ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประชาพิจารณ์แก้กฎหมาย สสส.วุ่น 'ทิชา' วอล์กเอาท์ หวั่นเป็นตรายาง ชี้ตั้งโจทย์ผิดตั้งแต่เริ่ม ระบุ สสส.มีเรื่องต้องปรับปรุงเช่นกัน แต่การปรับปรุงที่เกิดขึ้นในเวลานี้ไม่ตรงไปตรงมา บิดเบือน ด้าน สคล.แจง สังคมไทยไม่มีกลไกสร้างพลังร่วม สสส.ทำให้หลายหน่วยงานจับไม้จับมือร่วมกันทำงานได้

นางทิชา ณ นคร

3 เม.ย.2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการสัมมนาประชาพิจารณ์ร่างพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงยุติธรรม ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชัน นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก วอล์กเอาท์จากการสัมมนาเป็นคนแรก โดยให้เหตุผลว่า การแก้ไข พ.ร.บ.สสส. เป็นการตั้งโจทย์ผิดตั้งแต่เริ่ม เพราะหลักการและเหตุผลที่ระบุว่า การดำเนินงานที่ไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและไม่ความคุ้มค่าทางภารกิจ แต่ข้อเท็จจริงคือผลการตรวจสอบจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ที่ออกมาระบุว่าไม่มีการทุจริต แต่มีการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์หรือกว้างกว่ากรอบที่วางไว้

นางทิชา กล่าวว่า การประชาพิจารณ์ควรเป็นการพูดถึงกรอบที่ว่ากว้างว่าคืออะไร เป็นไปได้หรือไม่ว่า ภายใต้การเกิดขึ้น สสส. เมื่อ 14 ปีที่แล้วที่มีเงื่อนไขทางสุขภาพคือ เหล้า บุหรี่ และอุบัติเหตุ เท่านั้น แต่เมื่อทำงานจริงทำให้พบว่า ประเด็นที่เกี่ยวข้องกว้างไกลไปกว่าเรื่องเหล่านี้ เรื่องสุขภาพอาจเป็นเรื่องความมั่นคงทางอาหารหรืออื่นๆ ด้วยก็ได้ ซึ่งสอดคล้องกับนิยามสุขภาพของ WHO ที่รวมไปถึงด้านกาย ใจ ปัญญา และสิ่งแวดล้อม

“หากถามถึงความคุ้มค่า องค์กรรัฐที่มีหน้าที่โดยตรงทำอะไรคุ้มค่าบ้าง กระทรวงศึกษาธิการ ใช้งบ 4 แสนล้านบาท หรือปัญหาความมั่นคงที่ภาคใต้ใช้เงิน 2 แสนล้านบาท ถามว่าตอนนี้คุ้มค่าหรือยัง วันนี้เราไม่ได้เอาความชั่วมาถกเถียงกัน แต่ต้องการสร้างความยุติธรรมให้ทุกฝ่าย” นางทิชา กล่าว

นางทิชาย้ำว่า สสส.มีเรื่องต้องปรับปรุงเช่นกัน แต่การปรับปรุงที่เกิดขึ้นในเวลานี้ไม่ตรงไปตรงมา บิดเบือน และเป็นห่วงว่าเมื่อสิ้นสุดการประชาพิจารณ์ ตนเองจะกลายเป็นหนึ่งในการสร้างความชอบธรรมให้การประชาพิจารณ์ครั้งนี้

“เริ่มต้นก็ไม่เป็นธรรม มีเหตุผลอะไรที่ต้องสร้างความชอบธรรมให้” นางทิชา กล่าว และวอล์กเอาท์ออกจากห้องประชุมทันที

นายวันชัย บุญประชา กรรมการและเลขานุการมูลนิธิครอบครัวไทย ตั้งคำถามถึงการมีส่วนร่วมในการร่าง พ.ร.บ. สสส. โดยถามว่า มีตัวแทนจาก สสส.เข้าร่วมด้วยหรือไม่ หากเข้าร่วม เหตุใดจึงปล่อยให้มีร่างกฎหมายลักษณะแบบนี้ออกมา และส่วนตัวคิดว่าไม่มีความจำเป็นในการมีส่วนร่วมในการประชาพิจารณ์ครั้งนี้ เพราะเหมือนเป็นแค่ทำให้ครบไปตามประบวนการเท่านั้น แต่ไม่ได้ฟังเสียงประชาชน ทั้งที่ควรฟังเสียงคนที่ทำงานกับ สสส.มา 10 ปี ไม่ใช่แค่คนจาก 3 กระทรวง

"ไม่เห็นด้วยกับการจัดสัมมนาแบบนี้ รวบรัดและสมคบคิด มันเหมือนเป็นพิธีกรรม พวกเราไม่สบายใจ" นายวันชัย กล่า

นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นว่า อาจจะไม่สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญที่ทูลเกล้าฯ ที่ผ่านประชามติ ในมาตรา 77 ที่บัญญัติว่า รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านและเป็นระบบ เปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นต่อประชาชนและนำมาปรับปรุงแก้ไข เพราะไม่แน่ใจว่ามีกระบวนการเหล่านี้ในการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้

นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีกองทุนจำนวนมาก แต่ที่เป็นกองทุนเชิงนวัตกรรมมีน้อย และบางกองทุนยังไม่มีประสิทธิภาพ อยากขอให้ใช้มาตรการเดียวกันในการตรวจสอบมาตรฐาน

"สังคมไทยไม่มีกลไกสร้างพลังร่วม สสส.ทำให้หลายหน่วยงานจับไม้จับมือร่วมกันทำงานได้ เมื่อผลสอบ คตร.ออกมาว่าเข้าใจผิดแล้ว ก็น่าจะมีวิธีเสริมพลัง ไม่ใช่เล่นบทลงโทษ " นายวิษณุ กล่าว