ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมออังกฤษชี้ ควรป้องกันภัยคุกคามสาธารณสุขเหมือนกับป้องกันภัยคุกคามจากการก่อการร้าย

ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร เปิดเผยรายงานวิชาการประจำปี ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นและเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขของรัฐและ NHS หรือบริการสุขภาพแห่งชาติของสหราชอาณาจักร ออกนโยบายป้องกันภัยคุกคามทางสาธารณสุข โดยเสนอให้หยิบยกแนวทางที่คล้ายกันมาจากแนวทางสาธารณสุขโลกแบบเดียวกับกลยุทธ์ต่อต้านการก่อการร้ายมาใช้ เมื่อภัยเหล่านั้นเกิดขึ้นจากภายนอก ข้ามขอบแดนและสร้างวิกฤติให้กับรัฐ เช่นเดียวกับภัยคุกคามจากการก่อการร้าย

22 กรกฎาคมที่ผ่านมา ศาสตราจารย์และแพทย์ใหญ่ของสหราชอาณาจักร เดม แซลลี เดวีส์ (Dame Sally Davies) เปิดเผยรายงานประจำปีที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการจัดให้วิกฤติสาธารณสุขแบบใหม่ เช่น การระบาดของโรคอีโบลา (Ebola) หรือโรค x (disease x) ซึ่งคร่าชีวิตประชาชนและมีความรุนแรง ว่าไม่ต่างอะไรกับภัยก่อการร้าย

“ภัยคุกคาม (ทางสาธารณสุข) ที่เกิดขึ้นจากอีกมุมหนึ่งของโลก สามารถแพร่กระจายไปได้ทุกพื้นที่ทั่วโลก เราจำเป็นที่จะต้องป้องกันและสร้างสุขภาพที่แข็งแรงให้กับประชาชน เมื่อความมั่นคงของชาติและบ้านเกิด (ของชาวสหราชอาณาจักร) เราควรที่จะลงทุนกับระบบสาธารณสุขเพื่อปกป้องทุกคน เราเชื่อมโยงกับโลก และถ้าเราไม่ทำอะไร การเชื่อมโยงเหล่านั้นจะกลายเป็นความเสี่ยง” เดวีส์ กล่าว

เดวีส์ ยังได้อธิบายถึงความท้าทายจากภายนอกที่กลายเป็นภัยคุกคามสาธารณสุขว่า ไม่เหมือนกับภัยคุกคามทางสาธารณสุขแบบดั้งเดิมอีกต่อไป (เช่น มลพิษ เป็นต้น) และเมื่อความท้าทายเหล่านี้ข้ามพรมแดน นั่นคือวิกฤติฉุกเฉิน และจำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอก ไม่ว่าจะเป็น รัฐบาลจากประเทศต่าง ๆ องค์กรระหว่างประเทศ และ เอ็นจีโอ เป็นต้น

เดวีส์ เสนอว่า สหราชอาณาจักรควรหยิบยกแนวทางป้องกันภัยคุกคามสาธารณสุข โดยร่วมมือกับองค์กรเชี่ยวชาญข้ามชาติ เพื่อหลีกเลี่ยง ติดตาม ป้องกันและเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการโจมตี และรับรองว่าประเทศต่าง ๆ จะดำเนินการต่อเหตุการณ์นั้น ๆ อย่างทันทีและรวดเร็วร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม เธอยังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการสร้างความมั่นใจในระดับชาติ เมื่อเจ้าหน้าที่ทางสาธารณสุขของสหราชอาณาจักรได้รับการยกย่องว่ามีความเชี่ยวชาญและสามารถควบคุมโรคติดเชื้อต่าง ๆ ได้ รวมถึงเจ้าหน้าที่เหล่านั้นยังออกเดินทางไปรักษาและช่วยเหลือผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรงในหลาย ๆ พื้นที่ทั่วโลก ดังนั้น สหราชอาณาจักรจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความมั่นใจว่าประเทศต่าง ๆ จะได้รับความร่วมมือและแบ่งปันความเชี่ยวชาญต่อโลกด้วยเช่นกัน

ขณะที่โรคไม่ติดต่อ (เช่น โรคหัวใจ หรือ โรคมะเร็ง) ก็มีความเสี่ยงและไม่ควรเพิกเฉยเช่นกัน โดยเดวีส์อธิบายว่า โรคเหล่านั้นกำลังกลายเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ที่คร่าชีวิตประชากรโลกสูงสุด และภายในปี 2021 จะกลายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ

“หลายทศวรรษที่ผ่านมา การควบคุมโรคติดต่อได้ทำให้ประเทศต่าง ๆ เชื่อมโยงเข้าหากัน การระบาดของโรคเหล่านั้น ท้ายที่สุดก็เกี่ยวข้องกับมนุษยชาติ โดยไม่คำนึงถึงสัญชาติ สีผิวหรือศาสนา และการที่จะเอาชนะมันได้คือเราทุกคนต้องทำงานร่วมกัน คือความท้าทายที่สหราชอาณาจักรเผชิญอยู่ และสำคัญมากพอที่สหราชอาณาจักรควรจะต้องลงทุนในระบบสาธารณสุขโลก เพราะเป็นระบบที่ไม่ว่าจะประเทศร่ำรวยหรือยากจนก็จำเป็นต้องพึ่งพา” เดวีส์ ทิ้งท้าย

ที่มา:

Killer global health threats should be treated like terrorism, says Chief Medical Officer : www.telegraph.co.uk

UK’s greatest health threats will come from abroad, England’s top doctor warns: www.telegraph.co.uk