ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายก อบจ.สุรินทร์ ชี้ สธ.หวงอำนาจโอนระบบสาธารณสุขให้ท้องถิ่น ยัน อปท.มีความพร้อม ช่วยแก้ปัญหาหมอขาดแคลน บุคลากรทำงานหนักแต่ได้ค่าตอบแทนน้อยได้ ชูไอเดีย โครงการนักเรียนทุนแพทย์ กลับมารักษาคนท้องถิ่น  

นายกิติเมศวร์ รุ่งธนิเกียรติ

นายกิติเมศวร์ รุ่งธนิเกียรติ นายกองค์การบริหารจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนถิ่น (อปท.) ควรมีอำนาจ และบทบาทในการดูแลปัญหาการรักษาพยาบาลและการขาดแคลนแพทย์ในต่างจังหวัด ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลต่างจังหวัดในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีปัญหามาก ทั้งขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ แต่ละคนก็ทำงานหนัก และได้ค่าตอบแทนน้อย

นายกิตติเมศวร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีแผนกระจายอำนาจ โดยกำหนดให้สถานีอนามัยจะต้องถ่ายโอนให้กับ อปท. เช่น เทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลดูแล เพราะแต่ละท้องถิ่นมีศักยภาพในการผลักดันให้สถานีอนามัยเพื่อยกระดับมาตรฐานการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้น แต่กระทรวงสาธาณสุขกลับหวงอำนาจ ไม่ยอมถ่ายโอนให้กับ อปท. ยิ่งกว่านั้นก็มีการปรับอัตรากำลัง และตำแหน่งบุคลากรในสถานีอนามัย มาเป็น ผอ.รพ.สต. ทั้งที่เป็นโรงพยาบาลแต่ไม่มีหมอแม้แต่คนเดียว จึงไม่มั่นใจว่า การกระทำอย่างนี้เพื่อหนีการถ่ายโอนให้กับ อปท. หรือไม่

นายกองค์การบริหารจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า หากให้ท้องถิ่นดูแลระบบสาธารณสุขในแต่ละจังหวัด ท้องถิ่นก็อาจหางบประมาณ หรือทำโครงการนักเรียนทุนเพื่อส่งเข้าเรียนแพทย์ และให้แพทย์ทุุนทั้งหลายกลับมาทำงานในท้องถิ่นเพื่อดูแลคุณภาพชีวิตประชาชน ตัวอย่างก็มีให้เห็น โรงพยาบาลของท้องถิ่นหรือของ อบจ. เช่น ใน จ.ชลบุรี ซึ่งมีงบประมาณสนับสนุนก็มีคุณภาพดีกว่าโรงพยาบาลของรัฐในบางแห่งด้วยซ้ำ

"นอกจากหวงอำนาจแล้ว แพทย์ที่อยู่ต่างจังหวัดก็คอรัปชั่นเวลา คือไปทำคลีนิคหรือโรงพยาบาลเอกชนแล้วค่อยมาทำงานที่โรงพยาบาลของรัฐ ถามว่า 2 เรื่องนี้ กระทรวงสาธารณสุขแก้ปัญหาอย่างไร" นายก อบจ.สุรินทร์ กล่าว

นายกิตติเมศวร์ กล่าวว่า มีเรื่องเร่งด่วนหลายเรื่องที่ สธ.ต้องรีบแก้แต่กลับไม่ทำ มัวแต่หวงอำนาจตัวบุคคลไม่กี่คน ซึ่งเคยพูดในวงประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติว่า เรื่องเหล่านี้คือต้นเหตุของปัญหาหลายอย่าง และยิ่ง สธ.จะออกมาตรฐานหรือพยายามควบคุมจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ ก็ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะจะทำให้แพทย์ยิ่งขาดแคลนมากขึ้น

"วันนั้น ในที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติพรีเซ็นต์กันว่า จำเป็นต้องควบคุมแพทย์เพราะถ้ายังผลิตแพทย์อย่างนี้อีก 10 ปี แพทย์จะตกงานสุดท้ายแพทย์จะต้องกลับมาขับแท็กซี่ เพราะอัตรากำลังการแพทย์มันเหลือเฟือ พูดอย่างนี้ ผมว่าเพ้อเจ้อมาก ถ้าดูปัจจุบันแพทย์ทั้งหมดมี 5 หมื่นกว่าคนทั่วประเทศ แต่กระจุกอยู่ที่ส่วนกลาง กทม.ถึง 25,000 คน แล้วอีก 75 จังหวัด จะเหลือแพทย์กี่คน อย่างนี้ ความสมดุลต่ออัตราประชากรมันไม่เกิด" นายกิตติเมศวร์ กล่าว

นายกิตติเมศวร์ กล่าวว่า ขอให้ สธ.กลับมาคิดทบทวนอีกครั้งว่า การที่ตั้ง รพ.สต.เพื่ออะไร หนีการกระจายอำนาจต่อ อปท.หรือไม่ กลัวท้องถิ่นมาดูแลเพราะอะไร หรือว่าแพทย์คือแดนสนธยา แพทย์บางแห่งเป็นขุมประโยชน์ของคนบางคนหรือไม่  ทั้งนี้ยืนยันว่า ท้องถิ่นหลายแห่งมีศักยภาพที่จะสนับสนุนระบบสาธารณสุข และถ้าถ่ายโอนอำนาจให้ก็จะช่วยให้เกิดการแข่งขันด้านการรักษาพยาบาลระหว่างท้องถิ่นด้วยกัน เช่นเดียวกับการศึกษาทุกวันนี้ท้องถิ่นมาดูแลช่วยให้การศึกษาดีขึ้นเพราะท้องถิ่นมีงบประมาณ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง