ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เริ่มแล้ว...เวทีประชาพิจารณ์แก้ กม.บัตรทอง ประเดิมรับฟังความเห็นพื้นที่ภาคใต้ จ.สงขลา ผู้ร่วมประชาพิจารณ์คึกคัก ภาคประชาชนแสดงจุดยืน “วอล์คเอาท์ ไม่ร่วมประชาพิจารณ์” พร้อมแถลงการณ์ เรียกร้องยุติรับฟังความเห็น เหตุมุ่งแก้ไขเจตนารมณ์ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กระทบผู้ป่วย ขณะที่ภาพรวมผู้ให้บริการ หนุนเดินหน้าแก้ไข

ที่โรงแรมลีการ์เดนท์พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา – เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2560 นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เป็นประธานในพิธีเปิดเวทีประชาพิจารณ์ (Public Hearing) เรื่อง “การแก้ไขเพิ่มเติม (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นเวทีประชาพิจารณ์ครั้งแรก โดยมีผู้แทนวิชาชีพทางการแพทย์ ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และเครือข่ายประชาชนสนใจเข้าร่วมเพื่อแสดงความเห็นทั้งลงทะเบียนล่วงหน้าและลงทะเบียนที่ประชุมเป็นจำนวน เกือบ 300 คนตามเป้าหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการประชาพิจารณ์ฯ ในเวทีได้มีการเปิดให้ผู้เข้าร่วมประชาพิจารณ์แสดงความเห็นอย่างหลากหลาย ทั้งจากฝ่ายผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ และตัวแทนเครือข่ายต่างๆ โดยภาพรวมแทนผู้ให้บริการส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ ทั้งการแยกเงินเดือน การเพิ่มกรรมการสัดส่วนผู้ให้บริการในบอร์ด สปสช. การร่วมจ่ายค่าบริการ เป็นต้น ขณะที่ภาพรวมผู้รับบริการและภาคประชาชนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายนี้

สำหรับความเห็นส่วนใหญ่ ผู้เข้าร่วมเวทีแสดงความเป็นห่วงในร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ประเด็นดังต่อไปนี้

1.โครงสร้างของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ต้องการให้มีความสมดุลระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน

2.ความชัดเจนที่ประชาชนต้องร่วมจ่ายค่าบริการเมื่อต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลเพื่อลดภาระของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ภาคประชาชนกังวลว่าจะกระทบกับคนจน

3.การบริหารจัดการรับและจ่ายเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร

4.การแยกเงินเดือนและค่าตอบแทนของบุคลากรหน่วยบริการ ซึ่งยังมีความเห็นแตกต่างกันว่าควรรวมในเงินเหมาจ่ายรายหัวหรือไม่ เพื่อให้การบริการดีขึ้น

5.อำนาจการจัดซื้อร่วม ยา เวชภัณฑ์ หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ควรอยู่ที่หน่วยงานใดระหว่าง สปสช.และกระทรวงสาธารณสุข

และ 6.สิทธิการรักษาพยาบาลโดยใช้กองทุนหลักประกันฯ ของกลุ่มชาติพันธุ์

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมเวทียังได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมในประเด็นเกี่ยวเนื่อง อาทิ ประเด็นหลักการของกฎหมาย และการประกันสุขภาพ เป็นต้น

ทั้งนี้ในช่วงที่ นางชโลม เกตุจินดา ประธานเครือข่ายหลักประกันสุขภาพภาคประชาชนภาคใต้ ได้แสดงความเห็นโดยระบุว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติซึ่งดำเนินมาร่วม 15 ปีแล้วถือเป็นระบบที่ดี ซึ่งเท่าที่ดูข้อเสนอ 14 ประเด็น ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข เนื่องจากมองว่ากำลังทำให้ประชาชนถูกลิดรอนสิทธิการเข้าถึงบริการสุขภาพ และจะทำให้ สปสช.กลายเป็นกรมหนึ่งของกระทรงสาธารณสุข อีกทั้งกระบวนการรับฟังความเห็นนอกจากไม่เปิดกว้าง ยังจำกัดเวลามาก ดังนั้นเครือข่ายภาคประชาชนจึงเห็นว่าอยากให้เริ่มต้นกระบวนการแก้ไขกฎหมายใหม่ พร้อมกับตะโกนข้อความว่า “หากแก้ไขแล้วแย่ อยากให้เริ่มใหม่”

ต่อจากนั้นกลุ่มเครือข่ายหลักประกันสุขภาพประชาชนภาคใต้ได้วอล์คเอาท์ออกจากเวทีประชาพิจารณ์ฯ นี้ พร้อมกับได้ร่วมตัวอ่านแถลงการณ์บริเวณหน้าห้องประชุม เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ “แก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพประชาชนต้องมีส่วนร่วม หยุด!!!กระบวนการและเริ่มใหม่”

