ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โครงการศักยภาพผู้นำฯ ผนึกภาคีเครือข่ายสานต่อ “งานจัดตั้ง” สร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพเน้นพัฒนาในแนวระนาบ เรียนรู้ขัดเกลาตัวเองไปกับชาวบ้าน ไม่มุ่งสร้างฮีโร่ สร้างระบบถ่วงดุล

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2561 ที่ศูนย์ศึกษาสยามคอมเพล็กช์ มหาวิทยาลัยคริสเตียน โครงการศักยภาพผู้นำและกลไกเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนปฏิบัติการสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาวะ (นธส.) ได้จัดงานเสวนา ภายใต้หัวข้อ “งานจัดตั้งจากอดีตสู่ปัจจุบัน กับการสร้างอำนาจองค์กรประชาชนสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม” โดยมีภาคีเครือข่ายเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในงานด้วย อาทิ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ มูลนิธิชีววิถี (Biothai) เครือข่ายบางวกอกนี้ดีจัง เครือข่ายเกษตรฯ จ.สงขลา เป็นต้น

นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวเปิดงานว่า หลังจากที่ตนถูกไล่ออกจากงานราชการมากว่า 30 ปี ได้ตั้งคำถามกับตนเองว่า ถ้าย้อนไปช่วงเวลานั้นได้จะเปลี่ยนแปลงอะไรในชีวิตหรือไม่ คำตอบในใจคือไม่ เพราะการพบฉากชีวิตที่ยากลำบากจะกลายเป็นภูมิชีวิตของตนในระยะยาว และสิ่งนี้ได้เป็นต้นทุนให้ตกผลึกสู่งานในปัจจุบัน งานบ้านกาญจนาฯหัวใจหลักคือเรื่องของสิทธิ 10 ปีที่ผ่านมาสังคมไม่ได้ให้คุณค่ากับคนที่เป็นนักโทษเด็ก ดังนั้นการเข้ามาดูแลงานในบ้านกาญจนฯถือเป็นงานที่ท้าทายมาก ตนได้นำกิจกรรมหลายอย่างไปถอดบทเรียนให้เด็กบ้านกาญจนาฯ เรียนรู้เพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านความคิด เพื่อใช้เป็นทักษะในการสื่อสารกับบุคคลภายนอก ที่สำคัญทักษะเหล่านี้นำไปต่อยอดการรณรงค์งานอื่นได้

“การทุ่มเทกับงานในเสกลเล็ก สามารถผลักดันไปสู่เสกลใหญ่กลายเป็นโมเมนตั้ม ที่ไปกดดันให้เกิดรูปแบบใหม่ จนสร้างความเปลี่ยนแปลงสู่สังคมใหญ่ได้ ขอเพียงแค่เรามีจุดยืนที่ชัดเจน หากเราไม่มีจุดยืน เราจะไม่สามารถดูแลคนอื่นได้ซึ่งขณะนี้เราได้เอาสัญลักษณ์ความเป็นคุกและสัญลักษณ์แห่งอำนาจออกจากบ้านกาญจนาฯเกือบไปหมดแล้ว”นางนิชากล่าว

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า สมัยก่อนมีความเชื่อว่างานจัดตั้งต้องสนับสนุนให้กรรกรเข้มแข็งเพื่อต่อรองกับนายจ้างระบบทุนนิยม ด้วยเพราะว่าตนเป็นปัญญาชนที่เหนือกว่าจึงมองว่าชาวบ้านหรือกลุ่มใช้แรงงานไม่มีความรู้ ในการต่อรองกับกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้นตนจึงต้องไปให้ความรู้ เพื่อช่วยให้ชาวบ้านเกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านความคิด พร้อมกับมีสำนึกทางด้านการเมือง โดยชี้ให้เห็นความไม่เป็นธรรมทางสังคม หรือความอยุติธรรมทางกฎหมาย ทำให้เขารู้สึกว่ากำลังถูกโกง สิ่งนี้ทำให้เกิดการรวมกลุ่มอย่างรวดเร็ว หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “งานจัดตั้งงานร้อน” พลังของการรวมกลุ่มก่อให้เกิดสหภาพแรงงาน ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายหลายด้าน อาทิ สวัสดิการบัตรประกันสังคม เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ สิทธิลาคลอดบุตร เป็นต้น แต่เมื่อกลุ่มแรงงานได้สิ่งที่ต้องการแล้ว สหภาพกลับเหลืออยู่ไม่กี่คน สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะเราไม่ไปจัดตั้งให้คนกลุ่มดังกล่าวเห็นศักยภาพของตนเอง จึงทำให้เกิดจุดอ่อนตามมา ส่งผลให้ไม่เกิดการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง

นายจะเด็จ กล่าวต่อว่า งานจัดตั้งในสมัยก่อนเราเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงคนจะนำไปสู่องค์กรที่เข้มแข็งได้ เพราะกรรมกรส่วนใหญ่ต้องพึ่งที่ปรึกษา และใช้ปัญญาชนลงไปให้ความรู้ ซึ่งงานจัดตั้งแบบนี้จะได้ผลแค่ชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจากองค์กรเหล่านี้จะไม่เข้มแข็งพอ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องให้ความรู้ชาวบ้าน ถ้าเขาอยากเปลี่ยนแปลงสังคม เขาต้องเห็นคุณค่าของตนเองก่อน เปลี่ยนชีวิตตนเอง สู่การเปลี่ยนชีวิตคนอื่น และตัวนักพัฒนาหรือปัญญาชนต้องคิดว่างานที่ตัวเองไปทำงานจัดตั้ง เป็นงานที่เข้าไปเรียนรู้กับกรรมกรหรือคนยากคนจน มากกว่าคิดว่าตนเองมีอำนาจเหนือกว่า แต่ควรเข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพร้อมที่จะปรับตัวเข้าหากัน ปรับตัวเอง และมองว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน สุดท้ายต้องเสริมพลังซึ่งกันและกัน

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ มูลนิธิชีววิถี (Biothai) กล่าวว่า นิยามคำว่างานจัดตั้งของตน คือการจัดกระบวนการเรียนรู้ ที่นำไปสู่การปฏิบัติการในสถานการณ์นั้นๆ โดยเอื้ออำนวยให้เกิดการนำไปใช้จริงได้ เช่น การนำคนไปอยู่ในสถานการณ์ เพื่อสัมผัสกับปัญหาที่เกิดขึ้น จนเกิดการเรียนรู้ที่รวดเร็ว และสามารถนำความรู้นั้นไปใช้แก้ไขปัญหาได้ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงสังคมอยู่ที่รากฐานที่สำคัญขององค์กร โดยอาศัยความเชื่อมโยงขบวนความรู้ เพื่อไปต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม งานจัดตั้งหัวใจคือ การผลักดันให้ชาวบ้านที่อยู่ในองค์กรผุดศักยภาพของตนเองออกมาและแสดงออกอย่างเต็มที่ ทั้งนี้จะพบว่างานจัดตั้งในระดับหมู่บ้าน ก็นำไปสู่นโยบายที่เข้มแข็งจำนวนมากได้

นายชูวิทย์ จันทรส เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า การผ่านงานในพรรคการเมืองนักศึกษา ม.รามคำแหง ช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภา ปี 35 ทำให้ตนถูกปลูกฝังให้ทำงานมวลชนและเปลี่ยนแปลงสังคม ผ่านกระบวนงานจัดตั้งจากรุ่นพี่ที่มีความคิดอ่านเพื่อสังคม เราถูกให้ไปกินไปนอนกับชาวบ้าน อยู่กับม๊อบต่าง ๆ จนเป็นเรื่องปกติ เราถูกสอนให้รู้จักยุทธวิธี “ปรับทุกข์ ผูกมิตร เกาะติดจัดตั้ง ฝังแกน” ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังคงใช้เป็นแนวทางในการทำงานอยู่ ซึ่งจะใช่งานจัดตั้งหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ปลายทางที่เราคือเห็นคนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ คนที่ติดเหล้าเมายาจนใครๆ ก็คิดว่าชาตินี้เอาดีไม่ได้ เขาเหล่านั้นลุกขึ้นมาขัดเกลาเปลี่ยนแปลงตัวเอง และสูงสุดของมันคือการไปช่วยเหลือผู้อื่น กล้าลุกขึ้นสู้กับความไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรม ไม่ใช่เอาแค่ตัวเองรอด

