ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักข่าวบีบีซีโดย Nick Triggle (BBC’s Health correspondent) วิเคราะห์ 10 สาเหตุที่ทำให้ บริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) ของสหราชอาณาจักรกำลังตกอยู่ภายใต้แรงกดดันทางการเงิน อะไรทำให้ NHS มาถึงจุดนี้ ?

หากรู้ว่า NHS ใหญ่ขนาดไหนเป็นใครก็ต้องอึ้ง...NHS ให้บริการผู้ป่วยราวหนึ่งล้านคนทุก 24 ชั่วโมงด้วยจำนวนพนักงานราว 1.7 ล้านคนซึ่งสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก และนั่นก็ทำให้ NHS ต้องอาศัยงบประมาณมหาศาลมาคอยค้ำจุน

1. งบประมาณ NHS สูงเป็นประวัติการณ์

ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของสหราชอาณาจักรเมื่อปีก่อนมีตัวเลขที่ 140,000 ล้านปอนด์ซึ่งสูงกว่า 10 เท่าเมื่อเทียบกับตัวเลขเมื่อ 60 ปีก่อนแม้ภายหลังปรับตามตัวเลขเงินเฟ้อ

2. งบประมาณภาครัฐกำลังเทไปด้านสาธารณสุข

รัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมาได้ทุ่มการลงทุนในภาคสาธารณสุขจนสัดส่วนการลงทุนในบริการสาธารณสุขปัจจุบันกระโดดมาอยู่ที่ราว 1 ใน 3 กระทั่งในช่วงรัดเข็มขัดก็ยังมีการจัดสรรงบประมาณพิเศษเช่นในรัฐบาลชุดปัจจุบันซึ่งผันงบให้อีก 8,000 ล้านปอนด์ แต่ดูเหมือนงบประมาณที่จัดสรรให้นั้นถมลงไปเท่าไรก็ยังคงไม่เพียงพอสักที

3. บริการรถพยาบาลและหน่วยฉุกเฉินยังไม่ตอบโจทย์

ระยะเวลา 4 ชั่วโมงในการให้บริการรถพยาบาลและหน่วยฉุกเฉินนั้นไม่ใช่ดัชนีสะท้อนคุณภาพที่แท้จริง เพราะไม่สามารถบอกได้ถึงคุณภาพการบริการ ไม่ว่าการบรรเทาปวดอย่างทันท่วงทีหรือการสังเกตสัญญาณของหัวใจวาย ตรงข้ามกลับเป็นตัวบอกภาวะตึงเครียดของการให้บริการทั้งสถานพยาบาลระดับชุมชนและโรงพยาบาล

การให้บริการแก่ผู้ป่วยราวร้อยละ 95 จะเรียบร้อยใน 4 ชั่วโมงหากจำนวนผู้ป่วยที่เข้าออกโรงพยาบาลสมดุลกัน แต่การให้บริการปัจจุบันไม่สามารถขับเคลื่อนได้ตามเป้าดังกล่าวและถดถอยลงทุกปี ปัญหานี้ยังระบาดไปถึงเวลส์และไอร์แลนด์เหนือ ส่วนสกอตแลนด์แม้จะดีกว่าเล็กน้อยแต่ก็ยังไม่อาจบรรลุตามเป้า

4. ประชากรสหราชอาณาจักรกำลังเข้าสู่วัยชรา

แน่นอนว่าประชากรที่กำลังเข้าสู่วัยชราเป็นความท้าทายต่อระบบสาธารณสุขทั่วโลก เรามีอายุขัยยาวนานขึ้นด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ เมื่อครั้งที่ NHS ก่อตั้งขึ้นมานั้นอายุคาดเฉลี่ยของประชากรสหราชอาณาจักรสั้นกว่าปัจจุบันถึง 13 ปี ขณะที่ทุกวันนี้มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคภัยน้อยลง กระทั่งผู้ป่วยมะเร็งก็สามารถมีชีวิตอยู่ต่ออีกนับ 10 ปีหรือนานกว่านั้น