โดยแถลงการณ์ระบุว่า “เครือข่ายฯ ได้ติดตามการใช้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2545 สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อระบบบริการสุขภาพภาพรวมเป็นอันมาก ลดการล้มละลายครัวเรือนชัดเจน ขณะเดียวกันก็พบข้อติดขัดทางปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามหลักการระบบหลักประกันสุขภาพ ได้แก่ มาตรฐานการรักษาเดียวกันทุกกองทุน การแยกผู้จัดบริการและผู้บริการ การครอบคลุมประชากรทุกลุ่ม การร่วมจ่ายภาษีทางตรงและทางอ้อม ไม่เรียกเก็บ ณ จุดบริการ และสิ่งสำคัญคือหลักการการมีส่วนร่วมที่ต้องสนับสนุนให้ภาคประชาชนจัดบริการ

ทั้งนี้ เราพร้อมร่วมประชาพิจารณ์เพื่อแก้ไขกฎหมายแต่ต้องคงหลักการสำคัญข้างต้น แต่กระบวนการรับฟังความเห็นที่จำกัดผู้เข้าร่วม 300 คน กำหนดเวลา 3 นาที รวมทั้ง 14 ประเด็นที่แก้ไขยังมีนัยยะขัดหลักการสำคัญที่เครือข่ายกังวล ทั้งการเพิ่มกรรมการ สปสช.ในสัดส่วนผู้ให้บริการ การเน้นปลดล็อกการเบิกจ่ายเงินหน่วยบริการ ทั้งไม่ให้ความสำคัญต่อข้อเสนอประชาชนต่อการเข้าถึงยา ดังนั้นเพื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์รับฟังไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 77 และทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเกิดความยั่งยืน จึงขอเรียกร้องให้ยุติกระบวนการรับฟังความเห็นครั้งนี้ และจัดกระบวนการรับฟังความเห็นใหม่โดยให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มจัดทำข้อเสนอ ซึ่งเครือข่ายฯ จะยังคงติดตามการแก้ไขกฎหมายอย่างใกล้ชิด เพื่อให้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคงเจตนารมณ์และหลักการต่อไป

ด้าน นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา กล่าวว่า การที่ภาคประชาชนวอล์คเอาท์ออกจากเวทีควรมีการทบทวน เพราะการพูด 3 นาทีในประเด็นสำคัญไม่ตอบโจทย์ เพราะไม่มีการแลกเปลี่ยนความเห็น ดังนั้นในการจัดเวทีความเห็นกลางทางสถาบันพระปกเกล้าควรจัดเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเพื่อให้ตกผลึก ซึ่งจะทำให้เกิดความสมานฉันท์และเกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ทั้งมองว่ากฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฉบับปัจจุบัน ภาพรวมยังดำเนินไปได้อยู่ หากจะแก้ไขเห็นว่าควรเป็นการแก้หลังเลือกตั้ง ไม่ควรรีบเร่งจนทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจขึ้น

ขณะที่ นพ.พลเดช กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีที่เครือข่ายประชาชนออกจากเวทีประชาพิจารณ์ก่อน และแถลงการณ์นอกห้องประชุม นับเป็นการแสดงออกทางประชาธิปไตยและเป็นสันติวิธี แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการ แต่อยากฝากไปยังประชาชนที่ออกไปก่อนว่ายังสามารถแสดงความเห็นผ่านทางระบบออนไลน์ได้ โดยยังเปิดกว้างรับฟังความเห็นเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ดียิ่งขึ้นตามที่มุ่งหวัง

สำหรับการประชาพิจารณ์ครั้งนี้ นับเป็นการเปิดเวทีประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ เป็นครั้งแรก โดยคณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์ฯ กำหนดจัดเวที 4 ภาค ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (11 มิ.ย.) จะเป็นเวทีประชาพิจารณ์ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ส่วนเวทีประชาพิจารณ์ภาคอีสาน จ.ขอนแก่น และเวทีประชาพิจารณ์ภาคกลาง กรุงเทพ จะมีขึ้นในวันที่ 17 มิ.ย.และวันที่ 18 มิ.ย.ตามลำดับต่อไป

นอกจากนี้ยังมีการจัดเวทีปรึกษาสาธารณะ (Public Consultation) ซึ่งเป็นเวทีลำดับสุดท้ายในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น โดยจะมีการถกแถลงผู้แทนกลุ่มเครือข่ายจากภาคส่วนต่างๆ ที่เข้าร่วม ส่วนการรับฟังความเห็นผ่านเว็บไซด์ www.lawamendment.go.th ตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมา ได้มีประชาชนร่วมแสดงความเห็นเข้ามาอย่างต่อเนื่อง