การทำงานแบบร่วมทุกร่วมสุขเป็นสิ่งสำคัญ งานเยาวชนที่ทำอยู่จะให้ความสำคัญกับการลงพื้นที่สัมผัสของจริง เราแทบไม่เคยบอกให้น้องเลิกเหล้า แต่เมื่อสัมผัสความจริงเขาจะคิดได้เองซึ่งตรงนี่ยั่งยืนกว่า อย่างไรก็ตามคำว่างานจัดตั้ง เด็กรุ่นใหม่อาจไม่ค่อยยอมรับ เพราะมองว่าเป็นคำที่ดูคลอบงำ และอาจถูกปฏิเสธ อาจจะใช้คำว่าเสริมพลัง หรือ empowerment น่าจะดูซอฟกว่า เป็นการเรียนรู้ไปด้วยกัน

นายสามารถ สระกวี เครือข่ายเกษตรฯ จ.สงขลา กล่าวด้วยว่า ตนไม่สามารถให้คำนิยามได้ว่างานจัดตั้งคืออะไร สมัยก่อนตนอยู่รอยต่อระหว่างแนวคิดแบบทุนนิยมไปสู่สังคมนิยม ในขณะนั้นเรื่องแบ่งชนชั้น มีบทบาทส่งผลให้นายทุนเอาเปรียบชาวนา ดังนั้นเมื่อตนได้เข้าไปในหมู่บ้านจึงมีแนวคิดให้ชาวบ้านติดอาวุธสู้กับนายทุน โดยการรวมกลุ่มกันรณรงค์เรียกร้องสวัสดิการต่างๆ จนกลายเป็นกลุ่มออมทรัพย์ แต่ผลที่เกิดขึ้นพบคนจนโกงกันเอง ต้องต่อสู้กันเองภายในองค์กรและยังต้องสู้กับการจัดการตนเองด้วย ทั้งนี้จึงจำเป็นต้องค้นหากระบวนการ หรือรูปแบบอื่นที่ทำให้องค์กรเดินไปได้ด้วยการมีส่วนร่วม หรือการทำงานเป็นทีม ภายใต้แนวคิดจะทำอย่างไรให้กลุ่มของตนอยู่ได้อย่างยั่งยืน

ขณะเดียวกันตนมีแนวคิดว่าองค์กรชาวบ้านต้องมีลักษณะแบบถ่วงดุลเชิงอำนาจ ผู้บริหาร และสมาชิก ต้องมีกระบวนการให้ความเห็นร่วมกัน โดยสร้างวัฒนธรรมให้ชาวบ้านมีสิทธิเท่าเทียมกันในการสร้างอำนาจ เพื่อยกระดับการเรียนรู้ไปทีละชั้นนำไปสู่โครงสร้างที่กว้างขึ้น มีการเลือกตั้งกันเป็นวาระป้องกันการผูกขาดผู้นำในองค์ และยกระดับผู้นำเดิมเป็นที่ปรึกษา จะทำให้เกิดองค์กรที่ยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้ จากการระดมความคิดในที่ประชุม ภาคีเครือข่ายได้ข้อสรุปตรงกันว่า งานจัดตั้งนั้นมีความสำคัญอยู่มาก สามารถทำให้ประชาชน คนยากจน ผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมได้รวมกลุ่มกันต่อรองและเรียกร้องกับอำนาจที่ไม่เป็นธรรม จากนายทุน รัฐราชการ และอิทธิพลต่างๆ ในสังคมไทย แม้คนรุ่นใหม่อาจไม่ค่อยยอมรับงานจัดตั้ง เพราะมองว่าองค์กรที่จัดตั้งมานั้นมีผู้นำที่ชอบนำเดี่ยวไม่ทำงานเป็นทีม แต่ในที่ประชุมยังยืนยันที่จะต้องทำงานจัดตั้งต่อไป เพื่อทำให้ภาคประชาชนเข้มแข็งและสามารถต่อรองกับอำนาจ สร้างความเป็นธรรมในมิติสุขภาพและอื่นได้