ทว่าความก้าวหน้าด้านการแพทย์กลับส่งผลกระทบย้อนกลับมาหาเราเอง ดังที่จำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อรังทั้งเบาหวาน หัวใจ  และสมองเสื่อมกำลังเพิ่มขึ้นทุกที ขณะที่การแพทย์ก็ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าให้การดูแลแบบประคับประคอง โดยประเมินว่าคนส่วนใหญ่จะมีโรคเรื้อรังอย่างน้อยหนึ่งโรคเมื่ออายุ 65 ปีและทวีขึ้นเป็น 2 โรคเมื่อ 75 ปี

5. การดูแลผู้สูงอายุมีต้นทุนแพงกว่ามาก

ต้นทุนการดูแลประชากรวัย 65 ปีของ NHS สูงกว่าตัวเลขสำหรับใช้ดูแลประชากรวัย 30 ถึง 2.5 เท่า ซึ่งตัวเลขกระโดดไปถึง 5 เท่าสำหรับประชากรวัย 85 ปี

จำนวนผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้นก็ดึงต้นทุนของ NHS ให้สูงขึ้นตามไปด้วย หนำซ้ำต้นทุนยาใหม่ก็มีทิศทางเพิ่มขึ้น จน NHS ต้องพิจารณามาตรการควบคุมรายจ่ายสำหรับยาใหม่ นอกจากนี้โรคอ้วนก็กำลังเป็นปัญหาใหญ่ดังที่พบว่า 1 ใน 3 ของประชากรวัยผู้ใหญ่มีภาวะน้ำหนักเกินและมีความเสี่ยงสูงต่อปัญหาสุขภาพ

ปัจจัยดังกล่าวนำมาสู่สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขขนานนามว่าปัญหาเงินเฟ้อด้านสุขภาพ อันเป็นภาวะที่ต้นทุนการดูแลรักษาพุ่งแซงหน้าค่าครองชีพ และเป็นสาเหตุที่ทำให้รัฐเพิ่มสัดส่วนรายจ่ายด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องผ่านการเก็บภาษีและลดรายจ่ายด้านอื่น รวมถึงงบกลาโหม

6. การเพิ่มงบประมาณ NHS เข้าสู่ช่วงชะลอตัว

งบประมาณที่ NHS ได้รับเพิ่มขึ้นปีละกว่าร้อยละ 4 และบางช่วงดีดขึ้นไปถึงเกือบร้อยละ 7 นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2491     ทว่านับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา NHS ก็เข้าสู่ช่วงรัดเข็มขัดแน่นแม้เพิ่งอัดฉีดงบประมาณพิเศษ 8,000 ล้านปอนด์

แม้รัฐบาลยันยันว่า NHS ยังคงได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม แต่เม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นนั้นก็เทียบกันไม่ได้กับที่เคยได้รับ ขณะเดียวกันก็มีการประเมินว่าในอีก 10 ปีข้างหน้างบประมาณของ NHS จะไม่เพียงพอต่อการรับมือกับจำนวนประชากรและจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น

7. งบประมาณสาธารณสุขสหราชอาณาจักรต่ำกว่าประเทศอื่นในสหภาพยุโรป

หากประเมินตามขนาดของเศรษฐกิจก็จะเห็นได้ชัดว่าสหราชอาณาจักรมีสัดส่วนรายจ่ายด้านสาธารณสุขต่อจีดีพีที่ต่ำกว่าประเทศอื่นในยุโรป ทำให้มีจำนวนแพทย์ พยาบาล และเตียงน้อยกว่าประเทศอื่น และแม้ประชาชนยังคงเห็นต่างในประเด็นเพิ่มอัตราภาษีเพื่ออุดหนุนงบประมาณสาธารณสุข แต่ส่วนใหญ่คัดค้านการเก็บค่าบริการเพิ่มหรือปรับรูปแบบเป็นการประกันสุขภาพตามประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้มองกันว่า การเพิ่มงบประมาณจะไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นในชั่วข้ามคืน เพราะแพทย์และพยาบาลส่วนใหญ่ยังคงต้องได้รับการฝึกฝนซึ่งต้องอาศัยเวลา อีกทั้งบุคคลากรในสายนี้ก็ใช่ว่าจะทดแทนกันได้ง่าย

