ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิชาการแนะภาครัฐ เอกชน คิดให้รอบด้านก่อนวางนโยบายแก้ไขปัญหาสังคมสูงวัย เกรงซ้ำรอยนโยบายคุมกำเนิดจนอัตราการเกิดลดเหลือแต่คนชรา ชี้ขยายอายุเกษียณไม่ใช่ทางแก้ หวั่นลดโอกาสบัณฑิตจบใหม่

การควบคุมอัตราการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของประชากร เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐเพื่อสร้างความสมดุลของกำลังแรงงานในประเทศ ในประเทศไทยนโยบายด้านประชากรเริ่มปรากฏขึ้นเป็นครั้งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 -7 เรียกได้ว่าเป็น 3 ทศวรรษของการควบคุมอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรภายใต้แนวคิด ลูกมากยากจน ถึงแม้เวลาจะล่วงมากว่า 2 ทศวรรษ แต่ผลตกค้างของการลดอัตราการเกิดยังเกิดขึ้นเรื่อยมา ในปัจจุบันที่อัตราเพิ่มของประชากรลดลงจนภาครัฐต้องรณรงค์ให้หนุ่มสาวมีบุตร อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดคู่ขนานเรื่อยมากับนโยบายควบคุมประชากร คือ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจ การศึกษาภาคบังคับได้ขยายเวลาก่อนการมีชีวิตสมรสให้ยาวนานขึ้น หนุ่มสาวยุคใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานแทบจะในทันทีที่กระโจนออกจากรั้วสถาบันการศึกษา การมีบุตรเพื่อใช้เป็นแรงงานในครัวเรือนกลายเป็นเรื่องของอดีตหรือพื้นที่ชนบทที่ยังชีพด้วยเกษตรกรรม

ในการประชุมคณะกรรมการโครงการสนับสนุนพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะรองรับสังคมสูงวัย ณ ห้องประชุม 209 ชั้น 2 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายภาคส่วน อาทิ ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่ปรึกษาโครงการสนับสนุนพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะรองรับสังคมสูงวัย กล่าวถึงการรับมือกับการเข้าสู่สังคมสูงอายุของประเทศไทยในขณะนี้ว่า เกรงว่าอาจจะซ้ำรอยกับนโยบายเพิ่มจำนวนประชากรเมื่อ 30 ปีก่อน ที่หลายหน่วยงานต่างระดมทรัพยากรมุ่งไปที่การลดจำนวนประชากรในทันทีโดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว

ย้อนบทเรียน นโยบายคุมกำเนิด “เกิดลด จนต้องเพิ่ม”

ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์ กล่าวว่า รูปธรรมที่ชัดเจนคือ การที่ทุกหน่วยงานต่างระดมสรรพกำลังเข้ามาแก้ปัญหาอัตราการเกิดของประชากรที่พุ่งสูงขึ้น เนื่องจากขณะนั้นสภาพเศรษฐกิจสังคมบีบรัดให้แรงงานในภาคเกษตรกรรมต้องมีบุตรมากผลจากอัตราการตายของทารกแรกคลอดพุ่งสูงขึ้น หลายครอบครัวที่ต้องการกำลังแรงงานจึงนิยมมีลูกมาก การเพิ่มขึ้นของประชากรจึงพุ่งสูงส่งผลให้หลายหน่วยงานกระโจนเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหาด้วยวิธีการคุมกำเนิดผ่านรูปแบบต่างๆ อาทิ การรณรงค์เรื่องวางแผนครอบครัว ไปจนถึงการให้บริการคุมกำเนิดทางการแพทย์หลากวิธี

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป กำลังแรงงานส่วนใหญ่ไปอยู่ที่ภาคอุตสาหกรรม สภาวะการทำงานส่งผลให้ทันศคติของคนหนุ่มสาวจากเดิมที่เคยต้องการมีบุตรเพื่อใช้เป็นแรงงานในครัวเรือน เปลี่ยนไปเป็นนิยมมีบุตรน้อยลง ดังนั้นทัศนคติที่เกิดจากปัจจัยทางสังคมผนวกกับนโยบายของรัฐ จึงยิ่งเป็นแรงผลักให้อัตราการเกิดของประชากรต่ำลงเรื่อยๆ

“ขณะนั้น ทุกหน่วยงานตื่นตัวเพื่อแก้ปัญหาอัตราการเกิดที่พุ่งสูง ทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาต่างสนับสนุนให้ประชากรวางแผนครบครัวให้ทันท่วงที โดยไม่คาดคิดถึงผลกระทบในอีกหลายปีข้างหน้า ที่สำคัญยังไม่ได้คำนึงถึงพฤติกรรมของประชากรที่ปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมโดยที่รัฐไม่ต้องเข้าไปวางแผนให้” ศ.ดร.เทียนฉายกล่าว

แนะคิดให้รอบด้าน หวั่นซ้ำรอยนโยบายลดประชากร

สำหรับภาพรวมของการรับมือกับสังคมผู้สูงอายุของไทยในปัจจุบัน เห็นได้ว่าหลายหน่วยงานต่างพร้อมใจกันขานรับการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างแข็งขัน เช่น การให้ภาครัฐและเอกชนพิจารณาขยายอายุเกษียณของพนักงานในองค์กร ภายใต้แนวคิดสร้างคุณค่าให้กับประชากรสูงอายุไปพร้อมกับการรักษากำลังแรงงาน

สำหรับกรณีดังกล่าว ศ.ดร.เทียนฉาย วิเคราะห์ว่า นับเป็นเรื่องที่ดีในเชิงวิธีคิดที่สังคมยังมองเห็นศักยภาพของบุคคลแม้จะเข้าสู่วัยชรา ในทางตรงกันข้ามการดึงผู้สูงอายุให้ยังอยู่ในภาคแรงงานอาจส่งผลต่อคุณภาพเศรษฐกิจโดยรวม ยกตัวอย่างเช่น ในระบบราชการ การขยายอายุราชการให้กับบุคลากรของรัฐที่มีฐานเงินเดือนสูงนั้นไม่ได้เป็นประโยชน์แต่อย่างใด เนื่องจากส่วนใหญ่อยู่ในตำแหน่งงานบริหาร ขณะที่ภาคปฏิบัติกลับขาดแคลนบุคลากรซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนุ่มสาวจบใหม่ที่ยังไม่มีงานทำ เพราะตำแหน่งงานถูกขยายออกไปให้กับผู้สูงวัยในที่ทำงาน  มากไปกว่านั้นดร.เทียนฉายชวนตั้งข้อสังเกตว่า การรับมือกับปัญหาสังคมสูงวัยในขณะนี้ ยังขาดการคิดทบทวนอย่างรอบด้าน โดยมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งสุดท้าย อาจจะซ้ำรอยกับกับนโยบายลดจำนวนประชากรในอดีตที่ผ่านมา