ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมออนามัยจังหวัดชายแดนใต้ยื่นหนังสือ เลขาธิการ ศอ.บต. ผลักดันสิทธิความก้าวหน้านักสาธารณสุขชายแดนใต้ ข้อเสนอเพื่อพิจารณาช่วยเหลือและแก้ไขเรื่องการบริหารบุคคล ความก้าวหน้า ค่าตอบแทน และการบรรจุนักสาธารณสุขชายแดนใต้

นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2560 ที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พบปะ ผอ.รพ.สต.และเจ้าพนักงานที่มีวุฒิ ป.ตรี ในหน่วยงานสาธารณสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ในเวทีการประชุมใหญ่ชมรม ผอ.รพ.สต. จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปี2560 “หมออนามัยชายแดนใต้ ร่วมใจ สานสายใย กับ ศอ.บต.” พร้อมรับหนังสือข้อเรียกร้องเรื่องสิทธิความก้าวหน้าของนักสาธารณสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้

นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า นักสาธารณสุขหรือหมออนามัยเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการรักษาสุขภาพของพี่น้องชาวบ้านในพื้นที่ เนื่องจากเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด สามารถรับรู้ความเป็นอยู่ อาหารการกิน และพฤติกรรมการดำเนินชีวิตในแต่ละวันของผู้ป่วยได้

ทั้งนี้ข้อเรียกร้องที่ส่งให้นั้นจะรับพิจารณาและดำเนินการ เพราะ ศอ.บต.ตั้งใจจะดูแลทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี

นายมะกอเซ็ง เจ๊ะแต ประธานชมรม ผอ.รพ.สต.ชายแดนใต้ กล่าวว่า สำหรับข้อเรียกร้องเพื่อพิจารณาช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาบุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ คือ

1.ให้ ศอ.บต.ประสานกระทรวงสาธารณสุข ปรับตำแหน่งสายงานทั่วไป ตำแหน่งเจ้าพนักงานสาธารณสุข เจ้าพนักงานเภสัชกรรม เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข และเจ้าพนักงานตำแหน่งอื่นๆ (รวมถึง back office) ผู้ที่มีวุฒิปริญญาตรีในหน่วยงานสาธารณทุกสังกัดในจังหวัดชายแดนใต้ (รวมหน่วยควบคุมโรคติดต่อโดยแมลง ศูนย์วัณโรค ศูนย์อนามัยที่ 12 วิทยาลัยการสาธารณสุขที่ 12 ศูนย์ธัญรักษ์ ฯลฯ) ที่มีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์ ว.16 ของ ก.พ. การบริหารบุคคลชายแดนใต้ โดยปรับเป็นตำแหน่งประเภทวิชาการทุกตำแหน่งทันทีที่คุณสมบัติครบอย่างต่อเนื่องทุกปี

2.ให้ ศอ.บต.ประสานกระทรวงสาธารณสุข ปรับปรุงตำแหน่ง ผอ.รพ.สต.ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นตำแหน่งชำนาญการพิเศษทุกตำแหน่ง

3.ให้ ศอ.บต.ประสานกระทรวงสาธารณสุข ทบทวนหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าตอบแทน ฉบับ 10 ชายแดนใต้ให้ครอบคลุมทุกวิชาชีพและ ลดความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนทุกฉบับด้วย

4.ให้ ศอ.บต.ประสานรัฐบาล ก.พ. และกระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนการบรรจุข้าราชการ และสนับสนุนอัตรากำลังในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่ จังหวัดชายแดนใต้ โดยใช้ตำแหน่งว่าง (ที่มีในกระทรวงสาธารณสุขหรือที่เสนอขอรัฐบาล) บรรจุหมออนามัยชายแดนใต้ให้ครบตามกรอบโครงสร้างใหม่เช่นเดียวกับที่เคยบรรจุพยาบาลชายแดนใต้ด้วย

นายริซกี สาร๊ะ แกนนำสมาพันธ์บุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ กล่าวว่า อยากให้รัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข รับรู้ว่าหมออนามัยในจังหวัดชายแดนใต้ ล้วนทำงานท่ามกลางความยากลำบาก เสี่ยงภัย เช่นเดียวกับวิชาชีพอื่นในกระทรวงสาธารณสุข และต้องการให้ประชาชนมีสุขภาพดี อีกทั้งหมออนามัยส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ชายแดนใต้ ที่มีจิตสำนึกรักบ้านเกิด ทุ่มเททำงานอยู่ด่านหน้าในพื้นที่ชนบท จึงมีความยากลำบาก และเสี่ยงภัยกว่าหน่วยงานสาธารณสุขระดับอื่นหลายเท่า กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรใส่ใจสนับสนุนในทุกประเด็นเช่น ความก้าวหน้า ค่าตอบแทน และการบรรจุของหมออนามัยชายแดนใต้เป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งมาตรการความปลอดภัย เช่น การสนับสนุนรถรับส่งเจ้าหน้าที่ทุก สสอ. การสนับสนุนรถ refer ทุก รพ.สต.และมาตรการความปลอดภัยอื่นๆ อย่างจริงจังเป็นรูปธรรมด้วย และในฐานะที่เป็นวิชาชีพฐานรากจึงควรได้สิทธิที่เป็นธรรม ทัดเทียมวิชาชีพอื่นๆ ในกระทรวงเดียวกันที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้เหมือนๆ กันด้วย