ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส. ผนึกเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ดัน “ศูนย์เรียนรู้ระบบดูแลผู้สูงอายุ” 50 แห่ง ในปี 2560 ต้นแบบแหล่งเรียนรู้พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุด้วย 5 อ. “อาหาร-ออกกำลังกาย-อาชีพ-ออม-อาสา” พร้อมปรับมุมมองใหม่ “สูงวัยสร้างเมือง” พลังของประเทศ เตรียมความพร้อม “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” ปี 2564

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2560 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดกิจกรรมปฏิบัติขับเคลื่อน “สูงวัยสร้างเมือง” เพื่อพัฒนาข้อเสนอโครงการศูนย์เรียนรู้การพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุ โดยนายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ กล่าวนำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) กว่า 65 แห่ง ประกาศเจตนารมณ์ของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ โดยร่วมรณรงค์ “สูงวัยสร้างเมือง ด้วยปฏิบัติการ 5 อ.” ให้เกิดพื้นที่ต้นแบบที่เป็นรูปธรรม และรณรงค์เปลี่ยนมุมมอง การรับรู้ของสังคมและชุมชนท้องถิ่นจาก “ภาระ” เป็น “พลัง” เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาขับเคลื่อนประเทศ หรือ “สูงวัยสร้างเมือง”

นางสาวดวงพร เฮงบุญยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าวว่า เหลืออีกเพียง 4 ปี เท่านั้น ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ สสส.จึงร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์(พม.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.) เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือ โดยสสส. ได้ทำโครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้การพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ โดยตั้งเป้ามีศูนย์เรียนรู้การพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุ 50 แห่งภายในปี 2560 และขยายเพิ่มครอบคลุมองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นครบทุกจังหวัดภายในปี 2564

“สสส.เข้าไปสนับสนุนการจัดระบบการทำงานในพื้นที่ให้เกิดการจัดการที่ดี ออกแบบการเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพบุคลากร อบรมทักษะ โดยอาศัยข้อมูลสุขภาพตำบล และงานวิจัยชุมชนเป็นฐานในการทำงาน เพื่อผลักดันให้เกิดการตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ ศูนย์กายอุปกรณ์ และเกิดประบวนการดูแลผู้สูงอายุทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน ที่จะเป็นกลไกที่สำคัญในการทำงาน” นางสาวดวงพร กล่าว

ด้าน รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน(ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การพัฒนาศูนย์เรียนรู้การพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุ ได้ถอดบทเรียนมาจากพื้นที่ต้นแบบ 12 อปท. ที่มีประสบการณ์และมีรูปธรรมการทำงานที่เกิดขึ้นจริง ทำให้เห็นแนวทางการต่อยอดงานในพื้นที่ใน 10 ประเด็นได้แก่ 1.การส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ 2.อาหารสำหรับผู้สูงอายุ 3.การส่งเสริมการออกกำลังกายผู้สูงอายุ 4.การออมเพื่อผู้สูงอายุ 5.ฝึกอบรมอาสาสมัครและอาสาสมัครเยี่ยมบ้าน 6.การลดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ 7.โรงเรียนผู้สูงอายุ 8.การพัฒนาชมรมผู้สูงอายุ 9. การดูแลต่อเนื่องที่บ้าน10.ศูนย์อุปกรณ์ช่วยเหลือและฟื้นฟูสุขภาพของผู้สูงอายุ โดยใช้ปฏิบัติการ 5 อ. ในพื้นที่ 65 อปท. ได้แก่ อ.ที่ 1 อาหาร-กินอาหารดี โดยผู้สูงอายุ ปลูกเอง ปรุงเอง กินในครอบครัวและแบ่งปัน อ.ที่ 2 ออกกำลังกาย-มีกำลัง เน้นกิจกรรมทางกายที่ทำเองที่บ้าน รวมกลุ่มกันออกกำลังกายเป็นประจำ การผนวกการออกกำลังกายเข้าไปในกิจกรรมทางวัฒนธรรมประเพณี เป็นต้น อ.ที่ 3 อาชีพ-สร้างสัมมาชีพ ตามความถนัดหรือความเชี่ยวชาญที่เป็นต้นทุนชีวิตของผู้สูงอายุ อาชีพใหม่ที่ช่วยพัฒนาสุขภาพไปพร้อมกันด้วยและเป็นลดรายจ่ายภายในชุมชน และตามโอกาสที่เกิดขึ้นในชุมชนและเครือข่าย

อ.ที่ 4 ออม-เก็บออม โดยกระตุ้นให้ผู้สูงอายุออมร่วมกับกลุ่มหรือกองทุนในชุมชนเพื่อจะได้รับสวัสดิการจากกลุ่มและกองทุนอย่างพอเพียง จัดระบบให้ผู้สูงอายุที่มีจิตอาสาได้มีโอกาสในการ “ออมความดี” เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับชุมชนและมีผลตอบแทนจากการทำความดี อ.ที่ 5 อาสา-ปรับบ้าน และดูแลเพื่อน โดยชักชวนให้ผู้สูงอายุทำงานอาสาในกลุ่มของตนเอง เช่น การร่วมกันซ่อมแซมบ้านและปรับสิ่งแวดล้อมให้เพื่อนหรือผู้ยากไร้ในชุมชน การลงแขกของกลุ่มผู้สูงอายุในการทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะและศาสนสถาน การรวมตัวกันรณรงค์จัดการขยะชุมชน การรวมเงินและรวมแรงในการลงพื้นที่ เยี่ยมเยือนเพื่อนผู้สูงอายุ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง