ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เกาะติดประชาพิจารณ์แก้ไขกฎหมาย สสส.วันแรก ถกนิยาม 'สร้างเสริมสุขภาพ' ให้ชัดเพื่อไม่ให้ทับซ้อนกับองค์กรที่มีอยู่แล้ว ค้านไม่เอางบรายปีแบบราชการ หวั่นทำ สสส.ไม่คล่องตัว ที่ประชุมไม่ให้ผู้แทน WHO แสดงความคิดเห็น หลัง “หมอเชิดชู” ระบุว่าไม่ควรแสดงความคิดเห็น เนื่องจากขัดกับกฎหมายประชาพิจารณ์ของไทย

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 เวลา 9.00 น. ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ มีการประชุมสัมมนาประชาพิจารณ์ ร่างพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ฉบับที่…) พ.ศ.… เพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องไปประกอบร่าง พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภายหลังนายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง ไปพิจารณาความเหมาะสมของการดำเนินงานในกองทุนดังกล่าว ตามข้อเสนอของคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ท่ามกลางความสนใจของบุคลากรด้านสุขภาพและผู้เกี่ยวข้อง อาทิ แพทย์ นักวิชาการ ตัวแทนจากแพทย์สภา ตัวแทนจากกรมบัญชีกลาง ตัวแทนจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และผู้แทนจากองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย (WHO) ส่งตัวแทนร่วมรับฟัง

นพ.เสรี ตู้จินดา

นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเปิดการประชุมว่า ที่ผ่านมาการทำงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ คตร.ซึ่งต้องยอมรับว่าผลจากการตรวจสอบระบุว่า มีบางประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงานยังมีข้อสงสัยว่าไม่ถูกต้องตามระเบียบ มีประสิทธิภาพที่ยังไม่สอดคล้องกับการจัดตั้งองค์กร ดังนั้นจึงเห็นควรให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ให้ถูกต้องและเหมาะสมกับการทำงานมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการหารือร่วมกันของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต่างเห็นว่า การแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 นั้นมีขั้นตอนและกฎหมายที่ต้องเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเสียก่อน การประชุมสัมมนาในครั้งนี้ จึงเป็นการรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมให้ พ.ร.บ.นี้สมบูรณ์ขึ้น

ถกเดือดแก้หลักการกฎหมาย

จากนั้นที่ประชุมได้เปิดอภิปรายซึ่งในช่วงแรกเน้นไปที่หลักการและเหตุผลของการตั้งกองทุน สสส.ซึ่งส่วนใหญ่เห็นว่า ต้องจำกัดความเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพให้ชัดเพื่อไม่ให้ทับซ้อนกับองค์กรที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะการทำงานของ สสส. ตัวแทนจากคณะกรรมการแพทยสภาเสนอให้จำกัดการทำงานเพียงด้านองค์ความรู้ตอบสนองหน่วยงานของรัฐ การแก้ไขข้อกฎหมายควรมีเนื้อหาที่ระบุถึงการลดขนาดองค์กรให้เล็กและปรับลดงบประมาณลง

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีข้อถกเถียงโดยเฉพาะในถ้อยความที่ระบุว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้มีขึ้นเนื่องจากปัญหาธรรมาภิบาล โดย พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล ตัวแทนจากคณะกรรมการแพทยสภา ยืนยันให้คงคำนี้ไว้ในหลักการและเหตุผล แต่ผู้เข้าร่วมอภิปรายหลายคนไม่เห็นด้วยโดยให้เหตุผลว่า หลังการมีคณะกรรมการตรวจสอบ สสส.ตามที่เป็นข่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่า การทำงานของ สสส. ไม่ได้มีปัญหาธรรมาภิบาล ทั้งยังได้รับรางวัลองค์กรที่มีความโปร่งใสมากจาก คตร.หลังเข้ามาตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม หากใช้คำว่าเป็นการแก้ไขเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้นจะดีกว่า ดังนั้น จึงสมควรให้ตัดถ้อยคำนี้ออกเพื่อความเหมาะสม

คุย ม.11 ปรับเงินงบประมาณ

เช่นเดียวกับใน มาตราที่ 11 ซึ่งระบุว่า กองทุนมีอำนาจจัดเก็บเงินบำรุงกองทุนจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยสุราและกฎหมายยาสูบในอัตราร้อยละ 2 ของภาษี และสูงสุดไม่เกิน 4 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นอย่างหลากหลาย อาทิ การเสนอว่า สสส.ควรได้รับงบประมาณจากกระทรวงการคลัง และให้ดำเนินการในส่วนเฉพาะที่เป็นช่องว่างจากหน่วยงานรัฐ อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า การระบุตัวเลขงบประมาณในข้อกฎหมายเป็นข้อจำกัดตายตัวหรือไม่ เพราะแต่ละปีมีการทำงานที่ต่างกัน มีความคุ้มทุนระหว่างนโยบายกับงบประมาณแตกต่างกัน

Dr.Daniel A. Kertesz

แย้งตัวแทน WHO แสดงความเห็น

ในช่วงหนึ่งของการอภิปราย ดร.แดเนียล เอ. เคอร์แทสซ์ (Dr.Daniel A. Kertesz) ตัวแทนองค์กรอนามัยโลก (WHO) ได้ยกมือเพื่อแสดงความเห็น แต่ท้ายที่สุดไม่ได้รับอนุญาตให้พูดในที่ประชุม เนื่องจาก พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ตัวแทนจากแพทยสภายืนยันว่า ขัดกับกฎหมายการประชาพิจารณ์ที่ต้องเป็นเรื่องของพลเมืองไทยเท่านั้น และเกรงว่าจะกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ อีกทั้งยังเป็นการรุกล้ำอธิปไตยของคนไทย อย่างไรก็ตาม ทางองค์กรอนามัยโลกระบุว่าจะจัดทำข้อสังเกตส่งถึงกระทรวงสาธารณสุขในภายหลัง

วงประชาพิจารณ์ยันค้านไม่เอางบรายปีแบบราชการ หวั่นทำ สสส.ไม่คล่องตัว

ในช่วงบ่าย มีการอภิปรายต่อเนื่องในประเด็นมาตราที่ 11 ที่ว่าด้วยให้กองทุนมีอำนาจจัดเก็บเงินบำรุงกองทุนจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบในอัตราร้อยละ 2 ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมมีข้อเสนอหลากหลาย อาทิ การเสนอเงินงบประมาณในอัตราร้อยละ 1 ของภาษี การจำกัดเพดานภาษีที่วงเงิน 4,000 ล้านบาทหรือการปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ตาม ผู้อภิปรายส่วนใหญ่เห็นด้วยในการคงมาตราเดิมที่ให้งบประมาณของ สสส.มาจากภาษีตามกฎหมายว่าด้วยสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบในอัตราร้อยละ 2 ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณปีละ 4 พันล้านบาท เนื่องจากมองว่า หากถูกจัดงบประมาณในรูปแบบปกติ เช่นเดียวกับ กระทรวง ทบวง กรม จะเปรียบเสมือนการกลับถอยหลังไปสู่วิธีการแบบเดิม ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าล่าช้า ไม่ยืดหยุ่น และมีข้อจำกัด

นางสาวสารี อ่องสมหวัง

นางสาวสารี อ่องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิผู้บริโภค กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการจำกัดงบประมาณแบบยึดติดในรูปแบบหน่วยงานราชการ ที่ต้องปิดงบ เร่งใช้งบ หรือเมื่อถึงสัปดาห์ใกล้ปิดงบก็ต้องเร่งใช้เงินให้ตามกำหนดที่เห็นแล้วว่ามีปัญหา ไม่มีความยืดหยุ่น แต่การทำงานของ สสส.นั้นต้องจัดทำแบบมีนวัตกรรม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และลดช่องว่างการส่งเสริมสุขภาพที่ไม่มีหน่วยงานไหนทำ หรือทำแล้วไม่มีความคล่องตัว

ส่วนประเด็นที่มีความกังวลว่าการบริหารเงินจะไม่โปร่งใส เสนอให้มีหมวดตรวจสอบว่าด้วยการตรวจสอบโดยเฉพาะ อาจจะจัดทำเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งเพื่อให้เกิดความชัดเจน แต่ต้องไม่ใช้ข้อสงสัยในประเด็นนี้มาเขียนข้อจำกัดการใช้เงินเพื่อนำรูปแบบงบประมาณรายปีลักษณะเดียวกับหน่วยงานราชการมาใช้ ซึ่งจะทำให้ สสส.เป็นอีกหนึ่งกระทรวงที่ไม่ทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชน

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า หลักการของการเก็บภาษีที่นำไปแก้ปัญหาจากแหล่งก่อเป็นหลักการที่ สสส.ดำเนินการและมีความสำคัญมาก ซึ่งเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศว่ามีความเชื่อมโยงถึงการลดปัญหา อาทิ ในประเทศนอร์เวย์ที่นำเอาหลักการนี้ไปใช้ในการเก็บภาษีกับบริษัทผลิตสารเคมี ซึ่งปล่อยสารพิษกับสิ่งแวดล้อม เพื่อนำเงินจำนวนนี้ไปแก้ปัญหากับผู้ก่ออีกครั้งหนึ่ง โดยการเก็บภาษีนี้จะเพิ่มสัดส่วนกันไปตามปริมาณสารพิษที่ปล่อยออกมา ดังนั้น จึงไม่เห็นด้วยกับการตรึงเพดานภาษี เพราะงบประมาณควรมาจากปริมาณการก่อปัญหาที่มีความเชื่อมโยงกัน

ทั้งนี้ ผู้อภิปรายหลายคนยังแสดงความเห็นไปในลักษณะเดียวกันว่า การเบิกจ่ายจ่ายเงินของกองทุนและการมีคณะกรรมกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมเป็นตัวแทนจากชุมชนต่างๆ แม้การขอรับทุนจาก สสส.จะมีขั้นตอนเช่นเดียวกับหน่วยงานอื่นๆ แต่พบว่ามีความคล่องตัวกว่าและเข้าใจชาวบ้านมากกว่า จึงมีการยืนยันให้ให้เป็นรูปแบบเดิม ไม่ควรกลับไปสู่รูปแบบการของบประมาณผ่านหน่วยงานราชการที่เป็นอุปสรรค และทำให้การดำเนินการเป็นไปอย่างล่าช้า