้บรรษัทยาข้ามชาติปล้นชีวิตผู้ป่วย

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ชี้ว่า ถ้ารัฐบาลยังจะมีคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อเร่งออกสิทธิบัตร ปัญหาการเข้าถึงยาจำเป็นจะทวีความรุนแรงขึ้น เพราะคำขอรับสิทธิบัตรยาด้อยคุณภาพจะได้รับสิทธิบัตรคุ้มครองการผูกขาดเกินกว่า 20 ปี ไร้คู่แข่ง และทำให้การต่อรองราคาเพื่อนำยาเข้าสู่ระบบการรักษาภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นได้ยากยิ่งขึ้น ซ้ำยังสูญเสียงบประมาณด้านสุขภาพโดยไม่จำเป็น

นายนิมิตร์ กล่าวต่อว่า วันนี้ (15 มี.ค.60) ตัวแทนมูลนิธิเข้าถึงเอดส์และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เข้ายื่นเอกสารเกือบ 200 หน้าให้กับอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ผ่านเจ้าหน้าที่ของสำนักสิทธิบัตร ตามกระบวนการทางกฎหมาย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาให้ยกเลิกคำขอรับสิทธิบัตรเลขที่ 1201003735 ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสเอชไอวีสูตรผสมของยาโดลูเท็คกราเวียร์กับยาต้านไวรัสเอชไอวีอีก 2 ชนิด เพราะเห็นว่าเป็นคำขอฯ ที่ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับสิทธิบัตร

“เท่าที่เราสืบค้นและได้รับจดหมายตอบยืนยันจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ยานี้มีคำขอรับสิทธิบัตรเพียงฉบับเดียวในขณะนี้ และเป็นคำขอฯ ในยาสูตรรวมเม็ดกับยาต้านไวรัสฯอีก 2 ตัว ถึงแม้ว่ายาเดี่ยวจะยังไม่มายื่นจดสิทธิบัตร การที่เรามายื่นข้อมูลให้กรมฯ เพื่อบอกว่าระบบการตรวจสอบคำขอฯ ที่ผ่านมาของกรมฯ มีปัญหา เรามาชี้ให้เห็นถึงปัญหา แต่ถ้าใช้ ม.44 เร่งออกสิทธิบัตร ปัญหาสิทธิบัตรด้อยคุณภาพในยาที่มีอยู่เดิมจะไม่ถูกแก้ แต่จะทำให้เป็นปัญหามากขึ้น”

ทั้งนี้ บริษัทวีไอไอวี เฮลธ์แคร์ ได้ยื่นคำขอฯ นี้เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2554 และได้ประกาศโฆษณาไปแล้วเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2557 มูลนิธิฯ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ไม่สามารถยื่นคำคัดค้านได้ทันเวลา 90 วันนับจากวันประกาศโฆษณา จึงขอยื่นข้อมูลให้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาพิจารณาว่า จะให้เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบใช้ประกอบการพิจารณาและยกเลิกคำขอฯ ฉบับนี้หรือไม่

ด้าน นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์การเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า เรามายื่นข้อมูลให้ยกเลิกคำขอฯ นี้ เพราะพบว่าคำขอฯ นี้ไม่สมควรได้รับสิทธิบัตร เนื่องจากอ้างข้อถือสิทธิ์ในเรื่องการใช้ยานี้เพื่อบำบัดรักษาเอชไอวี ซึ่งกฎหมายสิทธิบัตรของไทยไม่รับจดสิทธิบัตรในเรื่องการใช้ยาเพื่อรักษาโรค

“คำขอฯ นี้ไม่เข้าเกณฑ์ในเรื่องใช้ขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น เพราะเป็นเทคโนโลยีการผลิตยาโดยรวมยามากกว่าหนึ่งชนิดในเม็ดเดียว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทราบกันโดยทั่วไปในแวดวงเภสัขกรรมอยู่แล้ว อีกทั้งยาอีกสองชนิดที่นำมารวมเม็ดกับยาโดลูเท็คกราเวียร์ก็ไม่ใช่ยาใหม่”

ในแนวทางการรักษาของประเทศปี 2560 ระบุให้ยาโดลูเท็คกราเวียร์เป็นยาจำเป็นในสองกรณี กรณีแรก เป็นยาทางเลือกในสูตรพื้นฐานสำหรับผู้ติดเชื้อฯ ที่ไม่มีปัญหาดื้อยาแต่มีอาการแพ้ยาหรือมีอาการข้างเคียง และไม่สามารถใช้ยาตัวอื่นๆ ที่แนวทางการรักษาฯ แนะนำให้ใช้เป็นสูตรแรกๆ ได้ กรณีที่สอง เป็นยาจำเป็นสำหรับผู้มีปัญหาดื้อยาซ้ำซ้อน (ดื้อต่อสูตรดื้อยา)

ปัจจุบัน ยานี้ยังไม่มีจำหน่ายในประเทศและไม่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติและชุดสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ยานี้ได้ทะเบียนยาจากคณะกรรมการอาหารและยาแล้วใน 2 สูตร คือ ยาโดลูเท็คกราเวียร์เดี่ยว และยาโดลูเท็คกราเวียร์รวมเม็ดกับยาอาบาคาเวียร์และยาลามิวูดีน 

เฉพาะยาโดลูเท็คกราเวียร์ตัวเดียวที่เป็นยาต้นแบบ ไม่รวมเม็ดกับยาต้านฯ ชนิดอื่น มีราคาอยู่ที่ US$ 14,105 ต่อปีในต่างประเทศ หรือประมาณ 493,675 บาท

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว รองประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ กล่าวว่า ในหลายประเทศ ยาโดลูเท็คกราเวียร์เป็นยาในสูตรพื้นฐาน โดยใช้ร่วมกับยาต้านฯ ชนิดอื่นอีก 2 ชนิด ยาโดลูเท็คกราเวียร์เป็นยาที่มีประสิทธิภาพการรักษาดี กดเชื้อไวรัสเอชไอวีได้เร็ว ผลข้างเคียงต่ำ กินวันละหนึ่งครั้ง และเชื้อไวรัสจะดื้อยาได้ยาก

“ดังนั้น ถ้าชุดสิทธิประโยชน์ฯ ครอบคลุมยานี้ โดยเฉพาะสูตรยารวม 3 ชนิดในเม็ดเดียว จะช่วยให้ผู้ติดเชื้อฯ ที่จะต้องกินยาตลอดชีวิต กินยาได้ง่ายขึ้นและต่อเนื่องไปตลอด ไม่ต้องเผชิญกับผลข้างเคียงจากยา ลดปัญหาการเจ็บป่วยจากผลข้างเคียงระยะยาว และทำให้ผู้ติดเชื้อฯ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแต่ถ้าปล่อยให้มีการจดสิทธิบัตรแบบนี้ หรือใช้ ม.44 เร่งออกสิทธิบัตร โอกาสที่เราจะเข้าถึงยาตัวนี้คงเป็นไปไม่ได้” นายอภิวัฒน์ กล่าว