ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ พัฒนาด้วยแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง พลิกฟื้นสถานการณ์ทางการเงินจากวิกฤตขาดทุนระดับ 7 จนเหลือเงินเก็บ 16 ล้านบาท ในระยะเวลาเพียง 2 ปี

นพ.อดุลย์ เร็งมา

นพ.อดุลย์ เร็งมา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ จ.นราธิวาส เปิดเผยว่า โรงพยาบาลยี่งอเฉลิมพระเกียรติ จ.นราธิวาส เป็น 1 ใน 10 แห่ง ของโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ภาครัฐเป็นผู้ลงทุนสร้างโรงพยาบาล ส่วนที่ดินเป็นการบริจาคของชาวบ้านในพื้นที่ ฉะนั้นโจทย์คือเราต้องให้บริการที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนจริงๆ และต้องทำให้สมพระเกียรติ

นพ.อดุลย์ กล่าวว่า แนวความคิดหลักในการบริหารโรงพยาบาลมีด้วยกัน 2 คอนเซ็ปต์ใหญ่ ได้แก่ 1.เป็นโรงพยาบาลที่ชุมชนเป็นเจ้าของมากที่สุด 2.ต้องลบความรู้สึกของโรงพยาบาลให้มากที่สุด แต่ให้บริการเสมือนว่าเป็นโรงแรม โดยโจทย์ที่ต้องคิดร่วมกันก็คือเราอยากเห็นโรงพยาบาลเป็นอย่างไร เช่น ไม่ต้องมีการรอบัตร มีสถานที่สวยงาม ซึ่งเป็นแนวคิดในการบริหารโรงพยาบาลตั้งแต่วินาทีแรกที่เปิดและต่อยอดมาจนถึงปัจจุบัน

นพ.อดุลย์ กล่าวอีกว่า ข้อจำกัดของโรงพยาบาลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ค่อนข้างแตกต่างกับพื้นที่อื่นๆ ฉะนั้นการพัฒนาต่างๆ โรงพยาบาลต้องเป็นมือบน คือโรงพยาบาลต้องทำให้เป็นตัวอย่างแก่ชาวบ้าน และเอาตัวอย่างนี้ไปขายไอเดียและขยายต่อไปเรื่อยๆ เช่น โรงพยาบาลทำเรื่องส้วมจนได้รางวัลระดับประเทศ จากนั้นเราจึงเริ่มดึงเครือข่ายขึ้นมาร่วม อาทิ มัสยิด อำเภอ องค์การบริหารส่วนตำบล จากนั้นเราก็ขยายการทำงานร่วมกันเพื่อต่อยอดไปสู่สิ่งอื่นๆ

นพ.อดุลย์ กล่าวว่า ในส่วนของคอนเซ็ปต์เรื่องโรงพยาบาลที่ชุมชนเป็นเจ้าของมากที่สุดนั้น จริงๆ แล้วเราต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด แต่ด้วยข้อจำกัดต่างๆ เช่น ประชาชนไม่ค่อยพูดหรือแสดงความคิดเห็น ทำให้เราต้องปรับตัวคือทำโรงพยาบาลให้เป็นตัวอย่างของเขา และต้องให้บริการที่ตอบสนองความต้องการจริงๆ

“อย่างบริบทในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปกติเมื่อมีคนป่วยก็จะมาโรงพยาบาลกันทั้งครอบครัวซึ่งมีทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ เราก็ต้องมาคิดต่อว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้แยกเด็กออกจากตึกผู้ป่วย จึงนำมาซึ่งแนวคิดจัดโซนนิ่งโรงพยาบาลแล้วก็สร้างจุดล่อไม่ให้เด็กขึ้นตึก คือเราเปลี่ยนคอนเซ็ปต์ว่าไม่ใช่เฉพาะคนป่วยเท่านั้นที่จะมาโรงพยาบาล แต่เมื่อมากันทุกคนแล้วเราจะทำอย่างไรไม่ให้คนปกติเข้าสู่พื้นที่เสี่ยง” นพ.อดุลย์ กล่า

นพ.อดุลย์ กล่าวว่า การดึงภาคส่วนเอกชนและภาครัฐเข้ามาร่วมพัฒนาโรงพยาบาล ในบริบทของ 3 จังหวัดเป็นเรื่องที่ยากมาก ฉะนั้นเราจำเป็นต้องเปลี่ยนบทบาทของเราเอง คือจะรอให้เกิดจิตสำนึกหรือจิตอาสาที่เข้ามาพัฒนาโรงพยาบาลคงเป็นเรื่องที่ยากมาก ดังนั้นหลักการก็คือต้องทำเป็นตัวอย่างก่อน จากนั้นเขาก็จะเข้ามาร่วมเอง

“อย่างเรื่องส้วมพอเราทำสำเร็จแล้วก็พาเขามาดู แล้วก็สื่อสารกันว่าถ้าทำให้ห้องน้ำห้องส้วมสะอาด นอกจากจะปลอดโรคแล้ว สังคมก็จะได้รับประโยชน์อีกมาก นั่นก็ทำให้เขาเข้าใจและเริ่มมีการกระจายแนวคิดแบบนี้ออกไป” นพ.อดุลย์ กล่าว

นพ.อดุลย์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาโรงพยาบาลตั้งแต่เริ่มแรก ฉะนั้นเรื่องงบประมาณจึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา คือเราต้องมาดูตั้งแต่รายรับก่อนว่าได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่ ขณะที่รายจ่ายตรงไหนประหยัดได้บ้าง ส่วนตัวคิดว่าเราพอเพียงอย่างที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 อยากให้เป็น คือประมาณปี 2556-2557 โรงพยาบาลติดลบ 17 ล้านบาท อยู่ในวิกฤตระดับ 7 แต่เมื่อสิ้นปีงบประมาณที่ผ่านมา โรงพยาบาลมีเงินเก็บ 16 ล้านบาท

“ขณะนี้ที่โรงพยาบาลมีตึกเพิ่มขึ้นมาอีก 2 ตึก แต่ค่าไฟเรายังเท่าเดิม คือเรามาดูว่าอะไรที่ประหยัดได้ก็ต้องทำ หรืออย่างเรื่องคนตรงไหนที่ทำคอนแท็กกับเอกชนได้ก็ต้องทำ เช่น งานดูแลสวน งานทำความสะอาด โรงครัว แทนที่เราจะจ้างบุคลากรเอง เราก็จ้างคอนแท็กจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านดีกว่า งบประมาณอาจจะเท่าเดิมแต่เราได้คุณภาพงานที่สูงกว่า นั่นทำให้เรามีเงินในส่วนนี้เพียงพอ แต่เราไม่ได้บอกว่าเรารวยนะ แต่เราก็สามารถมีสิ่งก่อสร้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้โดยใช้เพียงเงินบำรุง” นพ.อดุลย์ กล่าว

นพ.อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่แรกของการออกแบบองค์กร เราวางให้เป็น Learning organization คือลดความเป็นทางการให้มากที่สุด แล้วหลอมรวมบุคลากรให้เป็นหนึ่งเดียวโดยใช้เรื่อง share value และพยายามสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนเกิดแรงจูงใจด้านบวก นั่นจึงทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นในโรงพยาบาลมากมาย คือถ้าเราเห็นไปในทิศทางเดียวกันบางอย่างเราต้องเสียสละ บางอย่างต้องเป็นจิตอาสา ต้องช่วยกัน เช่น จะลดค่าไฟ ก็ต้องช่วยกันทุกคน เราก็ให้ทุกคนมาช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไร สุดท้ายก็ประหยัดไฟได้จริงๆ ซึ่งตรงนี้ผู้นำองค์กรก็ต้องทำให้เห็นด้วยว่าเอาจริง แล้วลูกน้องก็จะตามมา

“มันเป็นการมาสร้างสรรค์สิ่งดีๆ อย่างไม่เป็นทางการ คือไม่ใช่เราไปจี้งานด้วยความเป็นหัวหน้าหรือลูกน้อง ไม่ใช่เรื่องผู้อำนวยการสั่ง แต่ให้ทุกคนมาช่วยกันคิดว่าสาเหตุของปัญหาคืออะไร ค่าไฟแพงเพราะอะไร จากนั้นเราจะแก้ไขปัญหาอย่างไร คือช่วยกันคิดช่วยกันทำมากกว่าการใช้ระบบสั่งการ” นพ.อดุลย์ กล่าว