เป็นที่กังขาว่าโครงสร้าง NHS สอดคล้องกับการให้บริการรักษาพยาบาลในศตวรรษที่ 21 หรือไม่ ดังที่ NHS ยังยึดโยงอยู่กับเครือข่ายโรงพยาบาลทั่วไปซึ่งก่อตั้งขึ้นในช่วงคริสตทศวรรษที่ 60 อันเป็นช่วงที่โรงพยาบาลผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด 

ปัจจุบันเห็นได้ชัดว่าการประคับประคองจากชุมชนต่างหากที่เป็นความต้องการโดยแท้จริงของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง แต่ติดปัญหาที่การดูแลในระดับชุมชนกลับขาดแคลน ดังที่จำนวนพยาบาลส่วนภูมิภาคของอังกฤษถูกหั่นลงถึงร้อยละ 28 ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับการติดต่อนัดแพทย์ทั่วไปซึ่งกำลังเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ

8. อุปสงค์ต่อบริการรถพยาบาลและแผนกฉุกเฉินเพิ่มสูงขึ้น

อัตราการใช้บริการรถพยาบาลและแผนกฉุกเฉินที่เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 30 ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมาทำให้โรงพยาบาลมีผู้ใช้บริการมากขึ้นโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง จนกระทั่งนำไปสู่ปัญหาการครองเตียง ที่ผ่านมาจึงมีความพยายามแก้ไขโดยยกระดับการดูแลรักษาภายนอกโรงพยาบาลในแบบบูรนาการ รวมถึงการรณรงค์เพื่อป้องกันโรคผ่านการส่งเสริมออกกำลังกาย โภชนาการที่ดี และลดการดื่มเหล้า

9. บริการดูแลสุขภาวะไม่ทั่วถึง

บริการดูแลสุขภาวะซึ่งจะคอยดูแลกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุ รวมถึงการบริบาลยังสถานสงเคราะห์ในช่วงบั้นปลายชีวิตมีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีและดำรงชีวิตได้อย่างอิสระภายนอกโรงพยาบาล   บริการดังกล่าวของรัฐจะเป็นที่ต้องการมากขึ้นตามแนวโน้มประชากรสูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาพบว่าจำนวนผู้สูงอายุในอังกฤษที่ได้รับความช่วยเหลือจากบริการดูแลสุขภาวะลดลงราว 1 ใน 4 ส่งผลให้มีผู้สูงวัยจำนวนมากไม่ได้รับการดูแลหรือต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง

เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นในสหราชอาณาจักรแล้ว อาจกลายเป็นว่าอังกฤษด้อยกว่าในบริการด้านนี้ โดยเวลส์กำหนดเพดานค่าใช้จ่ายการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านไม่เกินสัปดาห์ละ 60 ปอนด์ ขณะที่ไอร์แลนด์เหนือไม่คิดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ที่อายุเกิน 75 ปี ส่วนสกอตแลนด์ให้บริการช่วยอาบน้ำและแต่งตัวโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายทั้งที่สถานสงเคราะห์หรือที่บ้านพัก

10. งบรักษาพยาบาลพุ่งแซงงบดูแลสุขภาวะ

สำหรับข้อนี้ลองตั้งคำถามตัวเองสิว่าคุณจะจัดสรรงบประมาณสาธารณสุขและบริการอย่างไร....คุณจะแยกส่วนการบริการใดไปขึ้นกับสถาบันใหญ่และบริการใดอยู่ในระดับชุมชน...บริการไหนจะเรียกเก็บค่าบริการและบริการไหนที่ไม่เก็บค่าใช้จ่าย...จะเพิ่มงบประมาณส่วนใดแล้วจะลดส่วนไหนลงบ้าง...เป็นคุณจะสร้างโรงพยาบาลกว่า 200 แห่งแล้วผลาญงบประมาณไปกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลแบบประคับประคองกระนั้นหรือ

เรียบเรียงจาก เว็บไซต์บีบีซี 10 charts that show why the NHS is in trouble